โดย…ดร.นิพนธ์ เอี่ยมสุภาษิต
ข้อความต่อไปนี้ แปลและเรียบเรียงจากบทความของ Rebecca Mackelprang ซึ่งเป็นนักวิจัยหลังปริญญาเอก (postdoctoral scholar) ที่ University of California, Berkeley สหรัฐอเมริกา โดยใช้หัวเรื่องว่า “การทำเกษตรอินทรีย์ด้วยการแก้ไขยีน”: เป็นเพียงคำพูด หรือเป็นเครื่องมือสำหรับการเกษตรแบบยั่งยืน ลงพิมพ์ใน The Conversation เมื่อวันที่ 10 ตุลาคม 2561 มีรายละเอียดดังนี้
มหาวิทยาลัยแห่งแคลิฟอร์เนีย (University of California) ได้เชิญ Rebecca Mackelprang ให้มาพูดเกี่ยวกับศักยภาพของพันธุวิศวกรรม ซึ่งผู้ฟังส่วนใหญ่เป็นผู้สนับสนุนเกษตรอินทรีย์ นั่งฟังอย่างไม่สบายใจ เธอสังเกตเห็นชายคนหนึ่งลุกขึ้นจากที่นั่งแล้วเดินไปทางด้านหน้าห้อง เธอหยุดการพูดในขณะที่เธอมองเห็นเขาดึงสายไฟและถอดปลั๊กโปรเจ็กเตอร์ ห้องมืดและเงียบลง เขาอาจคิดว่ามากเกินไปแล้วสำหรับการฟังความคิดเห็นของผู้อื่น
ผู้ให้การสนับสนุนอินทรีย์หลายคนอ้างว่า พืชดัดแปลงพันธุกรรมนั้นเป็นอันตรายต่อสุขภาพของมนุษย์ สิ่งแวดล้อมและเกษตรกรที่ทำงานร่วมกับพวกเขา แต่ในความเป็นจริงพืชดัดแปลงพันธุกรรม มีความปลอดภัย ลดการใช้สารป้องกันกำจัดแมลงศัตรู และอนุญาตให้เกษตรกรในประเทศกำลังพัฒนา ผลิตอาหารให้เพียงพอเพื่อเลี้ยงตนเองและครอบครัว
ขณะนี้กำลังมีการพิจารณาว่าเทคโนโลยีการแก้ไขยีน (CRISPR) เป็นเพียงเทคโนโลยีของสิ่งมีชีวิตดัดแปลงพันธุกรรมในยุค 2.0 (GMO 2.0) หรือเป็นเครื่องมือใหม่ ที่มีประโยชน์เพื่อเร่งกระบวนการปรับปรุงพันธุ์พืช โดยศาลยุติธรรมของสหภาพยุโรป ซึ่งมีแนวโน้มที่จะตัดสินว่า พืชที่พัฒนามาจาก CRISPR จะถูกจัดประเภทเป็นพืชในกลุ่มเดียวกับพืชที่พัฒนามาจากพันธุวิศวกรรม แต่ในขณะเดียวกันระบบการกำกับดูแลในสหรัฐอเมริกา ได้แสดงให้เห็นความแตกต่างระหว่างพันธุวิศวกรรมและการใช้จีโนมในการแก้ไขยีนที่เฉพาะเจาะจง
Rebecca Mackelprang เป็นนักชีววิทยาโมเลกุลพืช และชื่นชมศักยภาพที่ยอดเยี่ยมของทั้ง CRISPR และเทคโนโลยีพันธุวิศวกรรม แต่ Rebecca Mackelprang ไม่เชื่อว่าทั้ง 2 วิธีนี้จะเป็นการต่อต้านเป้าหมายของเกษตรอินทรีย์ ในความเป็นจริงเทคโนโลยีชีวภาพสามารถช่วยให้บรรลุเป้าหมายของเกษตรอินทรีย์ได้
ในขณะที่ยังมีข้อโต้แย้งเกี่ยวกับพันธุวิศวกรรม การแก้ไขจีโนมอาจนำพาทั้งสองฝ่ายให้มาสนทนาอย่างมีบรรยากาศที่ดี และเพื่อให้เกิดบรรยากาศดังกล่าว จึงจำเป็นที่จะต้องทำความเข้าใจถึงความแตกต่างระหว่างการแก้ไขจีโนมด้วย CRISPR และพันธุวิศวกรรม
ครับ คงต้องหยุดข้อเขียนของ Rebecca Mackelprangเพียงเท่านี้ก่อน อ่านต่อใหม่ในวันพรุ่งนี้นะครับ ซึ่งจะมาพูดคุยในเรื่อง ความแตกต่างระหว่างพันธุวิศวกรรม CRISPR และการปรับปรุงพันธุ์ด้วยวิธีกลายพันธุ์ครับ!