“ข้าวโพดบีที”ในเคนยา ทนแล้ง เอาชนะ “หนอนกระทู้ข้าวโพดลายจุด”ได้ดีกว่าข้าวโพดปกติ

  •  
  •  
  •  
  •  

โดย…ดร.นิพนธ์  เอี่ยมสุภาษิต

  “อะฟลาทอกซิน สามารถลดลงได้ด้วยเทคโนโลยีบีที เนื่องจากแมลงสร้างรอยแผลเข้าสู่ข้าวโพด สำหรับเชื้อราทำให้เกิดการสะสมอะฟลาทอกซิน ซึ่งส่งผลเสียต่อสุขภาพของมนุษย์  หากนำเทคโนโลยีนี้มาใช้จะช่วยให้เกษตรกรสามารถเอาชนะแมลงศัตรูข้าวโพดได้และช่วยลดต้นทุนการผลิตด้วย”

        แปลงสาธิตพันธุ์ข้าวโพดดัดแปลงพันธุกรรม หรือข้าวโพดบีที (จีเอ็ม) ในประเทศเคนยาแสดงให้เห็นว่า มีประสิทธิภาพในการควบคุมการเข้าทำลายของแมลงศัตรูได้ดีกว่า พันธุ์ข้าวโพดปกติ ที่ไม่ได้ดัดแปลงพันธุกรรม โดยไม่ต้องใช้สารป้องกันกำจัดแมลงศัตรู

          จากผลของการป้องกันแมลงศัตรูพืชโดยยีนบีที(Bt gene) ทำให้ข้าวโพดจีเอ็มมีประสิทธิภาพสูงกว่าพันธุ์เดิมถึง 3 เท่าต่อเฮกตาร์หรือต่อไร่ ซึ่งได้มาจากรายงานการประเมินผล หลังการเก็บเกี่ยวของโครงการจัดทำแปลงสาธิต (TELA project demonstration plots) ทางตะวันออกของประเทศเคนยา และบริเวณหุบเขา Rift นอกจากนี้พันธุ์ข้าวโพดดัดแปลงพันธุกรรมดังกล่าวยังมีความทนทานต่อความแห้งแล้ง

         James Karanja ซึ่งเป็นผู้ตรวจสอบโครงการจัดทำแปลงสาธิต กล่าวว่า ผลลัพธ์ที่ได้เป็นสิ่งที่น่าสนใจเช่นในเมือง Kiboko ได้เห็นข้าวโพดบีทีให้ผลผลิต 10 ตันต่อเฮกตาร์ หรือ 1.6 ตันต่อไร่ เมื่อเทียบกับที่ไม่ใช่บีทีที่ให้ผลผลิตระหว่าง 3 ถึง 4 ตัน ต่อเฮกตาร์ หรือ 0.48 – 0.64 ตันต่อไร่

         Dr. Stephen Mugo ซึ่งเป็นนักปรับปรุงพันธุ์ข้าวโพดและเป็นตัวแทนประเทศเคนยา อยู่ที่ศูนย์ปรับปรุงพันธุ์ข้าวโพดและข้าวสาลีนานาชาติ(CIMMYT) กล่าวว่า นักวิทยาศาสตร์กำลังพัฒนาเทคโนโลยีที่สามารถนำไปสู่ความมั่นคงทางอาหารและความเจริญรุ่งเรืองในหมู่ชาวเคนยา และ หากเกษตรกรปลูกข้าวโพดดัดแปลงพันธุกรรมพันธุ์นี้ ก็จะช่วยลดการใช้สารป้องกันกำจัดศัตรูพืชซึ่งมักจะปนเปื้อนลงสู่ทางน้ำ

       Karanja กล่าวอีกว่า ผลลัพธ์นี้มีนัยยะสำคัญต่อเคนยาที่การเพาะปลูกข้าวโพดมักได้รับผลกระทบอย่างรุนแรงจากภัยแล้ง และแมลงศัตรูพืชโดยเฉพาะอย่างยิ่ง หนอนกระทู้ข้าวโพดลายจุด (fall armyworm) ซึ่งหากปัจจัยทั้ง2 ถูกควบคุมได้ เกษตรกรเคนยาก็จะสามารถเก็บเกี่ยวได้ 60 ล้านถุงในปีนี้ นั่นก็หมายความว่า ชาวเคนยาจะได้รับอาหารที่ปลอดภัยและยังมีส่วนเกินอีก 6 ล้านถุง

      นอกเหนือจากการได้รับผลผลิตที่สูงขึ้นและลดการใช้สารป้องกันกำจัดศัตรูพืชแล้ว ข้าวโพดบีทียังปลอดจากเชื้อราที่ผลิตอะฟลาท็อกซินซึ่งเป็นสารพิษตามธรรมชาติ ที่ก่อให้เกิดมะเร็งที่พบได้บ่อยในผลิตภัณฑ์ธัญพืชในเขตร้อน

       ความเสียหายจากภัยแล้งและแมลงศัตรูพืช เป็น2 ปัจจัยหลัก ที่ทำให้ระดับอะฟลาทอกซินในเมล็ดข้าวโพดสูงขึ้นและเทคโนโลยีบีที ได้แสดงให้เห็นถึงประสิทธิภาพในการต่อสู้กับแมลงศัตรูพืชร้ายแรง 2 ชนิด คือหนอนเจาะลำต้น และหนอนกระทู้ข้าวโพดลายจุด รวมทั้งการสะสมของสารพิษจากเชื้อรา

       ซังข้าวโพดบีที ไม่มีราเกิดขึ้น และมีแมลงศัตรูเข้าทำลายน้อย ในขณะที่ซังข้าวโพดปกติ จะถูกทำลายด้วยรามากกว่าร้อยละ 40 การเจริญเติบโตของเชื้อราที่เพิ่มขึ้นนั้น จะเกี่ยวพันกับระดับความเสียหายที่เกิดจากแมลงศัตรู ซึ่งนำไปสู่การเข้าทำลายของเชื้อราในเวลาต่อมา

       สำนักมาตรฐานเคนยา (Kenya Bureau of Standards – KBS)  ได้ระงับใบอนุญาตข้าวโพด 5 ใบ ในการขายแป้งข้าวโพดที่ปนเปื้อนอะฟลาทอกซินซึ่งเกินระดับมาตรฐานขั้นต่ำ (10 ส่วนต่อพันล้านส่วน)

         “ข้าวโพดบีทีนอกจากจะปลอดภัยต่อมนุษย์แล้ว ข้าวโพดบีทียังดีต่อสิ่งแวดล้อมเพราะช่วยลดการใช้สารเคมี โดยเฉพาะอย่างยิ่งในการควบคุมหนอนกระทู้ข้าวโพดลายจุด”  Dr. Regina Tende ซึ่งเป็นนักปรับปรุงพันธุ์พืชและนักกีฏวิทยาของ KALRO กล่าว

       Tende เห็นด้วยกับ Karanja ว่า อะฟลาทอกซิน สามารถลดลงได้ด้วยเทคโนโลยีบีที เนื่องจากแมลงสร้างรอยแผลเข้าสู่ข้าวโพด สำหรับเชื้อราทำให้เกิดการสะสมอะฟลาทอกซิน ซึ่งส่งผลเสียต่อสุขภาพของมนุษย์ และยืนยันว่า หากนำเทคโนโลยีนี้มาใช้จะช่วยให้เกษตรกรสามารถเอาชนะแมลงศัตรูข้าวโพดได้และช่วยลดต้นทุนการผลิตด้วย

        นักวิจัยได้ใช้แปลงสาธิตนี้ เพื่อช่วยให้ประชาชนเข้าใจพืชดัดแปลงพันธุกรรม ผู้นำของคริสตจักรรวมถึงผู้ช่วยศิษยาภิบาล Benson Maasai ที่ได้เข้าไปดูแปลงสาธิตที่เมืองKiboko และเมืองKitale โดย Maasaiได้กล่าวว่า เขามีความเข้าใจที่คลาดเคลื่อนเกี่ยวกับจีเอ็มโอ(GMOs)ก่อนที่จะไปเยี่ยมชมแปลงสาธิต

       “ฉันมีทัศนคติที่ไม่ดีต่อ GMOs แต่ฉันเข้าใจผิด” และ “หลังจากได้ข้อมูลจากผู้เชี่ยวชาญและได้เห็นพืชดัดแปลงพันธุกรรมด้วยตัวเอง ฉันรู้สึกประหลาดใจที่ได้รู้ว่าบีที(Bt) เป็นแบคทีเรียในดินตามธรรมชาติ ที่เราได้ใช้ควบคุมแมลงศัตรูพืชและไม่เป็นอันตรายต่อมนุษย์นกสัตว์และสภาพแวดล้อม.”

       Maasai กล่าวเสริมอีกว่า การวิจัยข้าวโพดจีเอ็มจะช่วยให้เกษตรกรลดต้นทุนการผลิต และ มีความจำเป็นที่จะต้องให้ความรู้แก่คริสตจักรที่นักวิทยาศาสตร์ไม่ได้มีเจตนาที่ไม่ดีเมื่อพวกเขาพัฒนาผลิตภัณฑ์จีเอ็มโอ โดยตั้งข้อสังเกตว่า ‘‘นักวิทยาศาสตร์เป็นลูกหลานของเราเช่นกันและพวกเขาไม่ต้องการทำอะไรที่จะทำร้ายพ่อแม่ที่บ้าน”

       ครับ ในขณะที่บ้านเรามีนโยบาย ลด ละ เลิก การใช้สารเคมีเกษตร แต่กลับไม่สนใจที่จะพัฒนาพันธุ์พืชดัดแปลงพันธุกรรมที่มีประสิทธิภาพสูงในการป้องกันการเข้าทำลายของแมลงศัตรูพืช ที่ช่วยเพิ่มผลผลิต ลดการใช้สารเคมีเกษตร ลดต้นทุนการผลิต และดีต่อสิ่งแวดล้อม รวมทั้งไม่มีอันตรายต่อมนุษย์ เมื่อไหร่นักการเมืองบ้านเราจะหลุดจากการครอบงำของเอ็นจีโอเสียที

       อ่านเพิ่มเติมได้ที่ https://allianceforscience.cornell.edu/blog/2019/11/kenya-demo-plots-show-gmo-maize-resists-insects-increases-yields/