โดย…ดร.นิพนธ์ เอี่ยมสุภาษิต
นักวิทยาศาสตร์ชาวอูกันดา กำลังวางแผนที่จะปลดปล่อยกล้วยดัดแปลงพันธุกรรมในปี 2564 ซึ่งเป็นกล้วยที่เสริมด้วยวิตามินเอ หลังจากที่ประเทศได้ผ่านกฎหมายว่าด้วยความปลอดภัยทางชีวภาพในปี 2548
นักวิทยาศาสตร์ชาวอูกันดาได้เริ่มใช้วิธีการทางด้านเทคโนโลยีชีวภาพเพื่อปรับปรุงพันธุ์กล้วยให้สร้างเสริมวิตามินเอ โดยมีเป้าหมายที่จะช่วยให้ครอบครัวในชนบทที่ทุกข์ทรมานจากการขาดสารอาหารที่เป็นสิ่งจำเป็นสำหรับการเจริญเติบโตอย่างเหมาะสม การบำรุงรักษาระบบภูมิคุ้มกัน และการมองเห็นที่ดีจนถึงปัจจุบัน
ด้วยความพยายามในการวิจัยและพัฒนามาเป็นเวลา 13 ปีได้แสดงให้เห็นถึงผลลัพธ์ที่น่าพอใจ คือได้พันธุ์กล้วยดัดแปลงพันธุกรรม ที่เนื้อกล้วยมีวิตามินเอร้อยละ 100
Dr. Stephen Buah ซึ่งเป็นหัวหน้าโครงการวิจัยกล้วยในครั้งนี้ กล่าวว่าโครงการปรับปรุงพันธุ์กล้วยได้เริ่มขึ้นเมื่อนักวิทยาศาสตร์ได้พิจารณาแล้วว่า ในชุมชนชนบทจำนวนมากโดยเฉพาะอย่างยิ่งทางตะวันตกของอูกันดา ขาดวิตามินเอและธาตุเหล็ก
ตามสถิติของธนาคารโลก ร้อยละ 28 ของเด็กก่อนวัยเรียนในอูกานดา และร้อยละ 23 ในหญิงตั้งครรภ์ นั้นมีอาการขาดวิตามินเอและธาตุเหล็ก
นักวิทยาศาสตร์ของอูกานดารู้สึกว่า เป็นสิ่งที่ดีกว่าถ้ามีการรวมวิตามินเอเข้ากับอาหาร แทนที่จะส่งเสริมให้หญิงตั้งครรภ์และมารดาซื้อวิตามินเอและธาตุเหล็กที่เป็นเม็ดมากิน เนื่องเพราะพวกเขาเหล่านั้นส่วนมากจะไม่มีทรัพยากรมากเพียงพอที่จะซื้ออาหารเสริมเนื่องจากกล้วยเป็นอาหารหลักสำหรับชาวยูกันดาจำนวนมากจึงนับว่าเป็นข้อได้เปรียบในการป้องกันการขาดวิตามินเอและธาตุเหล็กที่ดี
ครับ บ้านเราคงมีคนแย้งว่า ไม่จำเป็นเพราะอาหารหลายประเภทก็มีวิตามินเอและธาตุเหล็กก็จริงอยู่ แต่ยังมีอีกหลายปัจจัยที่จะต้องพิจารณา ไม่ว่าจะเป็นความง่ายในการเข้าถึง ความชอบรวมถึงความสามารถในการจับจ่าย เป็นต้น อะไรจะดีเท่ากล้วย
อ่านเพิ่มเติมได้ที่ https://allianceforscience.cornell.edu/blog/2018/10/ugandan-scientists-poised-release-vitamin-fortified-gmo-banana/