การแก้ไขยีนมันเทศให้เพิ่มการผลิตในแอฟริกา

  •  
  •  
  •  
  •  

โดย…ดร.นิพนธ์ เอี่ยมสุภาษิต

สถาบันเกษตรเขตร้อนระหว่างประเทศ (International Institute of Tropical Agriculture – IITA), Pairwise และ Bill & Melinda Gates Foundation กำลังทำงานในโครงการ Yam Optimized Architecture through Gene Editing (YOAGE) ซึ่งเป็นโครงการความร่วมมือเชิงนวัตกรรมที่มุ่งนำเสนอการเปลี่ยนแปลงทางพันธุกรรมแบบใหม่ให้กับมันเทศ (Yam)

โครงการนี้มีจุดมุ่งหมายเพื่อลดผลกระทบด้านแรงงานและสิ่งแวดล้อมที่เกี่ยวข้องกับการสร้างค้างของพืชแบบดั้งเดิม ในขณะเดียวกันก็ช่วยให้ทำเกษตรกรรมด้วยเครื่องจักรในไนจีเรีย ซึ่งมันเทศเป็นพืชอาหารหลักที่สำคัญ

โครงการ YOAGE ที่มีระยะเวลา 4 ปีมีเป้าหมายเพื่อพัฒนามันเทศพันธุ์แบบพุ่มและระบุยีนที่ควบคุมการเจริญเติบโตของพืช รวมทั้งเพิ่มประสิทธิภาพด้วยการแก้ไขยีนโดยใช้เทคโนโลยี Fulcrum Platform โดย Pairwise

โครงการนี้จะร่วมมือกับเกษตรกรในท้องถิ่น ผู้เชี่ยวชาญด้านการเกษตร และผู้กำหนดนโยบาย ตามที่องค์การอาหารและการเกษตรแห่งสหประชาชาติ (Food and Agriculture Organization of the United Nations – FAO) ระบุว่า มันเทศเป็นพืชหัวที่เกิดจากรากที่สำคัญที่สุดเป็นอันดับ 2 ในอนุภูมิภาคทะเลทรายซาฮาราแอฟริกา (sub-Saharan Africa) รองจากมันสำปะหลัง

โดยมีการผลิตประมาณ 75 ล้านเมตริกตัน ในแอฟริกาตะวันตก โดยเฉพาะอย่างยิ่งในไนจีเรีย มันเทศไม่เพียงแต่เป็นพืชหลักเท่านั้น แต่ยังมีบทบาทสำคัญที่มีความสัมพันธ์ทางสังคมอย่างลึกซึ้ง

แม้จะมีความสำคัญ แต่การปลูกมันเทศต้องเผชิญกับความท้าทายหลายประการ เช่น ต้นทุนวัสดุและแรงงานในการปลูกสูง ความอุดมสมบูรณ์ของดินลดลง พันธุ์ปลูกให้ผลผลิตต่ำ และแรงกดดันจากศัตรูพืชและโรคที่เพิ่มขึ้น แม้ว่าการผสมพันธุ์แบบดั้งเดิมได้ปรับปรุงพันธุ์มันเทศเพื่อการต้านทานศัตรูพืช ความสามารถในการปรับตัว และคุณภาพ แต่ก็มีความก้าวหน้าที่จำกัดในการพัฒนาสถาปัตยกรรมพืช (plant architecture) สำหรับการทำเกษตรกรรมด้วยเครื่องจักร

โครงการ YOAGE จะใช้เครื่องมือแก้ไขยีนขั้นสูงเพื่อเอาชนะความท้าทายเหล่านี้ และสนับสนุนความมั่นคงด้านอาหารทั่วโลก โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อเผชิญกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ข้อจำกัดด้านทรัพยากร และความต้องการของผู้บริโภคที่เปลี่ยนแปลงไป

อ่านเพิ่มเติมได้ที่ https://www.iita.org/news-item/iita-and-pairwise-secure-3-8m-to-boost-yam-production-through-gene-editing/