ประโยชน์ทางด้านสุขภาพของมนุษย์จากพืชดัดแปลงพันธุกรรม

  •  
  •  
  •  
  •  

โดย…ดร.นิพนธ์ เอี่ยมสุภาษิต

          มาพูดถึงประโยชน์ทางด้านสุขภาพของมนุษย์จากพืชดัดแปลงพันธุกรรมอีกซักครั้งในวันนี้ ซึ่ง Stuart J. Smyth จาก University of Saskatchewan ได้ให้รายละเอียดเกี่ยวกับประโยชน์ด้านสุขภาพของมนุษย์จากพืชดัดแปลงพันธุกรรม โดยเฉพาะอย่างยิ่งต่อเกษตรกรรายย่อยในประเทศกำลังพัฒนา ในประเด็น การลดสารกำจัดศัตรูพืช อัตราการฆ่าตัวตาย อุบัติการณ์โรคมะเร็งลดลง และผลประโยชน์ทางด้านจิตใจและทางโภชนาการ

          พืชดัดแปลงพันธุกรรมได้ถูกนำมาใช้ทางการค้าทั่วโลกมานานกว่า 20 ปีแล้ว ตลอดช่วงเวลานี้มีรายงานจำนวนมากที่เกี่ยวกับผลกระทบทางเศรษฐกิจและสิ่งแวดล้อม อย่างไรก็ตามในส่วนที่เกี่ยวกับประโยชน์ที่มีต่อสุขภาพของมนุษย์ ยังไม่ค่อยมีรายงานมากนัก สำหรับในรายงานที่จะกล่าวถึงนี้ ได้ให้รายละเอียดที่เกี่ยวกับประโยชน์ของพืชดัดแปลงพันธุกรรมต่อสุขภาพของมนุษย์

          จากการศึกษาจำนวนมาก ตั้งแต่ปี 2546 ถึง 2559 พบว่าการใช้ฝ้ายบีที (ฝ้ายดัดแปลงพันธุกรรมให้ต้านทานต่อหนอนเจาะสมอ) ทำให้การใช้สารป้องกันกำจัดแมลงในประเทศจีน อินเดีย   ปากีสถาน และอเมริกาใต้ ลดลงอย่างมาก ผลจากการลดการใช้สารกำจัดศัตรูพืชในทั้ง 4 ประเทศน่าจะนำไปสู่การลดลงของจำนวนผู้ป่วยที่มีรายงานว่าได้รับพิษจากสารกำจัดศัตรูพืช การลดการใช้สารกำจัดศัตรูพืช อาจช่วยลดระดับสารพิษจากเชื้อราในข้าวโพดซึ่งเป็นสารก่อมะเร็ง ที่รู้จักกันดีสำหรับมนุษย์และสัตว์

          ในการศึกษา 21 ปีที่รายงานในปี 2561 พบว่าข้าวโพดบีที (ข้าวโพดดัดแปลงพันธุกรรมให้ต้านทานหนอนเจาะลำต้น) มีสารพิษจากเชื้อรา (mycotoxins) และ fumonisins (สารพิษที่เกิดจากเชื้อรากลุ่ม Fusarium) น้อยกว่าและผู้บริโภคมีโอกาสสัมผัสกับสารพิษทั้ง 2 น้อยลงจึงอาจนำไปสู่การลดอัตราการเกิดมะเร็ง

           เหตุการณ์ฆ่าตัวตายของเกษตรกร ก็พบว่า ยังมีอัตราที่คงที่แทนที่จะเพิ่มขึ้นทุกปี หลังจากฝ้ายบีทีได้ถูกนำไปปลูกเป็นการค้าในอินเดีย จากในรายงานพบว่า มีอัตราการฆ่าตัวตายที่เกี่ยวข้องกับการนำฝ้ายบีทีไปใช้นั้นลดลง ซึ่งเท่ากับเป็นการป้องกันการฆ่าตัวตายของเกษตรกรได้อย่างน้อย 75,000 คน

        ในการศึกษาอื่น ๆ เขาระบุว่า  ผลผลิตที่สูงขึ้นจากพืชดัดแปลงพันธุกรรม ทำให้เกษตรกรมั่นใจว่า พวกเขาจะไม่ล้มเหลวอันเนื่องมาจากศัตรูพืชโรคและภัยแล้งทำให้หนี้สินทางการเงินลดลง ในรายงาน แนะนำให้ทำการศึกษาปัจจัยเหล่านี้เพิ่มเติม เพื่อประเมินการพัฒนาสุขภาพจิตของผู้ปลูกพืชดัดแปลงพันธุกรรมด้วย

         ประการสุดท้าย การยอมรับพืชดัดแปลงพันธุกรรมที่เพิ่มคุณค่าทางโภชนาการ (biofortified GM crops) ได้แสดงให้เห็นว่า มีธาตุอาหารเสริมมากขึ้น ผู้บริโภคในประเทศกำลังพัฒนาได้รับสารอาหารส่วนใหญ่ผ่านทางอาหารจากพืช พืชดัดแปลงพันธุกรรมที่เพิ่มคุณค่าทางโภชนาการ ทำให้ผู้บริโภคมีแนวโน้มที่จะได้รับสารอาหารที่ต้องการจากการบริโภคอาหารที่มาจากพืชดังกล่าว ในรายงานได้เน้นว่า เป็นที่น่าสนใจที่จะตระหนักถึงประโยชน์ต่อสุขภาพของพืชดัดแปลงพันธุกรรมที่มีต่อโภชนาการในวัยเด็ก ซึ่งอาจจะมีการบันทึก (รายงาน) ไว้ในไม่กี่ทศวรรษจากนี้

         ครับ แล้วประเทศไทยจะเอาอย่างไรดี

        อ่านเพิ่มเติมได้ที่ https://onlinelibrary.wiley.com/doi/epdf/10.1111/pbi.13261