โดย…ดร.นิพนธ์ เอี่ยมสุภาษิต
คณะรัฐมนตรีเคนยา ที่มีประธานาธิบดี Uhuru Kenyatta เป็นประธานได้อนุมัติให้มีการปลูกฝ้ายบีทีในเชิงพาณิชย์หลังจากทำการทดสอบภาคสนามมานานถึง 5 ปี ซึ่งแสดงผลเชิงบวก นั่นคือ ผลผลิตฝ้ายของเกษตรกรเคนยาที่มาจากฝ้ายดัดแปลงพันธุกรรม จะเพิ่มขึ้น และจะทำให้4 บริษัทยักษ์ใหญ่ด้านสิ่งทอของเคนยา ประสบความสำเร็จตามเป้าหมายที่ตั้งไว้ เป็นเป้าหมายที่ต้องการเป็นผู้นำของการผลิตสิ่งทอและเครื่องแต่งกายระดับโลก
นักวิจัยจากองค์กรวิจัยการเกษตรและปศุสัตว์เคนยา (Kenya Agricultural and Livestock Research Organization)ประกาศว่าเมล็ดพันธุ์ฝ้ายบีทีจะพร้อมมีให้กับเกษตรกรใน 27 มณฑลที่เป็นแหล่งปลูกฝ้ายในเดือนมีนาคม 2563 ฝ้ายบีทีเป็นฝ้ายที่ได้รับการพัฒนาด้วยเทคโนโลยีพันธุวิศกรรม (genetic engineering technology) เพื่อให้สามารถต้านทานการเข้าทำลายของหนอนเจาะสมอ
คณะกรรมการการเพาะปลูกพืชเส้นใยเคนยา (KenyaFibre Crop Directorate)ได้รายงานว่า มีเกษตรกรผู้ปลูกฝ้ายประมาณ 50,000 รายเท่านั้นที่สามารถผลิตปุยฝ้ายได้ประมาณ 30,000 เบลล์ต่อความต้องการปุยฝ้ายปีละ 368,000 เบลล์ การใช้ฝ้ายบีทีซึ่งต้านทานต่อหนอนเจาะสมอแอฟริกัน (African bollworm)คาดว่าจะเพิ่มผลผลิตจากประมาณการปัจจุบัน 572 กิโลกรัมต่อเฮกตาร์เป็น 2,500 กก. / เฮกแตร์และลดต้นทุนการผลิตลงร้อยละ 40 ในปี 2561 มีการปลูกฝ้ายดัดแปลงพันธุกรรมใน 15 ประเทศนำโดยอินเดียสหรัฐอเมริกาจีนปากีสถานและบราซิล
ครับ ประเทศไทยเคยมีความคิดว่าจะเป็นผู้นำการผลิตสิ่งทอในภูมิภาค มีโรงงานผลิตสิ่งทอจำนวนมาก มีพื้นที่เพาะปลูกฝ้ายที่มีบันทึกไว้มากกว่า 1 ล้านไร่ แต่ปัจจุบันทั้งโรงงานและพื้นที่เพาะปลูกเหลือน้อยมาก จนคนรุ่นใหม่แทบจะไม่รู้จักแล้วว่าต้นฝ้ายหน้าตาเป็นอย่างไร
อ่านเพิ่มเติมได้ที่ https://web.facebook.com/StateHouseKenya/posts/3162605083754994?__tn__=-R&_rdc=1&_rdr