การยางฯครบรอบปีที่ 9 เปิดบ้านต้อนรับ – โชว์เทคโนโลยีและนวัตกรรมเพื่อการบริหารจัดการอย่างมีประสิทธิภาพ ภายใต้แนวคิด “RAOT Thai Rubber, The next chapter” พร้อมเปิดตัว “รถ Mobile Unit” จัดเก็บ CESS และการเปิดร้านค้าจำหน่ายผลิตภัณฑ์ยาง Greenergy Shop by RAOT ด้วย
ร้อยเอก ธรรมนัส พรหมเผ่า รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยในพิธีเปิดงานวันสถาปนาการยางแห่งประเทศไทย ( กยท.) ครบรอบปีที่ 9 ว่า 9 ปีที่ผ่านมา กยท. เป็นองค์กรกลางที่มีบทบาทสำคัญในการบริหารจัดการยางพาราทั้งระบบ มีความผูกพันกับชีวิตพี่น้องเกษตรกรชาวสวนยางไทย และมีผลงานเด่นเป็นที่ประจักษ์หลายด้าน โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วง 1 ปีหลัง ที่มีการเดินหน้าขับเคลื่อนมาตรการด้านยางพาราอย่างจริงจัง จนเป็นที่ยอมรับและได้รับความน่าเชื่อถือจากกลุ่มผู้ซื้อและผู้เกี่ยวข้องในภาคอุตสาหกรรมยาง
ทั้งนี้ควบคู่กับมาตรการต่างๆภายใต้นโยบายรัฐบาลในการพัฒนาและแก้ไขปัญหายางพาราอย่างมีประสิทธิภาพ ได้แก่ นโยบายการจัดการทรัพยากรทางการเกษตร ทำเกษตรที่ใส่ใจสิ่งแวดล้อม ด้วยการบริหารจัดการคาร์บอนเครดิตในสวนยางระบบตรวจสอบย้อนกลับ (Traceability) ภายใต้กฎระเบียบ EUDR ที่ให้ความสำคัญกับสิ่งแวดล้อมและการผลักดันโครงการโฉนดต้นยางพารา โฉนดเพื่อการเกษตรในพื้นที่สวนยาง แปลงสินทรัพย์ให้เป็นทุนเพื่อนำไปต่อยอดในอาชีพ ช่วยให้พี่น้องชาวสวนยางมีรายได้และคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น
“กยท. เดินทางมาถึงปีที่ 9 ในวันที่ 15 กรกฎาคม 2567 สิ่งสำคัญที่น่าภาคภูมิใจ คือ กยท. ได้ช่วยขับเคลื่อนการสร้างเสถียรภาพด้านราคายางและเพิ่มรายได้ให้พี่น้องชาวสวนยาง ตามนโยบายกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ทำให้ราคายางปรับตัวสูงขึ้นต่อเนื่องสูงสุดในรอบ 7 ปี ขอให้ภาคภูมิใจว่า องค์กรแห่งนี้มีบทบาทสำคัญในการสร้างรากฐาน การขับเคลื่อน การพัฒนา ให้ยางพาราเป็นพืชเศรษฐกิจอุตสาหกรรมที่แข็งแกร่ง สู่การเป็นผู้นำด้านยางพาราที่สร้างความเปลี่ยนแปลงที่ดีขึ้นในทุกมิติ ทั้งเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม” ร้อยเอก ธรรมนัส กล่าว
โอกาสนี้ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้ให้เกียรติมอบรางวัลชนะเลิศสถาบันเกษตรกรชาวสวนยางดีเด่น เครือข่ายเกษตรกรชาวสวนยางดีเด่น ระดับประเทศ และมอบโล่รางวัลยกย่องเชิดชูคนดี มีคุณธรรม กยท. ประจำปี 2567 แก่พนักงานและลูกจ้างที่มีความทุ่มเท ตั้งใจทำงานด้วยความซื่อสัตย์ สุจริตไม่คดโกงหรือหาผลประโยชน์อื่นใดในองค์กร เพื่อเป็นขวัญกำลังใจในการขับเคลื่อนงานตามภารกิจเพื่อประโยชน์ของผู้เกี่ยวข้องทุกภาคส่วนในวงการยางพาราต่อไป
ด้านนายสุขทัศน์ ต่างวิริยกุล รองผู้ว่าการด้านปฏิบัติการ กล่าวว่า กยท.เดินทางเข้าสู่ปีที่ 9 ในวันนี้ ซึ่งตลอดระยะเวลาที่ผ่านมาได้ทำให้เห็นแล้วว่าเรามุ่งมั่นตั้งใจในการพัฒนาและแก้ไขปัญหายางพาราอย่างครบคลุมทุกด้าน ไม่ว่าจะเป็นการนำเทคโนโลยีนวัตกรรมมาสนับสนุนการดำเนินงาน เพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดแก่พี่น้องชาวสวนยาง และผู้ประกอบการ เช่น ระบบ Thai Rubber Trade ที่นำเทคโนโลยี Block chain มาใช้กับการซื้อขายยางในตลาดกลางยางพาราของ กยท. ทั้ง 8 แห่ง
ทำให้ผู้ซื้อและผู้ขายมั่นใจได้ว่าทุกกระบวนการเป็นไปอย่างโปร่งใสและเป็นธรรม และยังนำนวัตกรรมต่างๆ มาช่วยในการจัดการยางพาราทั้งระบบ ตั้งแต่ต้นน้ำ กลางน้ำ ปลายน้ำ เริ่มจากการบริหารจัดการภายในสวนยาง ไปจนถึงการเก็บเกี่ยว เพื่อเพิ่มคุณภาพและปริมาณของผลผลิตยางยางพารา สร้างรายได้สูงสุดให้เกษตรกร รวมถึงการพัฒนาคุณภาพมาตรฐานยางพารา ผลักดันสู่สินค้าเชิงพาณิชย์ โดยการเปิดตัวล้อยางและผลิตภัณฑ์ยางภายใต้แบรนด์ “Greenergy” ของ กยท. ที่ใช้วัตถุดิบยางจากเกษตรกร สถาบันเกษตรกรชาวสวนยาง ซึ่งเป็นส่วนสำคัญ
ในการกระตุ้น ขยายโอกาสการแข่งขัน และสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับยางพารา
เนื่องในโอกาสครบรอบปีที่ 9 กยท. จึงถือโอกาสนี้เปิดตัว “รถ Mobile Unit” ในโครงการพัฒนาระบบสารสนเทศเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการจัดเก็บ CESS (Smart CESS) ซึ่งเป็นรถตรวจสอบการชำระค่าธรรมเนียมของ กยท. มีการนำเทคโนโลยี GPS Tracking เข้ามาใช้ในการติดตามรถขนส่งยางที่ผู้ประกอบการลงทะเบียนไว้ โดยเตรียมประจำจุดให้บริการ ณ ด่านศุลกากรทั้ง 6 แห่ง กระจายทั่วประเทศในเดือนตุลาคมนี้ นอกจากนี้ ยังมีการเปิดตัวร้านค้า “Greenergy Shop by RAOT” ประจำ กยท. สำนักงานใหญ่ ซึ่งจำหน่ายผลิตภัณฑ์จากยางพารา เป็นการเพิ่มช่องทางการเข้าถึงผู้บริโภคและเพิ่มช่องทางสร้างรายได้เกษตรและสถาบันเกษตรกรชาวสวนยางอีกทางหนึ่ง
ภายในงานมีกิจกรรมอื่นๆ ที่น่าสนใจ ได้แก่ การมอบหุ่นยางพาราฝึกช่วยฟื้นคืนชีพ (CPR) ให้แก่หน่วยงานภาครัฐและเอกชน เพื่อนำไปใช้เรียนรู้ ฝึกปฏิบัติให้แก่บุคลากรในสังกัดและประชาชนทั่วไป นอกจากนี้ มีการจัดแสดงผลงานเด่น งานวิจัย เทคโนโลยี และนวัตกรรมด้านยางพาราของ กยท. อีกมากมาย รวมถึงโซนFarm Local to Global Showcase ผลิตภัณฑ์ท้องถิ่นไทยสู่มาตรฐานโกอินเตอร์ (ของดี 7 เขต) จัดแสดงและจำหน่ายผลิตภัณฑ์แปรรูปยางพาราและสินค้าบริโภคซึ่งเป็นผลผลิตจากการจัดการสวนยางยั่งยืนจากเกษตรกรชาวสวนยาง สถาบันเกษตรกร และผู้ประกอบกิจการยาง ภายใต้การดูแลและสนับสนุนจาก กยท. ทั้ง 7 เขต