ไนจีเรียได้จุดประกายความหวังการยอมรับ”พืชจีเอ็ม”ทั่วแอฟริกา

  •  
  •  
  •  
  •  

โดย…ดร.นิพนธ์ เอี่ยมสุภาษิต

                                                RISAT  Cowpea A farmer pleased with her cowpea plant

          การตัดสินใจของไนจีเรียในการอนุญาตให้มีการปลูกถั่วพุ่มและฝ้ายดัดแปลงพันธุกรรม ได้จุดประกายความหวังสำหรับการยอมรับเทคโนโลยีนี้ทั่วแอฟริกา

           เกษตรกรและผู้มีส่วนได้เสียในภาคเกษตรแสดงความมั่นใจว่าประเทศของพวกเขาจะเดินตามรอยเท้าของประเทศที่มีประชากรมากที่สุดในทวีป (ไนจีเรีย) เพื่อช่วยสร้างความมั่นคงด้านอาหาร

          Davies Korboe เกษตรกรดีเด่นแห่งปี 2552 ในประเทศกานา กล่าวกับพันธมิตรเพื่อวิทยาศาสตร์ (Alliance for Science)ว่า “บทเรียนจากสิ่งที่ไนจีเรียทำ คือ การยอมรับพืชดัดแปลงพันธุกรรม แล้วทำไมเราถึงไม่ยอมรับ? สิ่งที่ไนจีเรียทำได้สร้างแรงบันดาลใจให้กับพวกเราทุกคน”

          Dr. Margaret Karembu ผู้อำนวยการ ISAAA แห่งทวีปแอฟริกา กล่าวว่า ด้วยผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศมากกว่า 376 พันล้านเหรียญ ไนจีเรียจึงเป็นประเทศที่มีเศรษฐกิจใหญ่ที่สุดในทวีปและสิ่งที่เกิดขึ้นที่นั่นมีอิทธิพลอย่างมากต่อกิจกรรมทางเศรษฐกิจในส่วนอื่น ๆ ของแอฟริกา การตัดสินใจของไนจีเรียโดยเฉพาะอย่างยิ่งในการอนุญาตให้ปลูกถั่วพุ่มดัดแปลงพันธุกรรมจะมีผลกระทบอย่างมากต่อประเทศอื่น ๆ ของทวีปนี้

           นอกจากนี้ “การอนุญาตถั่วพุ่มดัดแปลงพันธุกรรมในไนจีเรียเป็นการประกาศอนาคตที่สดใสสำหรับแอฟริกาโดยเฉพาะอย่างยิ่ง การอนุญาตนี้จะเป็นแบบอย่างสำหรับการอนุญาตถั่วพุ่มดัดแปลงพันธุกรรมในประเทศกานา เบอร์กินาฟาโซ และมาลาวีซึ่งกำลังทำการวิจัยกับถั่วพุ่มดัดแปลงพันธุกรรมที่ต้านทานต่อแมลงศัตรูด้วย”

          ถั่วพุ่ม เป็นพืชอาหารดัดแปลงพันธุกรรมชนิดแรกที่ได้รับการอนุญาตให้เพาะปลูกเชิงพาณิชย์ได้ในไนจีเรียและแอฟริกาตะวันตกโดยรวม และก่อนหน้านี้ เบอร์กินาฟาโซ ก็ได้อนุญาตให้ปลูกฝ้ายบีทีซึ่งไม่ได้เป็นพืชอาหาร

         Karembu  อธิบายว่า การอนุญาตถั่วพุ่มดัดแปลงพันธุกรรมในไนจีเรียเป็นหลักฐานที่แสดงว่าหน่วยงานของแอฟริกามีความสามารถที่ทัดเทียมในการพัฒนาและกำกับดูแลพืชดัดแปลงพันธุกรรม ซึ่งประเทศอื่น ๆ ในแอฟริกาจะต้องดำเนินรอยตาม

          “การพัฒนาที่สำคัญนี้แสดงให้เห็นว่าแอฟริกามีศักยภาพเพียงพอที่จะทำการวิจัยเทคโนโลยีชีวภาพด้านการเกษตร เนื่องจากสามารถพิสูจน์ได้อย่างชัดเจนว่าทวีปนี้มีแหล่งรวมของผู้เชี่ยวชาญด้านการเกษตรชีวภาพ การอนุญาตยังแสดงให้เห็นถึงความสามารถของแอฟริกาในการตัดสินใจอย่างเป็นอิสระ และมั่นใจเพื่อประโยชน์ของประชาชน นอกจากนี้ยังแสดงให้เห็นว่าผู้มีอำนาจตัดสินใจกำลังตื่นตัวกับปัญหาที่ทำให้ชุมชนเดือดร้อนและทำให้พวกเขาเข้าไปอยู่ในใจ”

           ทั่วทวีปแอฟริกาพืชดัดแปลงพันธุกรรมมีการปลูกเชิงพาณิชย์ในสองประเทศเท่านั้น คือ แอฟริกาใต้และซูดาน แต่ในอีกหลาย ๆ ประเทศ กำลังทำการทดลองเกี่ยวกับพืชดัดแปลงพันธุกรรมใน 8 ชนิดพืช ที่รวมถึงกล้วย มันสำปะหลัง และข้าวโพดเลี้ยงสัตว์เพื่อเตรียมพร้อมสำหรับการใช้เป็นแหล่งอาหาร ขั้นตอนการกำกับดูแลที่ยุ่งยากและการทำงานของกลุ่มประชาสังคมที่ต่อต้านพืชดัดแปลงพันธุกรรมนั้น มีการดำเนินงานเป็นเวลาหลายปีในหลาย ๆ ประเทศ แต่ตอนนี้มีความชัดเจนแล้วว่า อุปสรรคดังกล่าวกำลังพังทลายลง

          เมื่อปีที่แล้วหน่วยงานด้านความปลอดภัยทางชีวภาพแห่งชาติของไนจีเรีย (NBMA) ได้อนุญาตให้ปลูกฝ้ายบีทีในเชิงพาณิชย์ซึ่งมีความต้านทานโดยธรรมชาติต่อหนอนเจาะสมอ และเมื่อต้นปีที่ผ่านมาหน่วยงานดังกล่าวได้อนุญาตให้ปลูกถั่วพุ่มบีที ซึ่งสามารถต้านทานการทำลายของแมลงศัตรู ขณะนี้สายพันธุ์ดังกล่าวกำลังได้รับการตรวจสอบในระดับคณะกรรมการปลดปล่อยพันธุ์และบริการเมล็ดพันธุ์แห่งชาติและจะถึงมือเกษตรกรภายในปีหน้า

        ครับ สำหรับประเทศไทย เกษตรกรยังคงต้องรอกันต่อไป อย่างหมดหวังครับ

         อ่านเพิ่มเติมได้ที่ https://allianceforscience.cornell.edu/blog/2019/04/nigerias-approval-gmo-crops-boosts-africas-hopes-technology/