สั่งทุกหน่วยงานรับมือเสี่ยงภัยแล้ง 23 จังหวัด

  •  
  •  
  •  
  •  

กระทรวงเกษตรฯ เตรียมพร้อมรับมือภัยแล้ง สั่งทุกหน่วยเฝ้าระวัง 23 จังหวัด 74 อำเภอเสี่ยงขาดน้ำทำเกษตร ชี้แผนจัดการน้ำช่วงฤดูแล้งยังตามแผน หลังพบเกษตรกรหันปลูกพืชอื่นทดแทนนาปรังเพิ่มขึ้น กรมชลฯย้ำปีนี้ปริมาณน้ำเพียงพอสนับสนุน “ออเจ้า”เล่นสงกรานต์สืบสานประเพณีไทย

              วันที่ 2 เม.ย.61 นายกฤษฎา บุญราช รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ พร้อมด้วยนายวิวัฒน์ ศัลยกำธร นายลักษณ์  วจนานวัช รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ นายทองเปลว กองจันทร์ อธิบดีกรมชลประทาน นายสมชาย ชาญณรงค์กุล อธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร และผู้บริหารของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ร่วมแถลงข่าวความคืบหน้าการป้องกันและแก้ไขสถานการณ์ภัยแล้งด้านการเกษตร ณ ศูนย์ปฏิบัติการน้ำอัจฉริยะ (SWOC) กรมชลประทาน สามเสน

            นายกฤษฎา บุญราช รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กล่าวว่า  แม้ว่าสถานการณ์น้ำในปีนี้จะดีขึ้นกว่าปีที่แล้ว แต่ยังคงมีพื้นที่เสี่ยงภัยที่กระทรวงเกษตรฯได้เฝ้าระวังและติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิด  ซึ่งจากการติดตามสถานการณ์อ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่และขนาดกลางทั่วประเทศ ปัจจุบัน ณ 1 เม.ย.61 มีปริมาณน้ำในอ่างฯ รวมกันทั้งสิ้น 50,905 ล้านลูกบาศก์เมตร คิดเป็นร้อยละ 67 ของความจุอ่างฯรวมกันทั้งหมด มากกว่าปี 2560 รวม 7,164 ล้าน ลบ.ม. เป็นน้ำใช้การได้ 26,985 ล้านลูกบาศก์เมตร คิดเป็นร้อยละ 52 ลุ่มน้ำเจ้าพระยา  4 เขื่อนหลักมีปริมาณน้ำรวมกันทั้งสิ้น 15,139 ล้าน ลบ.ม. คิดเป็นร้อยละ 61 ของความจุอ่างฯรวมกันทั้งหมด ซึ่งมากกว่าปี 2560 รวม 3,079 ล้าน ลบ.ม. ปริมาณน้ำใช้การได้ 8,443 ล้าน ลบ.ม. คิดเป็นร้อยละ 46 ได้มีการการจัดสรรน้ำในช่วงฤดูแล้ง (1 พ.ย. 60 – 30 เม.ย. 61) ทั้งประเทศ ใช้น้ำไปแล้ว 20,680 ล้าน ลบ.ม. หรือคิดเป็นร้อยละ 82 ของแผน และลุ่มน้ำเจ้าพระยามีการใช้น้ำไปแล้ว 7,157 ล้าน ลบ.ม. หรือร้อยละ 93 ของแผนจัดสรรน้ำฯ

            สำหรับสถานการณ์การเพาะปลูกฤดูแล้ง ปี 2560/61 จากปริมาณน้ำที่อยู่ในเกณฑ์ดีกว่าปีที่ผ่านมา ทำให้พื้นที่ปลูกข้าวรอบที่ 2 (ข้าวนาปรัง) ทั้งประเทศ ในปี 2560/61 ณ วันที่ 28 มี.ค. 2561 รวมทั้งสิ้น 12.54 ล้านไร่ แบ่งเป็น พื้นที่ในเขตชลประทาน จำนวน 9.48 ล้านไร่ และนอกเขตชลประทาน 3.06 ล้านไร่ ซึ่งเมื่อเปรียบเทียบกับแผนการปลูกข้าวนาปรัง พบว่า สูงกว่าแผนที่กำหนดไว้ เพียง 7% ถือว่าอยู่ในการควบคุมได้ แม้จะมีพายุฤดูร้อนช่วงที่ผ่านมา และกระทรวงเกษตรฯ ได้ลงพื้นที่สำรวจความเสียหาย แต่ยังไม่พบว่าเป็นพื้นที่ได้รับความเสียหายแต่อย่างใด

            อย่างไรก็ตาม กระทรวงเกษตรฯ ได้กำหนด 2 มาตรการเตรียมการก่อนเกิดผลกระทบภัยแล้ง  คือ 1.การประเมินความเสี่ยงของพื้นที่ที่คาดว่าจะเกิดภัยแล้ง ซึ่งจากข้อมูลสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) ได้ประเมินพื้นที่เสี่ยงภัยแล้งระดับอำเภอ (มี.ค. – เม.ย. 61) พบว่า ไม่มีพื้นที่เสี่ยงคาดว่าจะขาดแคลนน้ำเพื่อการอุปโภค-บริโภค แต่มีพื้นที่ที่ต้องเฝ้าระวังการขาดแคลนน้ำเพื่อการเกษตร รวม 23 จังหวัด 74 อำเภอ ซึ่งกระทรวงเกษตรฯ ได้มีหนังสือสั่งการให้จังหวัด ตรวจสอบพื้นที่และพิจารณาดำเนินการเตรียมการป้องกันและบริหารจัดการสถานการณ์ที่จะเกิดขึ้นภายในจังหวัด ทั้งด้านพืช ด้านประมง ด้านปศุสัตว์ พร้อมทั้งประชาสัมพันธ์ข้อมูลข่าวสารและแจ้งเตือนเกษตรกร ติดตาม เฝ้าระวังประเมินสถานการณ์ โดยประสานงานร่วมกับส่วนราชการที่เกี่ยวข้องในพื้นที่เพื่อเผชิญเหตุที่อาจจะเกิดขึ้นตั้งแต่ปลายเดือน มี.ค. ถึง เดือน พ.ค.61 2. การบรรเทาผลกระทบ ทั้งในและนอกเขตชลประทาน ทุกหน่วยงานใน กษ. ได้เตรียมกำลังคน เครื่องจักร เครื่องมือ อุปกรณ์ เสบียงสัตว์ เวชภัณฑ์ ปัจจัยการผลิต เพื่อให้การช่วยเหลือทันทีเมื่อเกิดสถานการณ์หรือเมื่อมีการการร้องขอ ได้แก่ เครื่องสูบน้ำ 2,365 เครื่อง รถบรรทุกน้ำ 242 คัน เสบียงสัตว์ 2,807 ตัน เมล็ดพันธุ์ 51 ตัน รวมทั้งการปฏิบัติฝนหลวง ซึ่งเริ่มปฏิบัติการตั้งแต่วันที่ 1 มีนาคม 2561 เป็นต้นมา

[adrotate banner=”3″]

            “กระทรวงเกษตรฯ ยืนยันว่าขณะนี้ปริมาณน้ำต้นทุนมีเพียงพอสำหรับการสนับสนุนการเพาะปลูกพืชในช่วงฤดูแล้งปี 2560/61 ถึงแม้จะปลูกเกินจากแผนที่กำหนด โดยเน้นย้ำพื้นที่เสี่ยงในช่วงเดือนมี.ค.-เม.ย. ให้จังหวัดเสี่ยงตรวจสอบพื้นที่และพิจารณาแนวทางการป้องกันและแก้ไขปัญหาทั้งด้านพืช ประมง ปศุสัตว์ และประสานการปฏิบัติกับกองอำนวยการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยจังหวัด ที่ปัจจุบันยังไม่มีการประกาศเขตฯ ภัยแล้ง รวมถึงเร่งส่งเสริมให้เกษตรกรปลูกพืชอื่นเพื่อทดแทนการปลูกข้าวนาปรัง ซึ่งปีนี้มีเกษตรกรให้ความสนใจเข้าร่วมโครงการฯ ประมาณร้อยละ 60 ของเป้าหมาย” รมว.เกษตรฯ กล่าวทิ้งท้าย

           ด้านนายวิวัฒน์ กล่าวเสริมถึงการวางแผนสำรองน้ำไว้ใช้สำหรับต้นฤดูฝน ณ 1 พ.ค. 61  ซึ่งกรมชลประทานได้คาดการณ์ปริมาณน้ำในอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่และขนาดกลางของทั้งประเทศว่า จะมีปริมาณน้ำใช้การประมาณ 24,187 ล้าน ลบ.ม. คิดเป็นร้อยละ 46 ของปริมาณน้ำใช้การทั้งหมด ซึ่งจะใช้เป็นปริมาณน้ำสำรองที่สามารถสนับสนุนการอุปโภค-บริโภค รักษาระบบนิเวศน์ เกษตรกรรม และอุตสาหกรรม ได้อย่างเพียงพอหากเกิดฝนทิ้งช่วงหรือฝนมาช้ากว่าปกติ ส่วนการสนับสนุนน้ำในช่วงเทศกาลสงกรานต์ปีนี้ เป็นน้ำที่อยู่นอกเหนือจากน้ำภาคการเกษตร กรมชลประทานได้มอบหมายให้สํานักงานชลประทานในพื้นที่จังหวัดต่าง ๆ  เตรียมการล่วงหน้าและวางแผนสนับสนุนการส่งน้ำช่วงเทศกาลสงกรานต์ไปยังแหล่งน้ำสาธารณะให้เพียงพอต่อความต้องการของประชาชน เพื่อเป็นการส่งเสริมการท่องเที่ยวและประเพณีอันดีงามของไทยให้คงอยู่และยั่งยืนตลอดไป  

     

         ด้านนายลักษณ์  กล่าวเพิ่มเติมถึงความก้าวหน้ามาตรการรองรับความเสี่ยงผลกระทบภัยแล้งตามที่ครม.เห็นชอบแล้ว 2 โครงการ ได้แก่ 1) โครงการส่งเสริมการปลูกพืชหลากหลายฤดูนาปรัง ปี 2561 พื้นที่ดำเนินการ 53 จังหวัด เป้าหมาย 450,000 ไร่ เกษตรกรสมัครร่วมโครงการ 40,708 ราย พื้นที่ 341,270 ไร่ คิดเป็น 75.84 % ของเป้าหมาย และเมื่อสิ้นสุดระยะเวลายืนยันการปลูกเมื่อ 15 มี.ค.ที่ผ่านมามีเกษตรกรเข้าร่วมทั้งสิ้น 33,504 ราย พื้นที่ 282,996.50 ไร่ คิดเป็น 82.92% จากพื้นที่ที่เกษตรกรสมัคร ซึ่งขณะนี้อยู่ในขั้นตอนการตรวจสอบแปลงระดับตำบล จำนวน 33,425 ราย พื้นที่ 268,450.75 ไร่ คิดเป็น 89.64 % จากพื้นที่ยืนยันการปลูก  2) โครงการส่งเสริมการปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ฤดูแล้งหลังนา ปี 2560/61 พื้นที่เป้าหมาย 700,000 ไร่ ใน 31 จังหวัด เกษตรกร 47,000 ราย มีเกษตรสมัครร่วมโครงการ 84,931 ราย พื้นที่ 618,689 ไร่ คิดเป็น 88.38 % จากเป้าหมาย แต่จำนวนเกษตรกรที่มายืนยันการปลูก 74,704 ราย พื้นที่ 523,331 ไร่ คิดเป็น 84.58 % จากพื้นที่ที่เกษตรกรสมัคร โดยเมื่อสิ้นสุดยืนยันการปลูกเมื่อเดือนมกราคมที่ผ่านมาพบว่ามีเกษตรกรที่ผ่านการตรวจสอบ 64,554 ราย พื้นที่ 436,155.25 ไร่ คิดเป็น 86.41 % จากพื้นที่ยืนยันการปลูก ขณะนี้คณะทำงานตรวจสอบพื้นที่ระดับตำบลกำลังดำเนินการลงพื้นที่ตรวจสอบแปลงปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ในพื้นที่รับผิดชอบ

            อย่างไรก็ตาม ทั้ง 2 โครงการ เกษตรกรจะได้รับเงินช่วยเหลือตามเงื่อนไขโครงการไร่ละ 2,000 บาท คนละไม่เกิน 15 ไร่ แต่ขณะนี้ กระทรวงเกษตรฯ ยังไม่มีการจ่ายเงินจำนวน 2,000 บาท/ไร่ ให้แก่เกษตรกรรายใด เนื่องจากยังอยู่ในขั้นตอนการตรวจสอบแปลง โดยคณะทำงานตรวจสอบพื้นที่ระดับตำบล หากแล้วเสร็จจะดำเนินการจ่ายเงินให้เกษตรกรผ่าน ธกส. โดยเร็วต่อไป