ข้าวโพดดัดแปลงพันธุกรรม (จีเอ็ม) ในเคนยา

  •  
  •  
  •  
  •  

โดย…ดร.นิพนธ์ เอี่ยมสุภาษิต

         เกษตรกรรายย่อยของเคนยาจะมีโอกาสได้ปลูกข้าวโพดพันธุ์ที่สามารถทนต่อความแห้งแล้งและต้านทานหนอนเจาะลำต้น(stem borer) รวมทั้งหนอนกระทู้ (fall armyworm) ข้าวโพด

        James Karanja ซึ่งเป็นผู้ตรวจสอบโครงการ TELA เปิดเผยว่า งานวิจัยพันธุ์ข้าวโพดดัดแปลงพันธุกรรม (จีเอ็ม) กำลังดำเนินไปได้ด้วยดี และผลที่ได้จากงานวิจัยนี้จะนำไปสู่ความพร้อมด้านอาหารและความสามารถในการจับจ่ายที่ดีขึ้นในขณะที่ลดช่องว่างของการผลิตข้าวโพดในประเทศ

         Karanja  กล่าวอีกว่า โครงการ TELA นี้นั้นจะสอดคล้องกับวาระใหญ่ 4 เรื่องของประธานาธิบดี Uhuru Kenyatta ที่เกี่ยวข้องกับความมั่นคงด้านอาหาร อุตสาหกรรมการผลิตที่อยู่อาศัยราคาไม่แพงและการดูแลสุขภาพที่เหมาะสม

         จากการเป็นส่วนหนึ่งของวาระใหญ่ 4 เรื่องเคนยาได้ดำเนินการทดสอบภาคสนามสำหรับฝ้ายบีที (ฝ้ายดัดแปลงพันธุกรรม) ที่ต้านทานศัตรูพืช ซึ่งจากความสำเร็จดังกล่าวคาดว่าจะสามารถปลดล็อคหรือเปิดโอกาสให้สำหรับข้าวโพดดัดแปลงพันธุกรรม ภายใต้โครงการTELA ที่นอกเหนือจากการใช้ข้าวโพดเป็นอาหารหลักสำหรับประชากรชาวเคนยามากกว่าร้อยละ 85 แล้ว

        จากการศึกษาขององค์การอาหารและการเกษตรแห่งสหประชาชาติในปี 2557 ทุกส่วนของต้นข้าวโพดมีมูลค่าทางเศรษฐกิจ โดยส่วนของต้น เมล็ดใบช่อดอกตัวผู้ และซัง ถูกนำมาใช้เพื่อผลิตเป็นอาหารและผลิตภัณฑ์ที่ไม่ใช่อาหารที่หลากหลายรวมถึงแป้งน้ำมันและอาหารสัตว์

       Rodney Kili เกษตรกรรุ่นเยาว์ชาวไร่ข้าวโพดใน Rift Valley ของเคนยากล่าวว่า “ข้าวโพดดัดแปลงพันธุกรรมจะช่วยให้ฉันต่อสู้กับหนอนกระทู้ (fall armyworm) โดยไม่ต้องใช้สารเคมีป้องกันกำจัดศัตรูพืชทำให้ฉันมีความหวังว่าจะสามารถทำการเพาะปลูกข้าวโพดต่อไปอย่างยั่งยืน ในขณะที่มีการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและเกิดศัตรูพืชใหม่ ๆ พืชดัดแปลงพันธุกรรมคือหนทางที่ควรจะนำมาใช้ประโยชน์”

        อ้างอิงจากการวิจัยของศูนย์เพื่อการเกษตรและวิทยาศาสตร์ชีวภาพนานาชาติ (CABI)ที่รายงานว่า หนอนเจาะลำต้น จะเข้าทำลายแปลงปลูกข้าวโพดคิดเป็นร้อยละ 12 ของแปลงปลูกทั่วประเทศ ในขณะที่หนอนกระทู้ จะทำให้เกิดการสูญเสียข้าวโพดเฉลี่ยร้อยละ 60 รัฐบาลมีเป้าหมายในการผลิตข้าวโพดตามฤดูกาลให้ได้ 49-52 ล้านถุงต่อฤดูกาลในขณะที่ต้องมีการควบคุมศัตรูพืชที่สำคัญทั้งสองชนิดในพื้นที่ปลูก จึงมีความต้องการพันธุ์ข้าวโพดดัดแปลงพันธุกรรม

       Karanjaได้กล่าวกับ Alliance for Science ในการสัมภาษณ์พิเศษ ว่า ข้าวโพดจากโครงการTELA จะช่วยให้การเพาะปลูกมีความปลอดภัยยิ่งขึ้นด้วยการลดการใช้สารกำจัดศัตรูพืชและลดการระบาดของอะฟลาทอกซินในขณะที่ลดต้นทุนการผลิตโดยรวม

      เขา กล่าวต่อไปว่า“ประโยชน์ของข้าวโพดบีทีนั้นชัดเจนและเกษตรกรกำลังรอเทคโนโลยีนี้อย่างกระตือรือร้น”

      TELA มาจากคำภาษาละตินหมายถึงการป้องกัน 2 ชั้น(double shield)นั่นคือโครงการนี้มีจุดมุ่งหมายเพื่อพัฒนาและปรับปรุงพันธุ์ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ให้ต้านทานแมลงศัตรู และมีความสามารถในการทนต่อความแห้งแล้ง

       โครงการ TELA เป็นโครงการที่ต่อเนื่องมาจากโครงการ Water Efficient Maize for Africa (WEMA)ซึ่งได้พัฒนาและปลดปล่อยพันธุ์ข้าวโพดลูกผสมมาแล้วมากกว่า 60 พันธุ์

         นอกจากนี้ WEMA ยังทำการทดสอบภาคสนามในสภาพควบคุม สำหรับข้าวโพดดัดแปลงพันธุกรรมที่ต้านทานแมลงศัตรู (Bt) และข้าวโพดพันธุ์ทนแล้ง (DT) รวมทั้งข้าวโพดที่มี 2 ลักษณะดังกล่าว

          โครงการ WEMA ได้ยืนขออนุญาตต่อNational Biosafety Authority (NBA) เมื่อเดือนมิถุนายน 2558 เพื่อการปลดปล่อยข้าวโพดบีทีสู่สิ่งแวดล้อมด้วย โดย NBA ได้อนุญาตแบบมีเงื่อนไขเพียงเพื่อจุดประสงค์ในการดำเนินการทดสอบการแสดงออกทั่วประเทศ (National Performance Trials – NPT) และรวบรวมข้อมูลเพื่อการวิเคราะห์ แต่ไม่ใช่เพื่อการเพาะปลูกการนำเข้าหรือการค้า

         อย่างไรก็ตามจำเป็นต้องมีรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม (EIA) ก่อนที่จะสามารถดำเนินการทดสอบNPTs ได้ Karanjaอธิบายว่า การประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อมนั้นได้ทำแล้วเสร็จและนักวิจัยกำลังรอให้สำนักงานจัดการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติให้ความเห็นชอบ

       ศาสตราจารย์ HamadiIddiBoga ผู้อำนวยการสำนักวิจัยการเกษตร ภายใต้กระทรวงเกษตรปศุสัตว์การประมงและการชลประทาน กล่าวว่าสำนักงานของเขาได้ขอให้ NEMA อนุญาตให้มีการดำเนินงานวิจัยข้าวโพดบีทีต่อไป

        “เทคโนโลยีใดก็ตามที่ช่วยลดต้นทุนการผลิตและเพิ่มผลตอบแทน ก็จะเป็นประโยชน์ต่อผู้บริโภคในที่สุด” Boga กล่าว นอกจากนี้เขาให้เหตุผลว่า  เทคโนโลยีที่ลดจำนวนการพ่นสารป้องกันกำจัดศัตรูพืชที่สำคัญของข้าวโพด เช่นหนอนกระทู้และหนอนเจาะลำต้นข้าวโพด ก็จะเป็นประโยชน์ต่อสิ่งแวดล้อมเช่นกัน

       “เรากำลังก้าวไปทีละขั้น” เขากล่าวและต่อว่า  “เราต้องเอาชนะความกลัวและความหวาดกลัวเกี่ยวกับเทคโนโลยีเพื่อการค้าที่จะเกิดขึ้น มีข้อมูลที่ผิดและข่าวปลอมมากมายที่ทำให้ผู้บริโภคและผู้มีอำนาจตัดสินใจวิตกกังวล”

      ด้าน Prof. Valerie PalapalaAdema  นักวิทยาศาสตร์ด้านยีนและคณบดีคณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งมหาวิทยาลัยนานาชาติสหรัฐอเมริกา – แอฟริกา: กล่าวเพิ่มเติมว่า ‘‘วิทยาศาสตร์รับรองว่ากระบวนการในการพัฒนาพืชดัดแปลงพันธุกรรมนั้นมีความซับซ้อนและมักจะมีการกล่าวถึงความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้นเสมอ ซึ่งผู้คนจำเป็นต้องได้รับข้อมูลข่าวสารเกี่ยวกับสิ่งมีชีวิตดัดแปลงพันธุกรรมโดยผู้เชี่ยวชาญ

    ครับ ทำไมรัฐบาลไทยจึงไม่คิดส่งเสริมเทคโนโลยีนี้

     อ่านเพิ่มเติมได้ที่ https://allianceforscience.cornell.edu/blog/2019/02/gmo-maize-advancing-kenya/