โดย…ดร.นิพนธ์ เอี่ยมสุภาษิต
Aldo Noguera และคณะนักวิจัยจากประเทศอาร์เจนตินา ได้นำอ้อยที่ปลูกเป็นการค้าพันธุ์ RA87-3 มาถ่ายฝากยีน epsps ที่มาจาก Agrobacterium สายพันธุ์ CP4 หลังการถ่ายฝากในเบื้องต้นได้มา 43 สายพันธุ์ ที่ถ่ายฝากสำเร็จ
ในจำนวนนั้นมี 17 สายพันธุ์ ที่แสดงว่ามีความทนทานต่อไกลโฟเสทสูงภายใต้การทดสอบในโรงเรือน เมื่อนำมาปลูกในสภาพแปลงทดลองขนาดเล็ก มีเพียง 6 สายพันธุ์ ที่มีลักษณะแสดงออกเหมือนพันธุ์ RA87-3 ที่เป็นพันธุ์เดิมก่อนนำมาถ่ายฝากยีน
จากนั้นเริ่มเข้าสู่กระบวนการศึกษาศักยภาพและความปลอดภัยต่อมนุษย์ และสิ่งแวดล้อม ตั้งแต่ปี 2554 โดยปลูกทดสอบใน 2 พื้นที่ พบว่า ทั้ง 6 สายพันธุ์ มีลักษณะทางการเกษตรไม่แตกต่างไปจากพันธุ์ RA87-3 ที่เป็นพันธุ์ตั้งต้น ยิ่งไปกว่านั้น มี 2 สายพันธุ์ ที่มีลักษณะทางโมเลกุลใกล้เคียงกับพันธุ์ตั้งต้น และจะถูกคัดเลือกเพื่อใช้เป็นพันธุ์การค้าต่อไป
ครับ คงอีกไม่นานเกินรอ เกษตรกรของอาร์เจนตินา จะได้ปลูกอ้อยพันธุ์ที่ดัดแปลงพันธุกรรมให้ทนทานสารกำจัดวัชพืช ไกลโฟเสท สำหรับประเทศไทยก็หาแรงงานไปดายหญ้าเองก็แล้วกันครับ!
ข้อมูลจาก Aldo Noguera และคณะ. (2019). Development of transgenic sugarcane event TUC87-3RG resistant to glyphosate.รายงานอยู่ในการประชุม International Society of Sugarcane Technologist. ระหว่างวันที่ 31 สิงหาคม – 8 กันยายน 2562 ณ เมือง Tucuman ประเทศอาร์เจนตินา