“อ.ยักษ์” นำคณะเยี่ยมชมและสำรวจเส้นทางน้ำตามแนวคลองมหาชัย-คลองสนามชัย หวังเตรียมพัฒนาให้เป็นแหล่งท่องเที่ยวทางน้ำในเขต กทม.และปริมณฑลตามนโยบายนายกฯ ชี้ตลอดแนวทางมีศักยภาพที่ดึงนักท่องเที่ยวได้การท่องเที่ยวเชิงธรรมชาติ ประวัติศาสตร์ และศูนย์เรียนรู้ที่น่าสนใจมากมาย
นายวิวัฒน์ ศัลยกำธร รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยภายหลังเยี่ยมชมเส้นทางตามแนวคลองมหาชัย – คลองสนามชัย อันเนื่องมาจากพระราชดำริ จ.สมุทรสาคร ว่า ตามที่พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ได้มีนโยบายให้ส่งเสริมการท่องเที่ยวทางน้ำตามลำคลองในเขตกรุงเทพมหานครและปริมณฑล รวมทั้งแหล่งท่องเที่ยวใกล้เคียง โดยกระทรวงเกษตรฯ ได้มอบหมายกรมชลประทานสำรวจเส้นทางท่องเที่ยว 5 เส้นทาง เริ่มจากเส้นทางตามแนวคลองมหาสวัสดิ์ และในวันนี้ได้สำรวจเส้นทางตามแนวคลองมหาชัย-คลองสนามชัยเป็นเส้นทางที่ 2
สำหรับคลองมหาชัย-สนามชัย ขุดขึ้นในสมัยสมเด็จพระสรรเพชญ์ที่ 8 หรือ พระเจ้าเสือ ในสมัยอยุธยาตอนปลาย ระหว่างปีพุทธศักราช 2246-2251 จุดเริ่มต้นคลองอยู่บริเวณคลองบางกอกใหญ่ในปัจจุบัน ไปออกแม่น้ำท่าจีนที่อำเภอเมืองสมุทรสาคร กว้างประมาณ 14 เมตร ลึก 3 เมตร ใช้ในการคมนาคมขนส่ง ปัจจุบันคลองมหาชัย-สนามชัย เป็นแหล่งท่องเที่ยวใน กทม. และสมุทรสาคร โดยช่วงที่อยู่ฝั่งธนบุรีเรียกว่าคลองสนามชัย ฝั่งจังหวัดสมุทรสาครเรียกว่าคลองมหาชัย
ปัจจุบันบริเวณนี้มีโครงการแก้มลิงคลองมหาชัย-สนามชัย (ใช้คลองเป็นแก้มลิง) ซึ่งพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 9 ได้มีพระราชดำริให้ดำเนินโครงการแก้มลิงคลองมหาชัย-สนามชัยขึ้นเมื่อเดือนกรกฎาคม 2539 โดยมีการก่อสร้างประตูระบายน้ำและสถานีสูบน้ำคลองมหาชัย และประตูระบายน้ำในคลองสาขาอื่นๆร่วมด้วย
โครงการแก้มลิงคลองมหาชัย-สนามชัย ใช้เป็นแหล่งรับน้ำในพื้นที่ฝั่งตะวันตกของแม่น้ำเจ้าพระยา โดยเก็บน้ำไว้และระบายออกสู่อ่าวไทยตามจังหวะการขึ้นลงของน้ำทะเล แก้มลิงมหาชัย-สนามชัยสามารถรับน้ำได้ประมาณ 6 ล้านลูกบาศก์เมตร แต่ปัจจุบันตื้นเขินลง คงรับน้ำได้ประมาณ 4 ล้านลูกบาศก์เมตร
[adrotate banner=”3″]
นอกจากนี้ ชุมชนริมคลองมหาชัย-คลองสนามชัย ยังได้ชื่อว่าเป็นชุมชนเก่าแก่ที่มีประวัติมาอย่างยาวนาน มีแหล่งท่องเที่ยวที่น่าสนใจมากมาย ประกอบด้วย 1) ศาลพันท้ายนรสิงห์ ปากคลองโคกขาม 2) วัดโสภณาราม (บ้านขอม) 3) วัดโกรกกราก 4) ศูนย์การเรียนรู้และปฏิบัติการ อนุรักษ์ฟื้นฟูทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมมหาชัยฝั่งตะวันออก และ 5) พุทธมหาสมุทร ณ ศาลากลางทะเล (พระกลางน้ำ) เป็นต้น