โดย…ดร.พิพนธ์ เอี่ยมสุภาษิต
การศึกษาใหม่ยืนยันว่า มะเขือม่วงบีที(Btbrinjal) ที่ผ่านการดัดแปลงทางพันธุกรรม ประสบความสำเร็จในการต้านทานต่อหนอนเจาะลำต้นและผล ซึ่งช่วยลดความจำเป็นในการใช้สารเคมีป้องกันกำจัดศัตรูพืช ในบังคลาเทศ
หนอนเจาะลำต้นและผล ถูกพบเพียงร้อยละ 10.6 ในมะเขือม่วงบีทีที่ต้านทานศัตรูพืช เทียบกับร้อยละ 90 ในมะเขือม่วงพันธุ์ปกติ ซึ่งอ้างอิงจากการวิจัยที่จัดทำโดยสถาบันวิจัยนโยบายอาหารนานาชาติ (IFPRI) ) และกระทรวงเกษตรของบังคลาเทศ
Dr. Muhammad AbdurRazzaque ซึ่งเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตร กล่าวในการประชุมเชิงปฏิบัติการ DHAKA เมื่อวันที่ 6 มีนาคม2562 ว่า ขอยืนยันอีกครั้งถึงความมุ่งมั่นของประเทศในการใช้เทคโนโลยีชีวภาพเพื่อพัฒนาพืชที่สามารถเลี้ยงประชากรที่เพิ่มขึ้นของประเทศ และพัฒนาความมั่นคงทางอาหารและโภชนาการ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยังเน้นย้ำว่า รัฐบาลขอรับรองว่าพืชดัดแปลงพันธุกรรมที่ผ่านการพัฒนา ไม่เป็นอันตรายต่อสุขภาพของมนุษย์หรือสิ่งแวดล้อม และไม่พบสิ่งผิดปกติใด ๆ กับมะเขือม่วงบีที ที่อนุญาตให้ปลูกในปัจจุบัน
การศึกษาพบว่า นอกจากมะเขือม่วงบีทีจะได้รับการพัฒนาเพื่อให้ต้านทานต่อหนอนเจาะลำต้นและผลแล้ว ก็ยังช่วยลดการแพร่ระบาดของแมลงศัตรูพืชอันตรายอื่น ๆ ประชากรของแมลงปีกแข็งที่กัดกินใบไรและเพลี้ยแป้ง ก็ยังพบได้น้อยกว่า พันธุ์ที่ไม่ใช่จีเอ็ม
จากการศึกษาของ IFPRI และกระทรวงเกษตรพบว่าเกษตรกรที่ปลูกมะเขือม่วงพันธุ์ปกติ ต้องพ่นสารเคมีป้องกันกำจัดศัตรูพืช ในจำนวนครั้งที่มากกว่าอย่างมีนัยสำคัญ เมื่อเทียบกับเกษตรกรที่ปลูกมะเขือม่วงบีที ซึ่งในอดีตเกษตรกรต้องพ่นสารเคมีมากถึง 84 ครั้งตลอดฤดูปลูกเพื่อปกป้องพืชผลของเขา
นอกจากประโยชน์ด้านสุขภาพและสิ่งแวดล้อมที่เกี่ยวข้องกับการใช้สารกำจัดศัตรูพืชที่ลดลงแล้วเกษตรกรที่ปลูกมะเขือม่วงบีทียังสามารถประหยัดค่าใช้จ่ายในการซื้อและการใช้สารเคมีและสามารถขายผลผลิตได้ในราคาที่สูงขึ้น Akhter Ahmed ตัวแทน IFPRI ในบังคลาเทศระบุว่าเกษตรกรจะมีรายได้จากการปลูกมะเขือม่วงเพิ่มขึ้นอย่างมากที่กล่าวมานี้เป็นการศึกษาของIFPRI ในปี 2560-2561ซึ่งกำลังรอการตีพิมพ์ในวารสารที่มีผู้เชียวชาญในการตรวจสอบก่อนตีพิมพ์ เป็นการศึกษาที่เกี่ยวข้องกับเกษตรกรกว่า 1,200 คนในเขต Rangpurและ Rajshahi
นักวิจัยคนอื่น ๆ ที่ทำการศึกษาในปี 2559-2560 รายงานว่ามีการแพร่ระบาดของหนอนเจาะลำต้นและผล ร้อยละ 0-2 ในพันธุ์มะเขือม่วงบีที เมื่อเทียบกับร้อยละ36-45 ในพันธุ์ปกติ นอกจากนี้ยังพบว่า แมลงที่มีประโยชน์เช่นแมลงเต่าทองและแมงมุม ก็ไม่ได้รับผลกระทบ ขณะนี้กำลังมีการศึกษาเพื่อหาวิธีในการควบคุมศัตรูพืชชนิดอื่น เช่น ไรและแมลงหวี่ขาวเพื่อให้เกษตรกรที่ปลูกมะเขือม่วงบีทีสามารถได้รับผลตอบแทนรวมที่เพิ่มขึ้น และลดการใช้สารป้องกันกำจัดแมลงศัตรูได้
มะเขือม่วงบีที เป็นที่ต้องการในตลาดบังคลาเทศเนื่องจากมีคุณภาพสูงและมีการใช้สารกำจัดศัตรูพืชในระดับต่ำ เกษตรกรรายย่อยได้ยอมรับที่จะนำมาปลูกอย่างรวดเร็วจากเพียง 20 ราย ในปี 2557เป็นมากกว่า 27,000 ราย ในทุกเขตพื้นที่ของบังคลาเทศ
อย่างไรก็ตามการปลูกมะเขือม่วงบีที ก็ยังคงมีการวิภาควิจารณ์ ซึ่งเลขาธิการ กระทรวงเกษตร นายMd. Nasiruzzamanได้ให้ข้อสังเกตว่าหลาย ๆ คนก็ต่อต้านพันธุ์พืชลูกผสมเมื่อครั้งที่เริ่มนำมาปลูกเป็นครั้งแรก และเราก็พบว่า มักมีการต่อต้านเทคโนโลยีรุ่นใหม่ ๆ อยู่เสมอ
มะเขือม่วงบีที เป็นพืชดัดแปลงพันธุกรรมหรือพืชจีเอ็ม พืชแรกของบังคลาเทศและเป็นพืชจีเอ็มที่ใช้เป็นอาหารที่พัฒนาขึ้นเป็นครั้งแรกในเอเชียใต้ บังคลาเทศอนุมัติให้เพาะปลูกได้ตั้งแต่ปี 2556 หลังจากทำการวิจัยมาได้ 9 ปีและแนะนำให้กับเกษตรกรในปี 2557 มะเขือม่วงบีที ได้รับการพัฒนาผ่านทางหุ้นส่วนอนาคตของการพัฒนามะเขือม่วงเอเชียใต้(Feed the Future South Asia Eggplant Improvement Partnership)
งานนี้ได้รับความร่วมมือระหว่าง Bangladesh Agricultural Research Institute (BARI), University of the Philippines at Los Banos, Cornell University, Cornell Alliance for Science และ US Agency for International Development. เทคโนโลยีนี้ถูกถ่ายโอนไปยัง BARI โดยไม่มีค่าลิขสิทธิ์เพื่อแจกจ่ายให้กับเกษตรกรซึ่งสามารถที่จะเก็บเมล็ดพันธุ์ และแบ่งปันเมล็ดพันธุ์ได้อย่างอิสระ
ครับ ในขณะที่หลาย ๆ ประเทศ กำลังลดการใช้สารเคมีป้องกันกำจัดศัตรูพืช โดยใช้พืชดัดแปลงพันธุกรรม แต่สำหรับประเทศไทย กลับหาสารเคมีทดแทน
อ่านเพิ่มเติมได้ที่ https://allianceforscience.cornell.edu/blog/2019/03/study-confirms-gmo-eggplant-cuts-pesticide-use-bangladesh/