ของจริงไปดูได้“กระติกสกัดน้ำทะเลจืด-เครื่องสีข้าวขนาดพกพา”ในงาน“เพื่อนพึ่ง (ภาฯ)เกษตรแฟร์”ปีนี้

  •  
  •  
  •  
  •  

มหาวิทยาลัยเกษตรเกษตรศาสตร์ เตรียมโชว์สุดยอดนวัตกรรม “เครื่องสีข้าวขนาดพกพา-กระติกสกัดน้ำทะเลจืด-แพลทฟอร์มการเกษตรอัจฉริยะ “รวม 15 ผลงาน ที่สามารถต่อยอดนำไปใช้ได้จริง ในงาน “เพื่อนพึ่ง (ภาฯ) เกษตรแฟร์” ปี 2561 ระหว่างวันที่ 21– 30 มิถุนายน 2561 ณ สำนักพิพิธภัณฑ์และวัฒนธรรมการเกษตร มก.บางเขน ปีนี้จัดภายใต้แนวคิด “แบ่งปัน พอเพียง ยั่งยืน”

          วันที่ 14 มิถุนายน 2561 ดร.จงรัก วัชรินทร์รัตน์ รักษาการแทนอธิการบดีมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ กล่าวระหว่างแถลงถึงการจัดงาน “เพื่อนพึ่ง (ภาฯ) เกษตรแฟร์” ปี 2561 ณ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ว่า นับตั้งแต่ปี 2554 ถึง ปี 2558 ทางมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์และมูลนิธิอาสาเพื่อนพึ่ง (ภาฯ) ยามยาก สภากาชาดไทย ได้ร่วม     จัดงาน “เพื่อนพึ่ง (ภาฯ) เกษตรแฟร์”  ณ บริเวณหอประชุมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ กระทั่งใน   ปี 2559  ย้ายมาจัดที่บริเวณสำนักพิพิธภัณฑ์และวัฒนธรรมการเกษตร เพื่อลดปัญหาการจราจรติดขัดให้น้อยลง สำหนับปีนี้ จะจัดขึ้นระหว่างวันที่ 21 – 30 มิถุนายน 25661 ณ บริเวณสำนักพิพิธภัณฑ์และวัฒนธรรมการเกษตร มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ บางเขน กรุงเทพฯ

         สำหรับการจัดงานในครั้งนี้มีวัตถุประสงค์ในการจัดงานเพื่อหารายได้สมทบทุนมูลนิธิอาสาเพื่อนพึ่ง (ภาฯ) ยามยาก สภากาชาดไทย ภายใต้แนวคิด “แบ่งปัน พอเพียง ยั่งยืน” ในการนำไปช่วยเหลือผู้ประสบภัยพิบัติต่าง ๆ ในนามของมูลนิธิอาสาเพื่อนพึ่ง (ภาฯ) ยามยาก สภากาชาดไทย ในรูป ถุงยังชีพ การปรุงอาหารบรรจุใส่กล่องและอื่น ๆ เพื่อส่งไปช่วยเหลือประชาชนที่อยู่ในพื้นที่ที่ห่างไกลและเข้าไปช่วยเหลือยากลำบาก รวมทั้งเป็นการเผยแพร่ผลการดำเนินงาน และนำสินค้า ของมูลนิธิอาสาเพื่อนพึ่ง (ภาฯ)ยามยาก สภากาชาดไทยมาจำหน่ายด้วย

         ในส่วนของมหาวิทยาลัยเกษตร ศาสตร์  ซึ่งเป็นสถาบันการศึกษาที่มีหน้าที่ประการหนึ่งในการบริการสังคม ช่วยเหลือสังคมในทุกมิติ  ทั้งการผลิตบัณฑิตที่มีคุณภาพสู่สังคม การบริการวิชาการต่างๆ ทั้งที่เป็นนวัตกรรม การอบรม การจัดการเรียนการสอน ซึ่งขณะนี้มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ได้เปิดหลักสูตรใหม่ คือ “ หลักสูตรวิทยาศาสตรบัณฑิต สาขาวิชาศาสตร์แห่งแผ่นดินเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน ”

           หลักสูตรดังกล่าวจะเปิดในปีการศึกษา 2561  เป็นหลักสูตรทางด้านวิชาชีพที่มีการบูรณาการการข้ามคณะ สาขา และศาสตร์ต่าง ๆ เพื่อสร้าง “บัณฑิตสั่งตัด” เน้นการเรียนรู้นอกห้องเรียน ฝึกปฏิบัติจริง เลือกเรียนทั้งในหลักสูตรระดับปริญญาตรี  และหลักสูตรประกาศนียบัตร เรียนเป็นชุดวิชา และเก็บสะสมหน่วยกิต “โครงการธนาคารหน่วยกิต” ผู้เรียนเป็นใครก็ได้ที่จบ ม. 6 ปวช. ปวส. หรือจบ ปริญญาตรี หรือประชาชนทั่วไปสามารถมาเรียนได้ด้วย

    

         “การจัดงานครั้งนี้ ในส่วนของมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ จะได้นำผลงานนวัตกรรม ผลงานวิจัยจัดแสดงภายในงานกว่า 15 ผลงานให้ผู้ชม งานแต่ละจะได้นำไปประยุกต์ใช้ต่อไป เช่น เครื่องสีข้าวขนาดพกพา กระติกสกัดน้ำทะเลจืด แพลทฟอร์มการเกษตรอัจฉริยะ เป็นต้น” ดร.จงรัก กล่าว

           นอกจากนี้ยังมีการจำหน่ายผลิตภัณฑ์และสินค้าอีก 11 โซน ซึ่งในวันพฤหัสบดีที่ 21 มิถุนายน 2561 เวลา 15.00 น. พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าโสมสวลี พระวรราชาทินัดดามาตุ จะเสด็จมาทรงเปิดงาน ณ บริเวณปะรำพิธีอาคารสำนักพิพิธภัณฑ์และวัฒนธรรมการเกษตร  มาเที่ยวและอุดหนุนสินค้าใน งานเพื่อนพึ่ง (ภาฯ) เกษตรแฟร์ ซึ่งทั้งผู้ขายและผู้ซื้อที่จะได้มีโอกาสร่วมทำบุญทำกุศลกับมูลนิธิอาสาเพื่อนพึ่ง (ภาฯ) ยามยากสภากาชาดไทยอีกด้วย

          ด้านนายฐิติวัฒน์ ว่องวรรณกุล ผู้จัดการมูลนิธิอาสาเพื่อนพึ่ง (ภาฯ) ยามยาก สภากาชาดไทย กล่าวเพิ่มเติมว่า  การจัดงานเพื่อนพึ่ง (ภาฯ) เกษตรแฟร์” ปี 2561นั้น หากย้อนไปเมื่อปี 2538 ได้เกิดอุทกภัยครั้งยิ่งใหญ่ของกรุงเทพฯ ในขณะนั้น ส่วนราชการ และภาคเอกชน ไม่สามารถช่วยเหลือผู้ประสบภัยได้อย่างทั่วถึง พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าโสมสวลี พระวรราชาทินัดดามาตุ ในฐานะองค์นายกกิตติมศักดิ์ และพระเจ้าหลานเธอ พระองค์เจ้าพัชรกิติยาภา ในฐานะองค์ประธานได้ทรงออกปฏิบัติพระภารกิจในการช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัย เมื่อวันที่ 29 ตุลาคม 2538 ณ ถนนจรัลสนิทวงศ์ใน ครั้งแรกมูลนิธิเป็นเพียงโครงการอาสา เพื่อนพึ่งภาฯ เพื่อช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัย ให้เกิดการพึ่งพาซึ่งกันและกัน ผู้ที่เดือดร้อนน้อยกว่าช่วยเหลือผู้ที่เดือดร้อนมากกว่า ผู้ที่แข็งแรงช่วยเหลือผู้ที่อ่อนแอ จนในที่สุดได้ก่อตั้งเป็นองค์กรการกุศลที่ไม่แสวงหากำไร

           ปัญหาอุทกภัยนั้นสร้างความเสียหายทั้งทรัพย์สิน ร่างกายและจิตใจเป็นอย่างมาก ตามข้อมูลเมื่อปี 2554 อุทกภัยสร้างความเสียหายทั้งสิ้น 74 จังหวัด พื้นที่เกษตรได้รับความเสียหายกว่า 11 ล้านไร่ มูลค่าความเสียหายกว่า 23,000 ล้านบาท ถึงแม้ในปีต่อๆมาความเสียหายจากปัญหาอุทกภัยลดลงแต่ประเทศไทยก็ต้องเผชิญกับปัญหาดังกล่าวในทุกๆปี ด้วยพระเมตตาของสองพระองค์ ที่ทรงห่วงใยพสกนิกรมาโดยตลอด จนปัจจุบันมูลนิธิฯย่างเข้าสู่ปีที่ 23 ที่ผ่านมามูลนิธิฯ มีโครงการต่างๆ มากมาย ที่จะช่วยบรรเทาทุกข์ระหว่างเกิดภัยซึ่งถือเป็นภารกิจหลัก การเฝ้าระวังภัย การฟื้นฟูหลังน้ำลด อาทิ การซ่อมสร้างบ้านเรือน การฟื้นฟูด้านอาชีพ โดยประสานพลังจากหลายหน่วยงานทั้งภาครัฐ เอกชน และประชาชน

          ดังเช่นความร่วมมือจากมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ถือเป็นหน่วยงานหนึ่งที่เป็นตัวอย่างของการประสานพลังที่จะช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัย โดยทางมหาวิทยาลัยได้จัดงานเพื่อนพึ่ง (ภาฯ) เกษตรแฟร์ เป็นปีที่ 7 ในปีนี้ เพื่อหารายได้สมทบกิจกรรมต่างๆของมูลนิธิฯ

[adrotate banner=”3″]

         งานเพื่อนพึ่งภาฯเกษตรแฟร์ ปี2561 ได้จัดงานภายใต้แนวคิด “แบ่งปัน พอเพียง ยั่งยืน” ซึ่งเป็นหลักปฏิบัติของมูลนิธิฯ  เพื่อแสดงให้เห็นถึงความร่วมมือ การเสียสละแบ่งปัน การดำรงชีวิตอย่างพอเพียง ซึ่งจะนำไปสู่การพัฒนาได้อย่างยั่งยืน และนอกจากนี้มูลนิธิฯได้ร่วมออกร้านจำหน่ายสินค้าที่ระลึก ภายใต้ตราสินค้าใหม่ “พึ่งพา” ซึ่งมีความพ้องเสียงกับชื่อมูลนิธิฯและมีความหมายแสดงถึงคุณค่าของการแบ่งปันพึ่งพากันและกันที่จะทำให้สังคมมีความสุขมากขึ้น รูปแบบตราสินค้าสื่อถึงคลื่นซึ่งหมายถึง “น้ำ” อันเป็นวัตถุประสงค์ของมูลนิธิฯในการช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัย ภายในซุ้มนี้ยังมีนิทรรศการเพื่อเผยแพร่กิจกรรมต่างๆของมูลนิธิฯ อาทิเช่น ถุงยังชีพแบบต่างๆ วิดิทัศน์เกี่ยวกับมูลนิธิฯ เป็นต้น

         พร้อมกันนี้ยังมีหน่วยงานภาครัฐและเอกชนที่มาร่วมในการจัดแสดงนิทรรศการเพื่อเผยแพร่กิจกรรมต่างๆ อาทิ กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย ได้จัดนิทรรศการเกี่ยวกับการป้องกันดินโคลนถล่ม และการช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัย สถาบันสารสนเทศทรัพยากรน้ำและการเกษตร จัดแสดงนิทรรศการการแก้ปัญหาเกี่ยวกับน้ำ

       นอกจากนี้มีจำหน่ายสินค้าจากชุมชนต่างๆ เช่น ชุมชนลัดมะยม แก้ปัญหาน้ำเสียจนกลายเป็นตลาดน้ำคลองลัดมะยม ชุมชนหนองเสือ ซึ่งได้มีการทำโครงการแก้มลิงตามพระดำริของพระเจ้าหลานเธอ พระองค์เจ้าพัชรกิติยาภา จนสามารถแก้ปัญหาทั้งภาวะน้ำท่วมและน้ำแล้งได้ ชุมชนบ้านศาลาดินคลองมหาสวัสดิ์ จ.นครปฐม ที่ได้แก้ปัญหาเรื่องผักตบชวา ปัญหาน้ำเสีย และมีการจำหน่ายผลิตภัณฑ์จากผักตบชวาสร้างรายได้และเป็นที่รู้จักมากขึ้น ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร จำหน่ายสินค้าจากชุมชนต่างๆที่ทางธนาคารได้ร่วมกันพัฒนาและฟื้นฟูด้านอาชีพให้แก่เกษตรกร เป็นต้น