โดย…ดร.นิพนธ์ เอี่ยมสุภาษิต
น้ำตาลได้ถูกใช้เป็นแหล่งพลังงานสำหรับคนมานาน แต่ตอนนี้นักวิทยาศาสตร์เชื่อว่าพวกเขาใกล้ที่จะไขความลับของดีเอ็นเอ (DNA=สารพันธุกรรม)และหาศักยภาพของดีเอ็นเอดังกล่าวในการผลิตเชื้อเพลิงสีเขียว (green fuel)
ทั้งนี้เนื่องจากความต้องการความหวานในอาหารลดน้อยลง การคิดค้นเพื่อให้เกิดแหล่งพลังงานสีเขียว จะสามารถปกป้องอุตสาหกรรมที่มีมูลค่าสูงถึง 2 พันล้านดอลลาร์ได้ หากการพัฒนาเชื้อเพลิงชีวภาพ (biofuel) มีความสามารถเพียงพอที่จะดึงดูดการลงทุน
มหาวิทยาลัยควีนส์แลนด์ (University of Queensland) ในออสเตรเลีย กำลังทำการทดลองการแก้ไขยีนเป็นครั้งแรกที่สามารถปรับแต่งต้นอ้อยเพื่อให้ผลิตเชื้อเพลิงชีวภาพและพลาสติกชีวภาพ(bioplastics) ได้ดีขึ้น
ผู้อำนวยการพันธมิตรเพื่อการเกษตรและนวัตกรรมด้านอาหารแห่งรัฐควีนส์แลนด์ (Queensland Alliance for Agriculture and Food Innovation) นาย Robert Henry กำลังทำงานร่วมกับทีมงานระดับโลกเพื่อจัดลำดับจีโนมอ้อยซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของโครงการความร่วมมือกับสถาบันจีโนม (Genome Institute) ที่ตั้งอยู่ในสหรัฐอเมริกา
โดยทั่วไป หลังจากหีบอ้อยเพื่อผลิตน้ำตาล ส่วนที่เหลือคือเส้นใยหรือกากชานอ้อยซึ่งโรงงานจะนำไปเผาไหม้เพื่อผลิตกระแสไฟฟ้า แต่เส้นใยนี้ยังสามารถนำไปแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์ที่มีความซับซ้อนมากขึ้น
Henry กล่าวว่า “เรากำลังมองหาแนวทางการใช้อ้อยแทนสิ่งต่าง ๆ เช่นน้ำมันเพื่อผลิตวัตถุดิบทางเคมีที่เราได้รับจากน้ำมันแบบดั้งเดิมดังนั้นเราจึงเป็นทางเลือกหนึ่งเพื่อใช้ทดแทน”
ครับ จะเห็นได้ว่า แนวโน้มในปัจจุบัน มีการรณรงค์ให้งดหรือบริโภคน้ำตาลให้น้อยลง เพราะเชื่อว่า น้ำตาลน่าจะเป็นส่วนหนึ่งที่จะส่งผลกระทบทางลบต่อสุขภาพ การมองหาหนทางอื่นในการใช้ประโยชน์จากอ้อยจึงเป็นสิ่งจำเป็น เชื่อว่านักวิจัยบ้านเราก็คงมองเห็นปัญหานี้เช่นกัน แต่ไม่รู้ว่าเริ่มวิจัยทางเลือกอื่นไว้แล้วยัง
อ่านเพิ่มเติมได้ที่ https://www.abc.net.au/news/rural/2019-03-12/cracking-cane-dna-to-make-bio-fuel/10888992