มก.ปั้น“บัณฑิตสายพันธุ์ใหม่”ม.6-ปริญญาตรีเรียนได้

  •  
  •  
  •  
  •  

มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ เปิดรับสมัคร ผู้สนใจเรียนทุกช่วงวัย ตั้งแต่ผู้จบ ม.6 ยันปริญญาตรี เข้าศึกษาต่อในคณะวิทยาศาสตร์บัณฑิต หลักสูตร “ศาสตร์แห่งแผ่นดินเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน” เพื่อปั้น “บัณฑิตพันธุ์ใหม่” เน้นการสร้างนักวิชาชีพ ผู้ประกอบการ เกษตรกรสมัยใหม่ ตอบโจทย์การสร้างกำลังคนที่มีสมรรถนะในยุคศตวรรษที่ 21 เพื่อขับเคลื่อนประเทศไทย 4.0

         วันที่ 5 มิถุนายน 2561  มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์(มก.) เปิดแถลงข่าว แนะนำหลักสูตรบูรณาการเพื่อผลิตบัณฑิตพันธุ์ใหม่ “หลักสูตรวิทยาศาสตรบัณฑิต สาขาวิชาศาสตร์แห่งแผ่นดินเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน”  ซึ่งสภามหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ได้อนุมัติหลักสูตรเรียบร้อยแล้ว และ มก.ได้ประกาศรับผู้เรียนในปีการศึกษา 2561 เป็นครั้งแรก โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อสร้างบัณฑิตพันธุ์ใหม่และกำลังคนที่มีสมรรถนะ เน้นการสร้างนักวิชาชีพ ผู้ประกอบการใหม่ เกษตรกรในรูปแบบผู้ประกอบการ ที่จะงตอบโจทย์ภาคการผลิตตามนโยบายการปฏิรูปอุดมศึกษาไทยและการพัฒนาประเทศ ตามโครงการสร้างบัณฑิตพันธุ์ใหม่ของกระทรวง ศึกษาธิการ 

        สำหรับหลักสูตรดังกล่าวแบ่งเป็นหลักสูตรปริญญาบัณฑิต และ หลักสูตรประกาศนียบัตร พร้อมทั้งยังเปิดกว้างให้ผู้เรียนสามารถเรียนและเก็บสะสมหน่วยกิตการเรียน ที่เรียกว่าโครงการธนาคารหน่วยกิต เพื่อขอรับปริญญาบัตรได้อีกด้วย โดยทาง มก. จะทำการเปิดรับผู้เรียนเข้าศึกษาในหลักสูตรศาสตร์แห่งแผ่นดินเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน จำนวน 4 กลุ่ม ได้

         1.กลุ่มวัยเรียน ได้แก่ นักเรียน ม. 6 หรือเทียบเท่า มีประสบการณ์หรือธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับชุดวิชาที่เรียน นิสิต นักศึกษาที่กำลังศึกษาอยู่มหาวิทยาลัย นักศึกษาที่สำเร็จการศึกษาระดับอาชีวะศึกษา อุดมศึกษา และยังไม่ได้ทำงาน

         2.กลุ่มวัยทำงาน ได้แก่ ผู้สำเร็จการศึกษาระดับ ม. 6 มีประสบการณ์หรือธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับชุดวิชาที่เรียน ผู้สำเร็จการศึกษาในระดับปริญญาตรีทุกสาขา 3. กลุ่มผู้สูงวัย ได้แก่ กลุ่มที่พ้นจากวัยทำงาน แต่มีความประสงค์จะหาความรู้เพิ่มเติม หรือต้องการวิชาชีพเพื่อประกอบธุรกิจขนาดเล็ก 4. กลุ่มเกษตรกรและประชาชนทั่วไป ได้แก่ ผู้ที่ไม่สำเร็จการศึกษาในระดับ ม. 6 แต่มีประสบการณ์ในการทำงาน หรือมีธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับชุดวิชาที่เรียน

     ทั้งนี้ทาง มก.กำหนดรับสมัครผู้สนใจเข้าศึกษาในระดับปริญญาตรี ระบบ TCAS รอบ 4  (กลุ่มนักเรียน ม. 6 ) วันที่ 12  – 16 มิถุนายน 2561 และรับตรงผ่านระบบออนไลน์ (กลุ่มนักเรียน ม. 6 ) วันที่ 10 มิถุนายน – 31 กรกฎาคม 2561 จำนวนรับ 40 คน 

       สำหรับกลุ่มอาชีวะศึกษาและกลุ่มบัณฑิตปริญญาตรีที่ต้องการปริญญาที่สอง เปิดรับตรงผ่านระบบออนไลน์ วันที่ 10 มิถุนายน – 31 กรกฎาคม 2561 จำนวนรับ 40 คน และกลุ่มวัยทำงาน กลุ่มผู้สูงวัย ประชาชนทั่วไป (ได้รับประกาศนียบัตร) เปิดรับตรงผ่านระบบออนไลน์ วันที่ 10 มิถุนายน – 31 กรกฎาคม 2561 จำนวนรับ 300 คน  (ชุดวิชาละ 30 คน)

         ดร.จงรัก วัชรินทร์รัตน์ รักษาการแทนอธิการบดีมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ กล่าวว่า ปัญหาในการพัฒนาประเทศที่ผ่านมา รวมถึงการกำหนดนโยบายในการพัฒนาประเทศของรัฐบาลที่ต้องการพัฒนาทุนมนุษย์ เพื่อสร้างความเข้มแข็งจากภายใน ควบคู่ไปกับการเชื่อมโยงกับประชาคมโลก ตามแนวคิด “ปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง” ทาง มก.เล็งเห็นถึงความจำเป็นที่จะต้องมีการเปลี่ยนแปลงระบบการผลิตบัณฑิต โดยมีการพัฒนาหลักสูตรที่มีความทันสมัย มีการบูรณาการการเรียนการสอนที่หลากหลายศาสตร์ รวมถึงความจำเป็นที่จะต้องบูรณาการการเรียนการสอนร่วมกับสถานประกอบการ เพื่อตอบสนองเป็นฐานความรู้ยุคโลกาภิวัฒน์ และยุคเศรษฐกิจดิจิทัล นำไปสู่การเป็นมหาวิทยาลัยในศตวรรษที่ 21 ที่จะสามารถผลิตบัณฑิตที่มีทักษะและความพร้อมในหลากหลายด้านเพื่อการประกอบอาชีพยุคใหม่

         ทั้งนี้เพื่อตอบสนองต่อนโยบายของรัฐบาลในการขับเคลื่อนประเทศไทยมุ่งสู่ Thailand 4.0 สภามหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ จึงได้อนุมัติ หลักสูตรวิทยาศาสตรบัณฑิต สาขาวิชาศาสตร์แห่งแผ่นดินเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อสร้างบัณฑิตพันธุ์ใหม่และกำลังคนที่มีสมรรถนะ ตอบโจทย์ภาคการผลิตตามนโยบายการปฏิรูปอุดมศึกษาไทย ซึ่งประกอบด้วย การปฏิรูปการจัดทำหลักสูตร  การปฏิรูปอาจารย์ การปฏิรูปกระบวนการและวิธีการจัดการเรียนรู้ การปฏิรูปการวิจัย การส่งเสริมการใช้ระบบเทคโนโลยีสารสนเทศเพื่อการศึกษา และการกระจายโอกาสทางการศึกษา

       

         ด้านรศ.ดร. ลดาวัลย์ พวงจิตร รักษาการแทนรองอธิการบดีฝ่ายวิชาการ กล่าวว่า หลักสูตรวิทยาศาสตรบัณฑิต สาขาวิชาศาสตร์แห่งแผ่นดินเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน นอกจากจะเป็นหลักสูตรในระดับปริญญาตรี ซึ่งผู้เรียนต้องเรียนครบถ้วนตามที่กำหนดในหลักสูตรแล้ว ยังได้มีการออกแบบการเรียนการสอนเป็นแบบชุดวิชา (module) ซึ่งเป็นการเรียนระยะสั้นใช้เวลา 1 ภาคการศึกษา (4 เดือน) ในแต่ละชุดวิชามีลักษณะเป็นวิชาชีพที่มีความสมบูรณ์ในตัวเอง เทียบเท่ากับ 20 หน่วยกิต ผู้เรียนจะได้รับประกาศนียบัตรในชุดวิชาที่เลือกเรียน และสามารถนำความรู้ที่ได้รับไปประกอบอาชีพหรือเริ่มต้นธุรกิจใหม่ (start-up) ได้

          เนื่องจากการเรียนการสอนในแต่ละชุดวิชาเน้นการปฏิบัติจริงในพื้นที่และการปฏิบัติร่วมกับสถานประกอบการ (work integrated learning) รวมถึงการนำระบบเทคโนโลยีต่างๆ มาใช้ในการเรียนการสอน เพื่อนำไปสู่การเกษตรสมัยใหม่ หลักสูตรในระดับประกาศนียบัตรนี้เป็นอีกแนวทางหนึ่งในการสร้างคนไทย 4.0 ที่มีความเชื่อมโยงและสอดคล้องกับแผนปฏิบัติการขับเคลื่อนประเทศไทย 4.0 ของรัฐบาล  ยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี (2560-2579) แผนการศึกษาแห่งชาติ (2560-2579) แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 12 (2560-2564)  และแผนปฏิรูปการศึกษา

          ขณะที่รศ.ดร.ลิลลี่ กาวีต๊ะ ผู้ทรงคุณวุฒิพิเศษ และประธานคณะกรรมการบริหารหลักสูตร กล่าวว่า หลักสูตรศาสตร์แห่งแผ่นดินเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน ประกอบด้วยชุดวิชา (module) ต่างๆ ที่เป็นวิชาชีพหรือปฏิบัติการ ที่จะช่วยสร้างคนไทย 4.0 ให้มีความรอบรู้ทั้งภาคทฤษฎีและภาคปฏิบัติ เน้นความรู้ สมรรถนะและทักษะในการปฏิบัติ โดยการปฏิบัติในพื้นที่จริง พัฒนาเกษตรกรที่ทันสมัย เปลี่ยนจากการเกษตรแบบดั้งเดิม (traditional farming) ในปัจจุบัน ไปสู่การเกษตรสมัยใหม่ (smart farming) ที่เน้นการบริหารจัดการและเทคโนโลยี ทำให้เกษตรกรมีรายได้มากขึ้น และเป็นเกษตรกรแบบผู้ประกอบการ สามารถเพิ่มมูลค่าสินค้าการเกษตรจากการแปรรูป และการเริ่มต้นธุรกิจใหม่ (start-up) ที่ขับเคลื่อนด้วย

        รศ.ดร.ลิลลี่ กล่าวอีกว่า นวัตกรรม เป็นฐานที่สำคัญอย่างมากในการส่งเสริมให้ประเทศไทยเป็น ประเทศที่มีความมั่นคง มั่งคั่ง ยั่งยืน ปัจจุบันประกอบด้วยชุดวิชาจำนวนรวม 21 ชุดวิชา โดยชุดวิชามีความเชื่อมโยงและสอดคล้องกับอุตสาหกรรมที่เป็นกลไกสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศ และสนองต่อการปฏิรูปการศึกษาไทยและการพัฒนาประเทศ ตามโครงการสร้างบัณฑิตพันธุ์ใหม่ของกระทรวงศึกษาธิการ โดยมีรูปแบบการเรียนการสอนต่างๆ ดังนี้

         ใช้สื่อการเรียนการสอนเป็นรูปแบบออนไลน์ ผ่านระบบ eduFarm ซึ่งเป็นระบบจัดการเรียนรู้แบบออนไลน์ของมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ สำหรับใช้สนับสนุนการสอนของอาจารย์และการเรียนรู้ของนิสิต ทำให้ผู้เรียนสามารถเข้าถึงเนื้อหา และกิจกรรมต่างๆ ได้ในทุกที่และทุกเวลา นอกจากนั้น ยังจะได้พัฒนาบทเรียนรายวิชาออนไลน์แบบเปิด (MOOC) เพิ่มขึ้นด้วย

[adrotate banner=”3″]

         จัดการเรียนการสอนแบบลงมือปฏิบัติ (active learning) เพื่อให้ผู้เรียนได้ลงมือปฏิบัติ และได้ใช้กระบวนการคิดในสิ่งที่ได้ลงมือปฏิบัติ ผู้เรียนจะถูกเปลี่ยนบทบาทจากผู้รับความรู้ (receive) ไปสู่การมีส่วนร่วมในการสร้างความรู้ (co-creators) โดยทุกรายวิชาในหลักสูตรมีสัดส่วนของชั่วโมงปฏิบัติการ การศึกษาค้นคว้าด้วยตนเอง และการเข้ามาปฏิบัติร่วมกับผู้สอนมากกว่าการบรรยาย ตัวอย่างการจัดการเรียนการสอนแบบลงมือปฏิบัติที่นำมาใช้ ได้แก่ think-pair-share, reaction to a video, small group discussion, team-based teaching, problem-based learning และ project-based learning

        จัดการเรียนการสอนร่วมกับสถานประกอบการในรูปแบบ work integrated learning (WIL) เป็นการเรียนรู้เชิงประสบการณ์ที่เปิดโอกาสให้ผู้เรียนได้ใช้ความรู้ในสภาพแวดล้อมของการทำงานจริง โดยทุกชุดวิชาจะมีรายวิชาเกี่ยวกับประสบการณ์วิชาชีพ ซึ่งผู้เรียนต้องฝึกปฏิบัติในสภาพจริง

         ผู้เรียนสามารถเก็บสะสมหน่วยกิตชุดวิชาตามโครงการธนาคารหน่วยกิต (credit bank) เพื่อขอรับปริญญาวิทยาศาสตรบัณฑิต สาขาวิชาศาสตร์แห่งแผ่นดินเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน

          สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ ฝ่ายรับเข้าศึกษา สำนักทะเบียนและประมวลผล มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์

โทรศัพท์ 0 – 2942 – 8200 ต่อ 8046 – 8051 http://admission.ku.ac.th/