มูลนิธิเจริญโภคภัณฑ์ ร่วมกับ บริษัท เจริญโภคภัณฑ์อาหาร จำกัด (มหาชน) หรือซีพีเอฟ ส่งมอบกองทุนชุมชนเพื่ออนุรักษ์ป่าชายเลนและส่งเสริมอาชีพชุมชน ต่อยอด“โครงการปลูก ปัน ป้องป่าชายเลน” และกองทุนท่องเที่ยวชุมชน ให้ชุมชนปากน้ำประแส จังหวัดระยอง ใช้เป็นกองทุนหมุนเวียนดูแลป่าและเป็นแหล่งทุนพัฒนาอาชีพ ส่งเสริมชุมชนร่วมอนุรักษ์และฟื้นฟูป่าชายเลนยั่งยืน
นายวีรพงษ์ ลาภสาร รองกรรมการผู้จัดการ ซีพีเอฟ เปิดเผยว่า ซีพีเอฟร่วมกับกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง (ทช.) สำนักงานพัฒนาเศรษฐกิจจากฐานชีวภาพ(องค์การมหาชน) เครือข่ายภาคประชาสังคม และชุมชนตำบลปากน้ำประแส จังหวัดระยอง ดำเนินโครงการ “ปลูก ปัน ป้อง ป่าชายเลน” โดยตั้งแต่ปี 2557-2561 เพิ่มพื้นที่ปลูกป่าชายเลนที่ตำบลปากน้ำประแส 54 ไร่ รวมทั้งส่งเสริมการสร้างอาชีพให้แก่ชุมชน ซึ่งนำมาสู่การส่งมอบกองทุนชุมชน เพื่ออนุรักษ์ป่าชายเลนและส่งเสริมอาชีพชุมชนและกองทุนท่องเที่ยวชุมชนจำนวนเงินรวมกว่า 130,000บาท สะท้อนผลสำเร็จจากความร่วมมือในลักษณะ 3 ประสาน คือ หน่วยงานภาครัฐ ภาคประชาสังคม และภาคเอกชน ในการอนุรักษ์และฟื้นฟูทรัพยากรธรรมชาติ
การส่งมอบกองทุนฯในวันนี้ ซีพีเอฟสนับสนุนงบประมาณจำนวน 100,000 บาท และอีกส่วนเป็นเงิน37,710บาท จากการดำเนินกิจกรรมเส้นทางท่องเที่ยวชุมชน โดย รายได้จากกิจกรรมท่องเที่ยวชุมชน 10 % จะนำเข้าไว้ในกองทุนฯ มีคณะกรรมการกองทุนทำหน้าที่ดูแลและบริหารเงิน เพื่อใช้หมุนเวียนในการอนุรักษ์ป่าชายเลนในระยะยาว และเป็นแหล่งเงินทุนให้สมาชิกกองทุนไปใช้ลงทุนพัฒนาอาชีพในรูปแบบเงินทุนหมุนเวียน
นางดวงฤดี ขวัญนิยม ประธานสภาองค์กรชุมชนและประธานกลุ่มท่องเที่ยววิถีชุมชน ต.ปากน้ำประแส จ.ระยอง และประธานท่องเที่ยววิถีชุมชน ในฐานะผู้รับมอบกองทุนฯ กล่าวว่า กองทุนชุมชนเพื่ออนุรักษ์ป่าชายเลนและส่งเสริมอาชีพชุมชน มีวัตถุประสงค์เพี่อนำมาใช้ในกิจกรรมดูแลป่าชายเลน ทั้งปลูกซ่อมแซมในส่วนที่ต้นไม้ตายจากการกัดเซาะของคลื่น กำจัดหอยเพรียง และปลูกป่าเพิ่มเติม ส่วนกองทุนท่องเที่ยวชุมชนเป็นแหล่งเงินที่จะนำมาใช้ในการส่งเสริมและต่อยอดอาชีพของสมาชิกกองทุนฯ โดยมีคณะกรรมการกองทุนฯ พิจารณาช่วยเหลือสมาชิกในกลุ่มท่องเที่ยว เพื่อนำเงินไปใช้ปรับปรุงฐานกิจกรรมเส้นทางท่องเที่ยวชุมชน นอกจากนี้ ได้เปิดรับสมัครสมาชิกกองทุน โดยที่สมาชิกจะถือหุ้นได้ไม่เกินคนละ 10 หุ้น ราคาหุ้นละ 100 บาท
“ดีใจที่มีภาคเอกชนเข้ามาสนับสนุนช่วยเพิ่มพื้นที่ป่าชายเลน ทำให้ระบบนิเวศกลับมาอุดมสมบูรณ์ สัตว์น้ำที่เคยสูญหายไปจากพื้นที่ในช่วงที่ยังไม่มีการฟื้นฟูป่ากลับเข้ามาเพิ่มขึ้นหลังจากที่ป่าชายเลนได้รับการฟื้นฟู ชุมชนซึ่งส่วนใหญ่มีอาชีพทำประมง สามารถจับกุ้ง หอย ปู ปลา ได้เพิ่มขึ้น นอกจากนี้ กิจกรรมเส้นทางท่องเที่ยวชุมชน ทำให้สมาชิกกองทุนฯที่มีส่วนร่วมในฐานกิจกรรมท่องเที่ยว มีรายได้เพิ่มขึ้นจากการขายสินค้า การสาธิตอาชีพ อาทิ กิจกรรมคราดหอย ทำกะปิ ผลิตภัณฑ์ชาใบขลู่ที่ใช้วัตถุดิบในท้องถิ่นจากต้นขลู่ การทำลูกประคบสมุนไพร ทำจันรอนซึ่งเป็นอาหารพื้นบ้านของระยอง ขนมไทยสูตรโบราณจากฝีมือของผู้สูงอายุที่ว่างงาน เป็นต้น
ทั้งนี้ พิธีส่งมอบเงินกองทุนฯ ในวันที่ 9 พ.ย.61) ได้รับเกียรติจากผู้บริหารและตัวแทนของหน่วยงานในพื้นที่เข้าร่วมงาน อาทิ ผู้อำนวยการสำนักงานการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย สำนักงานระยอง นายกเทศมนตรีตำบลปากน้ำประแส เกษตรอำเภอแกลง ฯลฯ
มูลนิธิเจริญโภคภัณฑ์ ร่วมกับซีพีเอฟดำเนินโครงการ”ซีพีเอฟ ปลูก ปัน ป้องป่าชายเลน” ตั้งแต่ปี 2557-2561 โดยมีเครือข่ายที่ร่วมดำเนินโครงการ ประกอบด้วย กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง (ทช.) สำนักงานพัฒนาเศรษฐกิจจากฐานชีวภาพ (องค์การมหาชน) เครือข่ายภาคประชาสังคม เพิ่มพื้นที่ป่าชายเลนที่ ต.ปากน้ำประแส จ.ระยอง 54 ไร่ พร้อมทั้งจัดตั้งศูนย์การเรียนรู้ ปลูก ปัน ป้อง ป่าชายเลนปากน้ำประแส ซึ่งได้รับความสนใจจากหน่วยงานต่างๆ สถานศึกษาในพื้นที่และภายนอก นำนักเรียนและนักศึกษาเข้ามาศึกษาและเยี่ยมชมศูนย์ฯ ส่งเสริมเยาวชนในพื้นที่เป็นมัคคุเทศก์แนะนำแหล่งท่องเที่ยว นอกจากนี้ ซีพีเอฟ จับมือกับ บริษัท โลคอล อไลค์ จำกัด จัดกิจกรรมเส้นทางท่องเที่ยวชุมชน ซึ่งส่วนหนึ่งของรายได้จากการท่องเที่ยวจะนำเข้ากองทุนฯเพื่อให้ชุมชนมีเงินหมุนเวียนใช้ในการดูแลป่าชายเลนได้อย่างยั่งยืน