โดย…ดร.นิพนธ์ เอี่ยมสุภสษิต
บ้านเราใช้งบประมาณอย่างมหาศาลเพื่อแก้ปัญหาดินเค็มที่กระจัดกระจายกว่า 17 ล้านไร่ทั่วประเทศ ซึ่งส่วนใหญ่จะอยู่ในภาคอีสาน เพื่อที่จะเอาชนะดินเค็มให้เป็นดินจืด ที่สามารถปลูกพืชผักได้ โดยเฉพาะการปลูกข้าว
พูดกันตรงๆ คือเรามองด้านเดียว มองว่าเมื่อพบดินเค็มไม่สามารถปลูกพืชได้ก็ทุ่มงบประมาณ เพื่อที่ทำดินเค็มให้เป็นดินจืด และเราจะต้องใช้งบประมาณอีกกี่หมื่น กี่แสนล้านที่จะเอาชนะได้ โดยที่เราไม่ได้มองว่า เมื่อบ้านเรามีสภาพดินเค็ม ทำไมไม่มีการพัฒนาเมล็ดพันธุ์พืชในสามารถปลูกในดินเค็ม หรือปลูกในน้ำเค็มได้ อย่างจีนประสบผลสำเร็จแล้วครับ
นักวิทยาศาสตร์ชาวจีน ประสบความสำเร็จในการปลูกและเก็บเกี่ยวข้าวในทะเลทรายของดูไบ ที่ประเทศสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ (United Arab Emirates) หลังจากที่ได้พัฒนาพันธุ์ข้าวที่เจริญเติบโตได้ในน้ำเค็ม
กลุ่มนักวิทยาศาสตร์ที่นำโดย Yuan Longping ซึ่งเป็นบิดาแห่งข้าวลูกผสมของจีน ได้เริ่มปลูกข้าวโดยใช้น้ำทะเลเจือจางในประเทศจีน และได้นำเทคโนโลยีดังกล่าวไปปรับใช้ในภูมิภาคตะวันออกกลาง ที่น้ำจืดนั้นมีค่ามากกว่าที่จะใช้ในการปลูกข้าว
[adrotate banner=”3″]
Yuan Longping ได้ทำการปลูกเมื่อเดือนมกราคมที่ผ่านมา ในพื้นที่ที่ห่างไกลจากเมืองมากเกินกว่าที่นักวิทยาศาสตร์ได้คาดหวัง คือได้ผลผลิตสูงถึง 7,500 กก.ต่อเฮกตาร์ หรือเท่ากับ 1,200 กก.ต่อไร่ เมื่อเปรียบเทียบกับผลผลิตเฉลี่ยของโลกซึ่งอยู่ที่ 3,000 กก.ต่อเฮกตาร์ หรือ 480 กก.ต่อไร่
ความสำเร็จเหล่านี้ ทำให้นักวิทยาศาสตร์มีกำลังใจที่จะขยายโครงการ โดยได้วางแผนที่จะปลูกทดลองในพื้นที่ 100 เฮกตาร์ หรือ 625 ไร่ ในปลายปีนี้ และปลูกในพื้นที่เกษตรกรในปีหน้า ก่อนที่จะเริ่มขยายพื้นที่ปลูกอย่างจริงจังหลังจากปี 2563
อย่างไรก็ดี ตั้งเป้าพื้นที่ปลูกไว้ประมาณร้อยละ 10 ของพื้นที่ ประเทศ ที่ประเทศสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ ที่มีพื้นที่ทั้งหมดสำหรับปลูกข้าวเท่ากับ 83,600 ตารางกิโลเมตร หรือ 52.25 ล้านไร่ ซึ่งวิธีการจะทำให้ได้ตามเป้า จะต้องได้รับการเปิดเผยต่อไป
ครับ แล้วข้าวจากประเทศไทย จะเอาไปขายใครกันละครับ!
อ่านเพิ่มเติมได้ที่ http://www.scmp.com/news/china/society/article/2148684/coming-plate-near-you-soon-rice-grown-chinese-scientists-using