โดย…ดร.นิพนธ์ เอี่ยมสุภาษิต
นักวิจัยจากทั่วโลกได้มารวมตัวกันที่เมือง Saskatoon เมืองใหญ่เมืองหนึ่งของรัฐ Saskatchewan ประเทศแคนาดาในเดือนสิงหาคมที่ผ่านมา ทั้งนี้เพื่อหาแนวทางที่จะทำข้าวสาลีให้มีประสิทธิภาพ และยั่งยืนมากขึ้นโดยใช้เครื่องมือล่าสุดของนักปรับปรุงพันธุ์
Curtis Pozniak นักวิจัยและนักปรับปรุงพันธุ์ข้าวสาลีชนิด Durum (Durum Wheat) ที่มหาวิทยาลัย Saskatchewan ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของความพยายามของนักวิทยาศาสตร์มากกว่า 200 คน จาก 73 องค์กรใน 20 ประเทศ เขากล่าวว่า ความรู้ใหม่นี้ทำให้ง่ายต่อการค้นหาความผันแปรในรูปแบบต่าง ๆ ที่อาจก่อให้เกิดลักษณะที่มีค่า
ในขณะที่ Pozniak กล่าวว่า เทคนิคใหม่เหล่านี้ไม่จำเป็นต้องได้พันธุ์พืชใหม่ ๆ เพื่อส่งให้เกษตรกรได้เร็วขึ้น แต่เทคนิคใหม่เหล่านี้ จะช่วยให้นักวิจัยสามารถระบุเป้าหมายได้เร็วขึ้น
“ฉันชอบคิดว่า เทคนิคใหม่ ๆ นี้ ช่วยให้กระบวนการปรับปรุงพันธุ์มีประสิทธิภาพมากขึ้นโดยสามารถที่จะคัดเลือกได้อย่างมีประสิทธิภาพในลักษณะที่ต้านทานโรคหรือลักษณะทางการเกษตรอื่น ๆ ที่นักปรับปรุงพันธุ์พืชให้ความสนใจ แม้แต่ลักษณะทางคุณภาพซึ่งเป็นที่ต้องการของผู้บริโภค” Pozniak กล่าว
ตัวอย่างเช่นนักวิจัยได้ค้นพบว่า หญ้าในเขตชุ่มชื้นบางสายพันธุ์ได้มีวิวัฒนาการในความสามารถที่จะเก็บไนโตรเจนไว้ในดิน ให้พร้อมใช้งานเมื่อพืชต้องการ
การเพิ่มลักษณะนี้ลงไปในข้าวสาลี ก็จะเป็นประโยชน์ต่อทั้งสิ่งแวดล้อมและเกษตรกร เนื่องจากพันธุ์ที่มีอยู่ในปัจจุบันใช้ปุ๋ยไนโตรเจนได้ประมาณครึ่งหนึ่งของปุ๋ยที่ใส่ไปเท่านั้น ส่วนที่เหลือจะสูญหายไปกับน้ำผิวดินและน้ำใต้ดินหรือเปลี่ยนเป็นก๊าซไนตรัสออกไซด์ ซึ่งจัดเป็นหนึ่งในก๊าซเรือนกระจก
เทคนิคใหม่ที่พูดถึงนี้ คือ CRISPR gene editing (เทคนิคการแก้ไขยีน)
ครับ เทคโนโลยีที่ใช้ในการปรับปรุงพันธุ์พืช เมื่อใช้ไปได้ระยะหนึ่ง ก็จะถึงจุดที่ไม่สามารถยกระดับผลผลิตพืชให้สูงขึ้นได้อีก จำเป็นต้องมองหาเทคโนโลยีใหม่ ๆ มาใช้ ซึ่งในปัจจุบัน ได้มีการยอมรับในกลุ่มนักวิทยาศาสตร์แล้วว่า เทคนิคการแก้ไขยีน เป็นเทคนิคที่มีศักยภาพ จึงได้มีการนำมาปรับใช้ในหลายพืช สำหรับประเทศไทย ยังมีแนวคิดเชิงอนุรักษ์ ยังไม่ยอมรับเทคโนโลยีใหม่ ๆ ในการปรับปรุงพันธุ์พืช ก็คงต้องอยู่กันแบบเดิม ๆ ต่อไป
อ่านเพิ่มเติมได้ที่ https://www.producer.com/2019/08/genetic-knowledge-provides-tools-to-meet-wheat-growers-challenges/