ได้ต้นแบบ”เอามื้อสามัคคี” 13 รายที่แม่แจ่มจำนงอีก94

  •  
  •  
  •  
  •  

ได้แบบอย่างชุมชนยึดรูปแบบร “เอามื้อสามัคคี” จำนวน 13 รายลงชื่อเข้าร่วมโครงการหมุนเวียนช่วยเหลือกันทำงานในพื้นที่ ไม่ต้องมีค่าตอบแทน ระบุเป็นการฟื้นวิถีวัฒนธรรมชุมชน สร้างสังคมเอื้อเฟื้อให้เกิดขึ้นในสังคม  ทำให้เกิดการบูรณาการกันทำงาน ล่าสุดมีผู้แสดงความจำนงเข้าร่วมเพิ่มอีก 94 ราย ชี้พื้นที่บ้านสองธาร เป็นหนึ่งในโมเดลนำร่องของพื้นที่เป้าหมายการพัฒนาตัวอย่าง ของการจัดการลุ่มน้ำ 5 ลุ่มน้ำต้นแบบ ปิง ยม น่าน ป่าสัก และลุ่มน้ำย่อยสโมง 

นายวิวัฒน์ ศัลยกำธร รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ลงพื้นที่ติดตามความคืบหน้าการดำเนินการแก้ไขปัญหาหมอกควันและการชะล้างพังทลายของหน้าดินในพื้นที่ภาคเหนือ ภายใต้โครงการขับเคลื่อนแม่แจ่มโมเดลตามศาสตร์พระราชา ณ อ.แม่แจ่ม จ.เชียงใหม่โดยมีเป้าหมายพื้นที่บ้านสองธารเป็นพื้นที่นำร่อง พร้อมรับฟังรายงานสรุปจากกรมส่งเสริมสหกรณ์ ร่วมกับสำนักงานสหกรณ์จังหวัดเชียงใหม่ ศูนย์ถ่ายทอดเทคโนโลยีสหกรณ์ที่ 9 เข้าติดตามการดำเนินงานในพื้นที่

จากนั้นได้สรุปผลจากการจัดประชุมร่วมกับเกษตรกรบ้านสองธาร พบความจำเป็นที่จะต้องจัดระบบการเข้าดำเนินงานในพื้นที่ของหน่วยงานต่างๆ กว่า 20 หน่วยงาน ให้เป็นไปอย่างสอดคล้องกับกิจกรรมของชุมชนซึ่งยังคงยึดรูปแบบการ “เอามื้อสามัคคี” โดยชาวบ้าน 13 รายที่ลงชื่อเข้าร่วมโครงการหมุนเวียนช่วยเหลือกันทำงานในพื้นที่แปลงของแต่ละคนโดยไม่ต้องมีค่าตอบแทน ฟื้นวิถีวัฒนธรรมชุมชน สร้างสังคมเอื้อเฟื้อ ภาครัฐจึงต้องจัดระบบการเข้าหนุนตามภารกิจของหน่วยงานให้สอดคล้อง ทำให้เกิดการบูรณาการกันทำงาน เรียงลำดับจากการจัดการดิน น้ำ สร้างอาชีพและสร้างเครือข่าย ปัจจุบันมีเกษตรกรในตำบลอื่นๆ ของ อ.แม่แจ่มแสดงความจำนงเข้าร่วมเพิ่มอีก 94 ราย

นายวิวัฒน์ กล่าวถึงความสำคัญของการแก้ไขปัญหาแบบบูรณาการว่า ต้องให้ความสำคัญกับความต้องการของเกษตรกรเป็นหลัก แต่ต้องเติมความรู้ที่ถูกต้องเหมาะสมต่อพื้นที่ลงไป หากช่วยกันพัฒนาให้เกษตรกรเพียง 1 รายมีชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีขึ้นแบบที่สามารถฟื้นคืนสภาพพื้นที่ป่าต้นน้ำได้ด้วย เขาก็จะเป็นคนถ่ายทอดต่อไปยังเกษตรกรคนอื่นๆ ที่สนใจ

วิธีนี้ที่สำคัญคือต้องให้เกิดการระเบิดจากข้างใน โดยอาศัยกระบวนการอบรมบ่มเพาะที่แม่นยำ และการติดตามหนุนเสริมแบบบูรณาการ ด้วยการพาลงทำในพื้นที่และจัดการแก้ไขปัญหาแบบบูรณาการ ไม่ต่างคนต่างทำมีเป้าหมายที่เกษตรกรเป็นหลัก หากติดขัดระเบียบ ข้อบังคับ กฎหมายด้านใดก็ร่วมกันหาทางแก้ไข ที่บ้านสองธารมีนายอำเภอแม่แจ่มเป็นแกนนำ ข้าราชการกรมส่งเสริมสหกรณ์หนุนเสริม หน่วยงานอื่นๆ ของกระทรวงเกษตรร่วมบูรณาการ เช่น กรมพัฒนาที่ดินเข้าไปแก้ไขปัญหาดิน กรมชลประทานแก้เรื่องน้ำ กรมส่งเสริมสหกรณ์เจรจาธนาคารเจ้าหนี้ เพราะหนี้สินที่หมู่บ้านนี้ 53 ครัวเรือนมีมากถึง 25 ล้านบาทถ้าไม่ปลดล็อกตรงนี้ก็เดินต่อยาก ถ้าทุกฝ่ายร่วมกันเดินตามศาสตร์พระราชาก็เชื่อมั่นว่าจะแก้ไขปัญหาได้ ข้าราชการต้องช่วยกันมองภาพใหญ่ให้ชัดแต่เวลาลงมือทำ ทำเล็กๆ เพียง 1 รายให้ชัดเจนก่อน

[adrotate banner=”3″]

โครงการสร้างต้นแบบพื้นที่ตัวอย่างความสำเร็จในการแก้ไขปัญหาแบบบูรณาการพื้นที่บ้านสองธาร เป็นหนึ่งในโมเดลนำร่องของพื้นที่เป้าหมายการพัฒนาตัวอย่างการจัดการลุ่มน้ำ 5 ลุ่มน้ำต้นแบบ ปิง ยม น่าน ป่าสัก และลุ่มน้ำย่อยสโมง (ลุ่มน้ำปราจีน) ของกระทรวงเกษตร โดยมีกรมต่างๆ ของกระทรวงเป็นผู้รับผิดชอบหลักในการดำเนินการประสานงานภาคีต่างๆ ร่วมแก้ไขปัญหาโดยน้อมนำศาสตร์พระราชาสู่การปฏิบัติ ผ่านกลไกการบูรณาการ 5 ขั้นตอน ได้แก่

1) กลไกการประสานงานภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง 7 ภาคส่วน 2) กลไกการบูรณาการแผนยุทธศาสตร์และงบประมาณ 3) กลไกการติดตาม กระตุ้น หนุนเสริม 4) กลไกการจัดการองค์ความรู้ 5) กลไกการสื่อสารสังคม ซึ่งเป็นกลไกการมีส่วนร่วมจากข้อเสนอของคณะกรรมการปฏิรูปการขับเคลื่อนสืบสานศาสตร์พระราชา สภาปฏิรูปแห่งชาติ ปัจจุบันอยู่ระหว่างการทดลองนำสู่การปฏิบัติคาดว่าจะเกิดโมเดลการทำงานแบบบูรณาการอย่างเห็นผลในปีนี้