บราซิลจะปลูกถั่วดัดแปลงพันธุกรรมที่ต้านทานต่อโรคไวรัสโมเสคสีทองในเดือนตุลาคมนี้

  •  
  •  
  •  
  •  

โดย…ดร.นิพนธ์ เอี่ยมสุภาษิต

        คาดการณ์กันว่า ประเทศบราซิลจะเริ่มปลูกถั่ว (bean) ดัดแปลงพันธุกรรม ซึ่งเป็นพันธุ์ที่ต้านทานต่อโรคพืชหลักที่สำคัญในเดือนตุลาคมนี้ และอาจใช้ประกอบเป็นอาหารเย็นได้ในต้นปี 2563 ทั้งนี้เป็นข่าวสารที่เผยแพร่โดย บริษัทวิจัยทางการเกษตรของบราซิล (Brazilian Agricultural Research Company – Embrapa) ซึ่งเป็นสถาบันของรัฐภายใต้สังกัดของกระทรวงเกษตรของประเทศบราซิลเอง

         การเปิดตัวของถั่วพันธุ์นี้ ซึ่งพัฒนาโดยหน่วยงานของรัฐ หลังจากทำการวิจัยมานานถึง 15 ปี มีค่าใช้จ่ายในงานวิจัยประมาณ 3.5 ล้านเหรียญสหรัฐ อย่างไรก็ดี ผู้แทนภาคอุตสาหกรรมบางส่วน ยังกลัวปฏิกิริยาลบจากผู้บริโภคที่เกี่ยวข้องกับความปลอดภัยของอาหาร

           จากข้อมูลของ Embrapa ความปลอดภัยด้านอาหารของมนุษย์และสัตว์ จากการบริโภคถั่วดังกล่าว ได้รับการพิสูจน์โดยการศึกษาหลายครั้งในระหว่างกระบวนการปลดปล่อยเชิงพาณิชย์ ได้ยืนยันว่า ถั่วพันธุ์ดังกล่าวมีองค์ประกอบทางโภชนาการที่เทียบเท่ากับสายพันธุ์ถั่วทั่วไปอื่น ๆ ที่ปลูกในบราซิล

            ถั่วดัดแปลงพันธุกรรมพันธุ์นี้ จะต้านทานต่อไวรัสโมเสคสีทอง (golden mosaic virus) ซึ่งเป็นโรคที่เข้าทำลายถั่วทั่วไป และสามารถทำให้เกิดการสูญเสียได้ระหว่างร้อยละ 40-100 ของการผลิต ขึ้นอยู่กับระดับการแพร่กระจายของแมลงหวี่ขาวที่เป็นพาหะแพร่เชื้อไวรัส

           ครับเป็นที่พิสูจน์กันมานานแล้วว่า พืชดัดแปลงพันธุกรรม สามารถแก้ปัญหาโรคและแมลงศัตรูที่เข้าทำลายพืชได้ โดยไม่ต้องใช้สารเคมีป้องกันกำจัด ที่สำคัญ มีความปลอดภัยต่อผู้บริโภค แล้วทำไมจึงยังไม่ตัดสินใจ ใช้พืชดัดแปลงพันธุกรรมกับพืชเศรษฐกิจ ที่ถูกรุมเร้าด้วยโรคและแมลงศัตรูในบ้านเรา

          อ่านเพิ่มเติมได้ที่ https://www.chilebio.cl/2019/08/29/poroto-transgenico-resistente-a-virus-llegara-a-los-platos-de-brasil-en-2020/