คิวบาผลิตสารให้ความหวานชีวภาพที่สามารถขายแทนน้ำตาลได้

  •  
  •  
  •  
  •  

โดย…ดร.นิพนธ์ เอี่ยมสุภาษิต

       ศูนย์พันธุวิศวกรรมและเทคโนโลยีชีวภาพแห่งคิวบา (Cuba’s Center of Genetic Engineering and Biotechnology –CIGB) ประกาศว่า ได้พัฒนาสารให้ความหวานชีวภาพ ที่ประเทศคิวบา สามารถขายแทนน้ำตาลได้

        สารให้ความหวานดังกล่าว คือ fruit-oligosaccharide (FOS) ทำมาจาก sorbitol (สารให้ความหวาน ที่เป็นน้ำตาลแอลกอฮอล์) และเอนไซม์ที่พัฒนาโดย CIGB ซึ่งเทคโนโลยีที่ใช้ในการสร้างเอนไซม์จะถูกเปิดเผยในระหว่างการประชุม BioCubaAgro 2020

       Mario Estrada ซึ่งเป็นผู้อำนวยการของ CIGB กล่าวว่า สารให้ความหวานนั้นเป็น prebiotic fiber (ไฟเบอร์ชนิดหนึ่งที่ละลายน้ำได้ แต่ไม่ถูกละลายจากกรดในกระเพาะอาหาร และเมื่อลงต่อไปยังลำไส้ใหญ่ก็จะกลายเป็น “อาหาร” ให้กับแบคทีเรียโปรไบโอติกได้เจริญเติบโตและขยายจำนวน) และมีแคลอรีต่ำ (hypocaloric) ที่มีประโยชน์ต่อสุขภาพ

       เป็นการพัฒนาขึ้นมาโดย CIGB ร่วมกับกลุ่มน้ำตาล AzCuba และ CIGB ได้จัด FOS ว่าเป็นน้ำตาลธรรมชาติที่ไม่สามารถย่อยได้ประกอบด้วยน้ำตาลฟรุคโตส 2 – 4 หน่วยที่เชื่อมโยงกับ terminal glucose (กลูโคสที่มีกลุ่มของสารประกอบบางอย่าง เช่น Sulfate, Methy, Uridine เป็นต้น มาจับกับกลูโคส) ซึ่งทำหน้าที่เป็นเส้นใยที่ละลายน้ำได้ ทำให้เป็นประโยชน์ต่อลำไส้และส่งเสริมการผลิตของแลคโตบาซิลลัสและ bifidobacterial (เป็นแบคทีเรียที่พบได้ตามธรรมชาติในลำไส้ หรือจุลินทรีย์ที่อาศัยอยู่ในลำไส้ มักเป็นที่รู้จักกันว่าเป็นแบคทีเรียดี) สารให้ความหวานชีวภาพนี้สามารถเป็นแหล่งรายได้อื่นให้กับคิวบาได้

         นี่เป็นสิ่งสำคัญในช่วงเวลาที่รัฐบาลคิวบา เรียกร้องให้มีการส่งออกเพิ่มขึ้นและทำให้อุตสาหกรรมมีความหลากหลาย คิวบาเพิ่งเปลี่ยนจากการเป็นผู้ส่งออกน้ำตาลมาเป็นการนำเข้าผลิตภัณฑ์ดังกล่าว จากประเทศต่าง ๆ เช่น ฝรั่งเศส แต่กระนั้น CIGB ไม่ได้เปิดเผยในการประกาศครั้งนี้ เกี่ยวกับเทคโนโลยีที่ใช้ในการพัฒนาเอนไซม์

      อย่างไรก็ตามผลของการศึกษานี้จะรวมอยู่ในงานวิจัยที่จะนำเสนอใน BioCubaAgro 2020 ที่จัดโดย CIGB ในวันที่ 3 – 7 พฤษภาคม 2563 ที่เมือง Matanzas, คิวบา และจะมีผู้เข้าร่วมที่มาจาก 30 ประเทศ ทั้งจากอเมริกาใต้ , ยุโรป, เอเชีย, สหรัฐอเมริกาและแคนาดา โดยจะมี 4 กลุ่มใหญ่ ๆ คือ เทคโนโลยีชีวภาพอุตสาหกรรม เทคโนโลยีชีวภาพด้านพืช,การปฏิสัมพันธ์ระหว่างสิ่งแวดล้อมและพืช และ เทคโนโลยีชีวภาพเมล็ดพันธุ์ ในบรรดาวิทยากรที่สำคัญที่จะเข้าร่วม เช่น Richard John Roberts ผู้รับรางวัลโนเบล และผู้ Marc van Montagu ผู้รับรางวัลอาหารโลก

       ครับ นี่คืออีกหนึ่งตัวอย่าง ที่เทคโนโลยีสมัยใหม่ในการผลิต สำหรับประเทศไทยไม่อยากคิดครับ

       อ่านเพิ่มเติมได้ที่ http://www.isaaa.org/kc/cropbiotechupdate/article/default.asp?ID=17959