วว. สำเร็จพัฒนาวัสดุกันกระแทกจากขุยมะพร้าวทดแทนโฟม มีความหนาแน่น-เนำหนักเบากว่า ตอบโจทย์การตลาดยุคออนไลน์

  •  
  •  
  •  
  •  

ศูนย์การบรรจุหีบห่อไทย สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีฯ กระทรวงการอุดมศึกษาฯ ประสบผลสำเร็จในการพัฒนาวัสดุบรรจุภัณฑ์กันกระแทกจากขุยมะพร้าวทดแทนโฟม มีความหนาแน่นมากกว่าโฟม น้ำหนักเบา เปํนมิตรกับสิ่งแวดล้อม ตอบโจทย์การตลาดยุคออนไลน์

 “ขุยมะพร้าว” เป็นวัสดุเหลือใช้จากการใช้ประโยชน์เส้นใยมะพร้าวในการผลิตเฟอร์นิเจอร์ ประเภท ที่นอน เบาะรองนั่ง ฯลฯ มีลักษณะเป็นผงสีนํ้าตาล มีความละเอียดประมาณเม็ดทราย แห้งสนิท มีคุณสมบัติที่เบา อุ้มน้ำได้ดี และเก็บความชื้นไว้ได้นาน เมื่อจะนำมาใช้ต้องพรมน้ำให้ขุยมะพร้าวมีความชื้นพอเหมาะ ไม่แฉะ และไม่แห้งเกินไป  โดยทั่วไปมักมีการนำขุยมะพร้าวมาใช้เป็นวัสดุปลูก เนื่องจากเป็นวัสดุที่หาได้ง่ายและมีคุณสมบัติน่าสนใจ สามารถนำมาพัฒนาเป็นวัสดุที่สอดคล้องกับการใช้งานเพื่อทดแทนพลาสติกและโฟมได้  ดังเช่น การใช้เป็นวัสดุกันกระแทกสำหรับขวดแก้วเพื่อทดแทนโฟม

 ผ่านการดำเนินงานของ  ศูนย์การบรรจุหีบห่อไทย  (ศบท.)  โดย  สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย (วว.)  กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.)  ประสบผลสำเร็จในการพัฒนา วิธีการขึ้นรูปขุยมะพร้าวเป็นวัสดุบรรจุภัณฑ์ (อนุสิทธิบัตรเรื่องสูตรและกรรมวิธีการขึ้นรูปบรรจุภัณฑ์จากขุยมะพร้าวด้วยคลื่นไมโครเวฟ เลขที่ยื่นจด 2303002175)

ทั้วนี้วิธีการขึ้นรูปที่พัฒนาขึ้นนั้น มีข้อดีหลายประการ ได้แก่  1. สามารถขึ้นรูปได้อย่างอิสระ (Free form Molding) โดยไม่จำเป็นต้องมีแม่พิมพ์เฉพาะ, 2 สามารถใช้วัสดุเดี่ยว (Mono material) ในการขึ้นรูปได้, 3. กระบวนการขึ้นรูปไม่ซับซ้อน จึงขยายสเกลสู่ระดับอุตสาหกรรมได้ง่ายด้วยต้นทุนต่ำ ,และ 4. สามารถนำไปประยุกต์ใช้กับเส้นใยธรรมชาติชนิดอื่นๆ ได้ 

จากการพัฒนา “วิธีการขึ้นรูปขุยมะพร้าวเป็นวัสดุบรรจุภัณฑ์” ดังกล่าว ได้นำมาสู่การออกแบบและพัฒนา วัสดุกันกระแทกจากขุยมะพร้าวทดแทนโฟม  สำหรับการขนส่งแบบพัสดุ ซึ่งเป็นรูปแบบการขนส่งที่ใช้ทั่วไปในปัจจุบัน ผ่านช่องทางการจำหน่ายสินค้าออนไลน์ ที่เข้าถึงลูกค้าได้ไม่จำกัดจำนวน  ลดต้นทุนหน้าร้าน  พร้อมโฆษณาและทำการตลาดได้ตรงจุด

ศูนย์การบรรจุหีบห่อไทย วว. ได้ทำการทดสอบคุณสมบัติที่จำเป็นตามมาตรฐานในห้องปฏิบัติการ ได้แก่  ความหนาแน่น การทดสอบการต้านแรงกด (ASTM D 1621 : Standard Test Method for Compressive Properties Of Rigid Cellular Plastics) และการทดสอบการจำลองการขนส่งแบบพัสดุ (International Safe Transit Association: Packaged-Product for Pacel Delivery System Shipment 70 kg (150 lb) or Less)

เมื่อเปรียบเทียบกับวัสดุกันกระแทกจากโฟมพบว่า ความหนาแน่นเฉลี่ยของวัสดุกันกระแทกจากขุยมะพร้าวมีค่าประมาณ 0.3 กรัม/ลูกบาศก์เซ็นติเมตร ส่วนวัสดุกันกระแทกจากโฟมมีค่าประมาณ 0.03 กรัม/ลูกบาศก์เซนติเมตร จะเห็นได้ชัดว่าวัสดุกันกระแทกจากขุยมะพร้าวมีความหนาแน่นมากกว่าโฟม ทั้งๆ ที่มีขนาด/รูปร่างใกล้เคียงกัน และส่งผลให้วัสดุกันกระแทกจากโฟมมีน้ำหนักมากกว่าเช่นกัน แต่วัสดุกันกระแทกจากขุยมะพร้าวยังคงมีน้ำหนักเบามาก เทียบเคียงได้เท่ากับน้ำหนักของเส้นใยนุ่นซึ่งถือว่าเป็นเส้นใยที่เบาที่สุดในโลก โดยมีความหนาแน่น 0.29-0.305 กรัม/ลูกบาศก์เซนติเมตร

นอกจากนี้ยังพบว่า วัสดุกันกระแทกจากขุยพร้าวมีคุณสมบัติในการต้านแรงกดที่น้ำหนักกดทับสูงสุด 15 กิโลกรัมแรง คล้ายคลึงกับวัสดุกันกระแทกจากโฟม และสามารถคุ้มครองขวดแก้วบรรจุแยมจากแรงกระทบกระทั่งระหว่างการขนส่งแบบพัสดุได้เทียบเท่ากับโฟม

ตัวอย่างขวดแก้วบรรจุแยมที่ใช้ในการทดสอบไม่เกิดการเสียหายใดๆ ยังคงมีสภาพสมบูรณ์ดังเดิมหลังผ่านการทดสอบ แสดงให้เห็นว่าวัสดุกันกระแทกจากขุยมะพร้าวสามารถใช้ทดแทนวัสดุกันกระแทกจากโฟมได้ในการขนส่งแบบพัสดุโดยมีข้อดีเพิ่มเติมในประเด็นของการช่วยลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและการใช้ประโยชน์จากวัสดุเหลือทิ้งทางการเกษตร ซึ่งสอดคล้องกับแนวทางของเศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular Economy)

จากคุณสมบัติของ “วัสดุกันกระแทกจากขุยมะพร้าวทดแทนโฟม” ดังกล่าวข้างต้น  หากมีการใช้อย่างแพร่หลาย จะช่วยเพิ่มมูลค่าของวัสดุเหลือทิ้ง   สร้างผลิตภัณฑ์ใหม่และสร้างทางเลือกให้แก่ผู้ประกอบการและผู้บริโภค ในการคัดสรรประเภทธุรกิจและคัดสรรผลิตภัณฑ์ที่จะนำมาใช้ในการดำเนินชีวิต  วว. โดย ศูนย์การบรรจุหีบห่อไทย  พร้อมถ่ายทอดเทคโนโลยีการผลิตผลงานวิจัยและพัฒนานี้สู่เชิงพาณิชย์  สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ Call center วว. โทร. 0 2577 9000 หรือที่  “วว. JUMP”

สำหรับผู้ประกอบการที่ต้องการพัฒนาด้านบรรจุภัณฑ์ จาก ศูนย์การบรรจุหีบห่อไทย รวมทั้งการให้คำปรึกษา วิจัย บริการและพัฒนาบรรจุภัณฑ์ที่มีความเหมาะสมกับผลิตภัณฑ์ ทั้งในแง่ของการปกป้องคุ้มครองคุณภาพและสร้างแรงจูงใจให้เกิดการซื้อ ที่ก่อให้เกิดผลลัพธ์ซึ่งสามารถแก้ปัญหาที่ผลิตภัณฑ์ประสบอยู่ พร้อมทั้งช่วยยกระดับมาตรฐานของผลิตภัณฑ์ให้สูงขึ้น ช่วยลดต้นทุนบรรจุภัณฑ์ ช่วยยืดอายุการเก็บรักษาของผลิตภัณฑ์อาหารและเพิ่มมูลค่าสินค้า

ผู้ประกอบการ SMEs วิสาหกิจชุมชน สามารถนำผลงานไปใช้ในเชิงพาณิชย์ นำไปสู่การเพิ่มโอกาสทางการตลาดทั้งภายในประเทศและต่างประเทศ ส่งผลให้ผู้ผลิตมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น สามารถเพิ่มศักยภาพในการแข่งขันพร้อมสู่ตลาดการค้าโลกต่อไป สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมและรับบริการ  ได้ที่  โทรศัพท์ 0 2579 1121-30 ต่อ 3101, 3208 , 081 702 8377  โทรสาร 0 2579 7573   E-mail : TPC-tistr@tistr.or.th