โดย…ดร.นิพนธ์ เอี่ยมสุภาษิต
แทนซาเนีย ซึ่งเป็นประเทศหนึ่งในทวีปแอฟริกา ได้ทำการทดสอบข้าวโพดดัดแปลงพันธุกรรมภาคสนามในพื้นที่จำกัด (confined field trials) เป็นปีที่ 2 ซึ่งกำลังติดฝักอยู่ในขณะนี้ ได้แสดงให้เห็นว่ามีความสามารถในการต้านทานต่อการเข้าทำลายของหนอนเจาะลำต้น (stem borer) และหนอนกระทู้ (fall armyworm) เมื่อเทียบกับพันธุ์ข้าวโพดทั่วไป
การทดสอบในพื้นที่จำกัด ซึ่งเริ่มขึ้นในเดือนเมษายนปี 2559 ตั้งอยู่ในพื้นที่กึ่งแห้งแล้งของเมืองMakutuporaในเขต Dodoma เพื่อประเมินศักยภาพของพันธุ์ข้าวโพดที่ให้ผลผลิตสูงในสภาพกึ่งแห้งแล้ง
เจ้าหน้าที่อาวุโสด้านการวิจัยทางการเกษตร Dr Justin Ringo กล่าวว่าการที่ข้าวโพดดัดแปลงพันธุกรรม ให้ทนทานต่อภัยแล้งและต้านทานต่อแมลงศัตรู จะเป็นประโยชน์อย่างยิ่งต่อเกษตรกรแทนซาเนียหากรัฐบาลจะทบทวนกฎหมายและข้อบังคับเพื่อให้ มีการค้าขายเมล็ดพันธุ์ข้าวโพดดัดแปลงพันธุกรรมในประเทศ
นอกจากนี้ยังกล่าวว่า ข้าวโพดที่ต้านทานต่อแมลงศัตรูและทนทานสารกำจัดวัชพืช จะช่วยเพิ่มผลผลิตลดค่าใช้จ่ายและช่วยให้สามารถใช้สารเคมีกำจัดศัตรูพืชได้ตรงเป้าหมายมากขึ้น และในเดือนตุลาคม ปี 2561 พันธุ์ข้าวโพดลูกผสมที่ดัดแปลงพันธุกรรม จะมีผลผลิตสูงกว่าพันธุ์ข้าวโพดลูกผสมธรรมดาทั่วไปถึงร้อยละ8.3-58.0
ไม่เพียงแต่จะช่วยพัฒนาชีวิตความเป็นอยู่ของเกษตรกรให้ดีขึ้นเท่านั้น แต่ยังช่วยลดผลกระทบของการเกษตรต่อสิ่งแวดล้อม โดยที่การใช้สารกำจัดศัตรูพืชโดยรวมลดลง ซึ่งส่วนใหญ่เป็นผลมาจากการปลูกพืชดัดแปลงพันธุกรรมที่ต้านทานแมลงศัตรู
ครับ สำหรับประเทศไทย เมื่อคิดที่จะทำแปลงทดสอบพืชดัดแปลงพันธุกรรม ก็ถูกต่อต้านเสียแล้ว
อ่านเพิ่มเติมได้ที่ https://dailynews.co.tz/news/2018-10-285bd55ee8acdd4.aspx