โดย…ดร.นิพนธ์ เอี่ยมสุภาษิต
นวัตกรรมที่ใช้ในการปรับปรุงพันธุ์พืช มีบทบาทสำคัญในการจัดการกับความท้าทายระดับโลก เช่น การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ การเพิ่มขึ้นของประชากรโลก และความต้องการทรัพยากรเพื่อทำการเพาะปลูกที่มีประสิทธิภาพ
ข้อความนี้มาจากบทความที่เขียนโดย Petra Jorasch ของสหพันธ์เมล็ดพันธุ์นานาชาติ (International Seed Federation) ซึ่งลงพิมพ์ในวารสาร Transgenic Research
บทความนี้ระบุว่า พันธุ์พืชที่ได้รับการปรับปรุง ให้สามารถต้านทานต่อแมลงศัตรูพืชและโรคพืช จะใช้ทรัพยากรน้อยกว่า พันธุ์พืชดังกล่าวจะแสดงผลผลิตที่มั่นคงท่ามกลางสภาพอากาศที่ไม่แน่นอนและพันธุ์พืชนั้น จะได้รับการพัฒนาประสิทธิภาพการผลิตด้วยการใช้น้ำที่ดินและสารอาหารอย่างมีประสิทธิภาพ ซึ่งสามารถช่วยให้บรรลุเป้าหมายที่เป็นความท้าทายระดับโลก
Jorasch เน้นให้เห็นถึงประวัติศาสตร์อันยาวนานของนวัตกรรมที่เกิดจากการปรับปรุงพันธุ์พืชจากการปรับปรุงพันธุ์ด้วยการคัดเลือก (selection breeding) จนถึงการปรับปรุงพันธุ์ด้วยความแม่นยำ (precision breeding)
เป้าหมายหลักของวิธีการปรับปรุงพันธุ์จะเน้นไปที่การเพิ่มความหลากหลายทางพันธุกรรม และการเลือกสายพันธุ์ที่มีการแสดงออกที่ดีที่สุด แต่เครื่องมือใหม่ของการปรับปรุงพันธุ์เช่น oligonucleotide mutagenesis หรือ CRISPR-Cas นั้นมีประโยชน์มากกว่าวิธีการที่ใช้ในการปรับปรุงพันธุ์ก่อนหน้านี้ เพราะเครื่องมือเหล่านี้ช่วยให้นักปรับปรุงพันธุ์สามารถทำงานได้อย่างแม่นยำและมีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น
Jorasch สรุปว่าเทคนิคล่าสุดของการปรับปรุงพันธุ์พืชใหม่นี้ สามารถช่วยให้บรรลุการผลิตทางการเกษตรที่ยั่งยืนและความมั่นคงด้านอาหาร แต่การกำกับดูแลด้านกฎระเบียบที่สมดุลทั่วโลก เป็นสิ่งที่จำเป็นเพื่อให้บรรลุเป้าหมายเหล่านี้
ครับ ถ้าประเทศไทยยังมองไม่เห็นประโยชน์ของ CRISPR-Cas ก็มองไม่เห็นความก้าวหน้าของการเกษตรของประเทศไทย
อ่านเพิ่มเติมได้ที่ https://link.springer.com/article/10.1007/s11248-019-00138-1