“กฤษฎา” ร่ายยาวให้เร่งแก้ทุกปัญหาผ่าน Web Conference กำชับให้เกษตรและสหกรณ์จังหวัด และเกษตรจังหวัดทั่วประเทศ ต้องดำเนินการโครงการไทยนิยม ยั่งยืน อย่างโปร่งใส พร้อมให้เตรียมรับมือสถานการณ์ภัยพิบัติด้านการเกษตรในช่วงเดือนกรกฎาคม-สิงหาคมนี้
นายกฤษฎา บุญราช รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กล่าวภายหลังเป็นประธานการประชุมทางไกลออนไลน์ (Web Conference) เพื่อมอบนโยบายแนวทางการดำเนินงานให้แก่หน่วยงานในส่วนภูมิภาค ณ ห้องประชุมกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ว่า ตามที่สภานิติบัญญัติแห่งชาติ ได้เห็นชอบ พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายเพิ่มเติม ประจำปีงบประมาณ 2561 เพื่อดำเนินการขับเคลื่อนไทยนิยม ยั่งยืน ซึ่งกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้รับจัดสรรงบประมาณ 24,993 ล้านบาทนั้น ขอเน้นย้ำให้ข้าราชการในพื้นที่ โดยเฉพาะเกษตรและสหกรณ์จังหวัด เกษตรจังหวัด ไปรวบรวมว่ามีงบประมาณและทำโครงการเรื่องใดบ้าง และขอให้ผู้ว่าราชการจังหวัดจัดประชุมคณะอนุกรรมการพัฒนาการเกษตรและสหกรณ์จังหวัด (อพก.) เพื่อติดตามการดำเนินงาน หากมีปัญหาให้แจ้งกับผู้ว่าฯ และขอความร่วมมือหน่วยงานราชการต่างๆ ช่วยกันแก้ไข
อีกทั้งงบดังกล่าวเป็นงบจ้างแรงงานถึง 2 ล้านราย ซึ่งต้องนำมาจากบัญชีรายชื่อผู้มีรายได้น้อยตามโครงการลงทะเบียนเพื่อสวัสดิการแห่งรัฐ จึงต้องดูกลุ่มนี้เป็นอันดับแรก แต่หากในพื้นที่ไม่มีกลุ่มนี้ ให้กระจายไปยังเกษตรกรรายอื่นได้ รวมถึงการจ่ายค่าแรงงานหรือค่าอบรบนั้น จะต้องจ่ายผ่านบัญชีธนาคารเท่านั้น เพื่อไม่ให้เกิดความเสียหายตามมา นอกจากนี้ในส่วนกลาง โดยกรมพัฒนาที่ดินยังได้ประสานงานร่วมกับ สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ปปช.) สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตในภาครัฐ (ป.ป.ท.) และสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน ในการทำ MOU ร่วมกันเพื่อตรวจสอบในโครงการทำฝายขนาดเล็ก จำนวน 1,097 ฝาย อย่างไรก็ตามในส่วนของจังหวัดขอให้ประสานงานกับ ปปช.จังหวัดด้วย เพื่อให้เกิดความโปร่งใส หากมีปัญหาให้รีบแก้ไขโดยดูข้อเท็จจริง และประชาสัมพันธ์สื่อท้องถิ่น รวมทั้งนำเข้าที่ประชุมของคณะกรมการจังหวัดให้ทราบด้วย
[adrotate banner=”3″]
สำหรับการเตรียมการรับสถานการณ์ภัยพิบัติด้านการเกษตร (อุทกภัย/ฝนทิ้งช่วง) ในช่วงเดือน ก.ค. – ส.ค. นั้น ให้เกษตรและสหกรณ์จังหวัดติดตามสภาพอากาศ ปริมาณฝน สถานการณ์น้ำและประเมินสถานการณ์เพื่อเฝ้าระวังพื้นที่เสี่ยงและแจ้งเตือนเกษตรกรเตรียมรับสถานการณ์ โดยเตรียมพร้อมพื้นที่ คน เครื่องมือ และวิธีการแก้ไข นอกจากนี้ให้ช่วยดูเรื่องปัจจัยการผลิตที่นำไปแจกต้องมีคุณภาพ ราคาไม่แพง รวมทั้งเรื่องปัญหาอื่นๆ อาทิ การฉีดวัคซีน และนมโรงเรียน ขอให้เกษตรอำเภอและเกษตรตำบลลงไปสุ่มตรวจตามโรงเรียนต่าง ๆ และรายงานให้ทราบเพื่อช่วยแก้ไขปัญหา และในกรณีที่เกิดปัญหาของเกษตรกร ข้าราชการในพื้นที่จะต้องทราบก่อนเป็นอันดับแรกและลงไปช่วยเหลือทันที
ทั้งนี้ในการแก้ไขปัญหาราคาผลผลิตทางการเกษตรตกต่ำ ได้กำหนดจัดทำแผนการผลิตทางการเกษตรเพื่อให้สอดคล้องกับความต้องการของตลาดและผู้บริโภค และแก้ไขปัญหาสินค้าเกษตรล้นตลาด ราคาตกต่ำ โดยสั่งการให้ปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ดำเนินการดังนี้ 1. มอบหมายให้ผู้รับผิดชอบ (Mr.) ผลผลิตทางการเกษตรที่สำคัญในแต่ละชนิดพืช ประมง ปศุสัตว์ สำรวจและจัดทำข้อมูลผลผลิตทางการเกษตรของแต่ละฤดูกาลผลิต ในด้านพื้นที่การผลิตและปริมาณผลผลิต รวมถึงข้อมูลอื่นที่จำเป็นต่อการวางแผนการผลิต โดยจัดทำข้อมูลย้อนหลัง 3 ปี และคาดการณ์ปริมาณการผลิตทางการเกษตรในปี 2561/2562 พร้อมทั้งเปรียบเทียบข้อมูลในแต่ละปีด้วย 2. ประสานกับกระทรวงพาณิชย์ กระทรวงอุตสาหกรรม และภาคธุรกิจเอกชน เพื่อขอทราบข้อมูลความต้องการผลผลิตทางการเกษตรของแต่ละชนิดที่เป็นปัจจุบัน แนวแนวโน้มในอนาคต ทั้งตลาดในประเทศและต่างประเทศ ตลอดจนความนิยมของผู้บริโภคในปัจจุบัน
“ให้ปลัดกระทรวงเกษตรฯ ศึกษาแนวทางตาม พ.ร.บ.เศรษฐกิจการเกษตร พ.ศ.2522 ประกอบด้วยว่า กระทรวงเกษตรและสหกรณ์จะสามารถอาศัยอำนาจตามกฎหมายดังกล่าวประกาศเขตเศรษฐกิจ เพื่อให้เกษตรกรต้องทำการเกษตรตามแผนการผลิตทางการเกษตรหรือกำหนดเงื่อนไขอื่นๆ ในการผลิต เช่น ต้องทำการเกษตรตามสภาวะแวดล้อม คุณภาพดิน (Zoning By Agri-Map) การรวมกลุ่มทำการเกษตร การปรับเปลี่ยนมาทำการปลูกพืชหรือปศุสัตว์ที่มีต้นทุนต่ำ และตลาดมีความต้องการสูงได้หรือไม่ และเมื่อเกษตรกรรายใดทำการเกษตรกรรมตามแผนดังกล่าวแล้วจะได้รับการช่วยเหลือ และคุ้มครองจากหน่วยงานรัฐเมื่อผลผลิตเสียหาย โดยขอให้เร่งรวบรวมข้อมูลให้แล้วเสร็จภายในวันที่ 30 ก.ค. 61” นายกฤษฎา กล่าว