“กฤษฏา” ย้ำ“โครงการไทยนิยม ยั่งยืน” ต้องโปร่งใส สร้างกลไกตรวจสอบตั้งแต่เริ่มโครงการถึงประเมินผล ด้านกรมพัฒนาที่ดินพร้อมรับลูกโครงการสร้างฝายชะลอน้ำใน 45 จังหวัด เป้าหมาย 1,097 แห่ง เกษตรกรในพื้นที่ต้องมีส่วนร่วม
นายกฤษฏา บุญราช รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยภายหลังมอบนโยบายขับเคลื่อนการดำเนินงาน“การตลาดนำการผลิต”และโครงการไทยนิยม ยั่งยืน ของกรมพัฒนาที่ดิน โดยมีผู้บริหารระดับสูงจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ผู้อำนวยการสำนักพัฒนาที่ดินทั่วประเทศ และเกษตรและสหกรณ์จังหวัดทั่วประเทศร่วมประชุม ณ กรมพัฒนาที่ดิน ว่า การประชุมครั้งนี้มีเป้าหมาย 3 ประเด็นหลัก คือ 1.เพื่อชี้แจงและเน้นย้ำการขับเคลื่อนโครงการไทยนิยมเข็มแข็งของรัฐบาลในส่วนที่กระทรวงเกษตรฯ รับผิดชอบ ภายใต้งบประมาณรายจ่ายเพิ่มเติมปีงบประมาณ พ.ศ. 2561 ของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์จำนวนประมาณ 2.4 หมื่นล้าน ซึ่งจะสามารถจัดซื้อจัดจ้างได้หลังจากประกาศในราชกิจจานุเบกษา
อย่างไรก็ตาม กระทรวงเกษตรฯ ได้เตรียมเมนูทางเลือกโครงการไทยนิยม ยั่งยืน (คนไทยไม่ทิ้งกัน ชุมชนอยู่ดีมีสุข) จำนวน 20 เมนู ที่ครอบคลุมทั้งด้านการผลิตพืช ประมง ปศุสัตว์ ด้านพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน และการสร้างมูลค่าเพิ่มสินค้าทางการเกษตร โดยกรมพัฒนาที่ดินมีอยู่ 3 โครงการที่จะดำเนินการภายใต้โครงการไทยนิยมเข็มแข็ง เช่น โครงการสร้างฝายชะลอน้ำใน 45 จังหวัด เป้าหมาย 1,097 แห่ง แห่งละ 100,000 บาท ที่ได้เน้นย้ำถึงเป้าหมายสำคัญในการดำเนินการ คือ ประชาชนที่ต้องมีส่วนร่วมตั้งแต่ขั้นตอนการกำหนดพื้นที่ดำเนินการ ระหว่างดำเนิน จนถึงการตรวจรับโครงการ และต้องมีเจ้าหน้าที่รัฐดำเนินการตรวจรับ รวมถึงแจ้งให้องค์กรอิสระรับทราบแผนงานโครงการตั้งแต่ก่อนดำเนินการ เพื่อสร้างความมั่นใจและการตรวจสอบความโปร่งใสของโครงการได้
[adrotate banner=”3″]
2.การเน้นย้ำเรื่องความถูกต้อง โปร่งใส ตรวจสอบได้ทุกขั้นตอนของโครงการ เพื่อให้เกิดประโยชน์กับประชาชนอย่างแท้จริงและครอบคลุมมากที่สุด โดยได้สั่งการให้ผู้ตรวจราชการกระทรวงเกษตรฯ กำกับดูแลและตรวจติดตามโครงการทั้ง 3 ระยะ คือ 1 การตรวจแนะนำชี้แจงข้อมูลโครงการทั้ง 20 เมนูให้กับประชาชนได้รับรู้ รับทราบอย่างทั่วถึง 2. การตรวจติดตามโครงการว่าแต่ละขั้นตอนเป็นไปตามแผนหรือไม่ 3. ตรวจสอบความโปร่งใส หรือเรียกง่าย คือ ตรวจจับผิด หากพบความผิดปกติหรือส่อเจตนาที่จะมีการทุจริตก็ต้องมีการสอบสวนข้อเท็จจริงเพื่อป้องปรามไม่ให้เกิดการกระทำผิดได้
3.การสร้างความรู้ความเข้าใจนโยบายตลาดนำการผลิตให้กับเกษตรและสหกรณ์จังหวัดทั่วประเทศ ซึ่งทำหน้าที่เป็นเลขานุการคณะอนุกรรมการพัฒนาการเกษตรและสหกรณ์ระดับจังหวัดที่ตั้งขึ้นใหม่ โดยมีผู้ว่าราชการจังหวัดเป็นประธาน โดยเกษตรและสหกรณ์จังหวัดทุกจังหวัดจะต้องเป็นผู้ประสานงานหลักในการทำงานตามหลักการตลาดนำการผลิต เพื่อแก้ไขปัญหาของเกษตรกรที่มี 3 ปัจจัยหลัก คือ 1.ขาดความรู้ เทคโนโลยีการผลิต 2. ขาดความรู้ด้านการตลาด และ 3. ขาดแคลนแหล่งเงินทุน คือ นอกจากเกษตรและสหกรณ์จังหวัดต้องเป็นหน่วยงานกลางในการประสานหน่วยงานของกระทรวงเกษตรฯ
ทั้งนี้เพื่อบูรณาการพัฒนาและแก้ไขปัญหาด้านองค์ความรู้ด้านการเกษตรในพื้นที่แล้ว ต้องประสาน ธกส.พื้นที่ด้วยเพื่อให้เกษตรกรเข้าถึงแหล่งทุน ประสานงานกับสำนักงานพาณิชย์จังหวัด สำนักงานอุตสาหกรรมจังหวัดและภาคเอกชนในจังหวัด เช่นหอการค้า สภาอุตสาหกรรม บริษัทประชารัฐรักสามัคคีจังหวัดหรือร้านค้าต่างๆ เพื่อติดต่อกับเกษตรกรหรือกลุ่มเกษตรกรหรือสถาบันเกษตรกรในพื้นที่โดยตรง ขณะเดียวกัน สำนักงานเกษตรและสหกรณ์จังหวัดจะต้องรวบรวมข้อมูลผลผลิตทางการเกษตรที่ตลาดต้องการ พร้อมรายละเอียดช่องทางการติดต่อซื้อขายผลผลิตจากเกษตรกรหรือกลุ่มเกษตรกรหรือสถาบันเกษตรกรในจังหวัดส่งให้สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตรเพื่อจัดทำเป็นข้อมูลประกอบการทำเวปไซต์ (website) ด้วย