“อ.ยักษ์”ชู “โครงการหุบกะพง” ต้นแบบเข้มแข็ง

  •  
  •  
  •  
  •  

                               วิวัฒน์ ศัลยกำธร ตรวจเยี่ยมศูนย์สาธิตสหกรณ์โครงการหุบกะพง จำกัด

“อ.ยักษ์” เดินสายลงพื้นที่ตรวจเยี่ยมให้กำลังใจ และรับฟังปัญหาของสมาชิกสหกรณ์ในพื้นที่ จ.เพชรบุรี  พร้อมชูศูนย์สาธิตสหกรณ์โครงการหุบกะพง จำกัด ต้นแบบสหกรณ์ในด้านความเข้มแข็ง พร้อม 

          นายวิวัฒน์ ศัลยกำธร รัฐมนตรีช่วยว่ากระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยภายหลังลงพื้นที่ตรวจเยี่ยมศูนย์สาธิตสหกรณ์โครงการหุบกะพง จำกัด อำเภอชะอำ จังหวัดเพชรบุรี ว่า กระทรวงเกษตรและสหกรณ์มีนโยบายส่งเสริมพัฒนาระบบสหกรณ์ให้เกิดความเข้มแข็ง เนื่องจากการดำเนินธุรกิจของสหกรณ์มีความเกี่ยวข้องกับการพัฒนาความเป็นอยู่ของประชาชนในระดับฐานรากทุกสาขาอาชีพ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในภาคการเกษตร ดังนั้น ทั้งหน่วยงานภาครัฐและขบวนการสหกรณ์ จึงจำเป็นต้องร่วมมือกันขับเคลื่อนระบบสหกรณ์ให้เป็นกลไกหลักของการพัฒนาประเทศเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน

            สำหรับโครงการจัดพัฒนาที่ดินฯ ตามพระราชประสงค์หุบกะพง อำเภอชะอำ จังหวัดเพชรบุรี พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานพระบรมราชานุญาตมอบอำนาจการจัดที่ดินในหมู่บ้านสหกรณ์โครงการหุบกะพง อ.ชะอำ จ.เพชรบุรี เนื้อที่ประมาณ 12,079 ไร่ ให้แก่กรมส่งเสริมสหกรณ์ กับสหกรณ์การเกษตรหุบกะพง จำกัด เพื่อจัดและพัฒนาที่ดินของโครงการให้แก่เกษตรกรที่ไม่มีที่ดินทำกินเป็นของตนเอง หรือมีเพียงเล็กน้อยไม่พอแก่การครองชีพเข้าประกอบการเกษตรโดยไม่ให้กรรมสิทธิ์ตามวัตถุประสงค์ของศูนย์สาธิตสหกรณ์โครงการหุบกะพง

 

           ศูนย์สาธิตสหกรณ์โครงการหุบกะพง จำกัด เป็นสหกรณ์ต้นแบบในพื้นที่โครงการจัดพัฒนาที่ดินฯ ตามพระราชประสงค์หุบกระพง มีกลุ่มอาชีพสังกัดสหกรณ์ที่เข้มแข็งและสามารถให้บริการสมาชิกได้อย่างทั่วถึง มีหน้าที่รับผิดชอบใน 6 ภารกิจหลัก คือ 1.งานจัดพัฒนาที่ดินตามพระราชประสงค์หุบกะพง และงานชลประทาน 2. งานส่งเสริมสหกรณ์ในพื้นที่โครงการฯ 3.งานส่งเสริมอาชีพ (การผลิต) และการตลาด 4.งานเผยแพร่ ประชาสัมพันธ์ 5.งานโครงการพิเศษ สาธิต ทดลองการเกษตร และ 6. งานด้านบริการกิจกรรมเพื่อสังคม มีโครงการที่ดำเนินการ ได้แก่ 1.โครงการส่งเสริมการปลูกหน่อไม้ฝรั่งปลอดสารในพื้นที่โครงการตามพระราชประสงค์หุบกะพง และ 2.โครงการส่งเสริมและพัฒนาตลาดสินค้าเกษตรของสหกรณ์การเกษตรหุบกะพง จำกัด

         อย่างไรก็ตาม โครงการจัดพัฒนาที่ดินฯ ตามพระราชประสงค์หุบกะพง จะต้องมีการพัฒนาสืบสานต่อเนื่องไป โดยพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ทรงเล็งเห็นว่า หากชาวบ้านไม่มีที่ทำกินก็ต้องบุกรุกป่าไปเรื่อยๆ เมื่อป่าหมดคนในเมืองก็ไม่สามารถอยู่ได้ อีกทั้งที่แห่งนี้เป็นแห่งแรกที่พระองค์พระราชทานให้จัดและพัฒนาที่ดินของโครงการให้แก่เกษตรกรที่ไม่มีที่ดินหลากหลายกลุ่ม ทรงห่วงใยราษฎรจะไม่มีที่ทำกิน และมีพระราชประสงค์ให้ทุกกลุ่มอยู่ร่วมกันด้วยความสามัคคี ดังนั้น จึงต้องมีการพัฒนาในด้านต่างๆ เช่น การจัดระบบชลประทานและพัฒนาแหล่งน้ำ การดูแลเครื่องมือเครื่องจักรกลด้านชลประทานให้มีประสิทธิภาพ การส่งเสริมระบบบริหารจัดการสหกรณ์ในพื้นที่โครงการฯ ตลอดทั้งส่งเสริมเรื่องความสามัคคีและความซื่อสัตย์ในกลุ่มสมาชิกสหกรณ์ เป็นต้น

[adrotate banner=”3″]

        “สหกรณ์ต้องไม่หยุดพัฒนาตนเองในมิติต่างๆ โดยเฉพาะด้านสิ่งแวดล้อม ต้องมีการจัดระบบนิเวศให้สมบูรณ์  จัดระบบพัฒนาทั้งในด้านการผลิต การแปรรูปผลิตภัณฑ์ที่จะนำไปจำหน่าย ขณะเดียวกัน ควรเกิดความร่วมมือระหว่างสหกรณ์ด้วยกัน ช่วยเหลือซึ่งกันและกันเพื่อให้เกิดความเข้มแข็งอย่างยั่งยืน และเมื่อได้มีการพัฒนาแล้วควรถ่ายทอดความรู้เพื่อช่วยเหลือสหกรณ์อื่นๆที่อ่อนแอกว่าด้วย โดยความร่วมมือทั้งในประเทศและต่างประเทศเป็นสิ่งที่มีความสำคัญและควรมองข้าม เพราะจะทำให้ได้รับความรู้เพื่อพัฒนาสหกรณ์ต่อไป” นายวิวัฒน์กล่าว

            หลังจากนั้น รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้ลงพื้นที่ตรวจเยี่ยมสหกรณ์อื่นๆในพื้นที่จังหวัดเพชรบุรี อาทิ สหกรณ์นิคมชะอำ จำกัด ที่มีจุดเด่นคือ การมีกระบวนการผลิตผักปลอดภัย การรวมกลุ่มเพื่อลดต้นทุนการผลิต และการทำปุ๋ยอินทรีย์ สหกรณ์เครดิตยูเนี่ยนรวมน้ำใจยาง จำกัด ซึ่งเป็นสหกรณ์ที่มีผลงานดีเด่นระดับภาค ประจำปี 2560 เป็นองค์กรที่สำคัญของชุมชน ทำให้ผู้เป็นสมาขิกทีดีขึ้น สามารถพึ่งพาตนเองได้ ชุมชนเกิดความเข้มแข็งช่วยให้เกิดความสามัคคีในกลุ่ม และสหกรณ์การเกษตรบ้านลาด จำกัด ที่มีจุดเด่นคือ ส่งเสริมการผลิตและรวบรวทกล้วยหอมทองปลอดสารพิษเพื่อการส่งออกระหว่างไทย-ญี่ปุ่น ปริมาณธุรกิจ 20-30 ล้านบาท/ปี และการส่งเสริมให้สมาชิกปลูกผักปลอดสารพิษ