สกสว. หนุน ม.เชียงใหม่สู่แหล่งผลิตนวัตกรรมระดับพรีเมียม เปิดพอร์ต 7 นวัตกรรมเด่นภายใต้กองทุน ววน.

  •  
  •  
  •  
  •  

สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม หรือ สกสว. ร่วมกับมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ เปิดพื้นที่ระดมความคิดเห็นและหารือแนวทางการบริหารงบประมาณและการนำผลงานวิจัยจากมหาวิทยาลัยไปใช้ประโยชน์ พร้อมโชว์ 7 โครงการวิจัยเด่นของ มช.ได้รับการสนับสนุนจากกองทุน ววน. 

ดร.ณิรวัฒน์ ธรรมจักร์ รองผู้อำนวยการ สกสว. กำกับดูแลกลุ่มภารกิจพัฒนา ววน. ด้านกำลังคนและสถาบันความรู้ กล่าวว่า กรอบการดำเนินงานของกองทุน ววน. ประกอบด้วย 1. การจัดทำแผนด้าน ววน. และแผนรายสาขาที่มีเป้าหมาย 2. การจัดสรรงบประมาณจากกองทุน ววน. ระบบงบประมาณแบบ Multiyear และ Block Grant ให้หน่วยรับงบประมาณด้าน ววน. คือ หน่วยบริหารและจัดการทุน (PMU) สถาบันอุดมศึกษา และหน่วยงานในระบบ ววน. ทั้งในและนอกกระทรวง อว. 3. การเสริมพลังและขับเคลื่อนระบบและบุคลากร ววน. 4. การสร้างระบบการนำผลงาน ววน. ไปใช้ประโยชน์ รวมถึงการถ่ายทอดเทคโนโลยี และ5. การประเมินผลการดำเนินงานของระบบ ววน. ของประเทศ

“รูปแบบงบประมาณของกองทุน ววน. ในปัจจุบันตามนโยบายของคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (กสว.) แบ่งเป็น 2 ส่วน คือ 1. งบประมาณด้านการวิจัยและนวัตกรรม (การวิจัยและนวัตกรรม และการนำผลงานวิจัยไปใช้ประโยชน์) ภายใต้ 4 ยุทธศาสตร์หลัก คือ การพัฒนาเศรษฐกิจฯ การยกระดับสังคมและสิ่งแวดล้อมฯ การวิจัยและนวัตกรรมขั้นแนวหน้าฯ และการพัฒนากำลังคนและสถาบันฯ และ 2.งบประมาณโครงการพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี เพื่อยกระดับการให้บริการด้านวิทยาศาสตร์ ความสามารถในการผลิต การพัฒนาบุคลากร การพัฒนาต่อยอดเทคโนโลยี การพัฒนาขีดความสามารถ และการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานของประเทศ” ดร.ณิรวัฒน์ กล่าว

ด้่น รศ. ดร. วินิตา บุณโยดม รองอธิการบดี มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ กล่าวว่า ตามยุทธศาสตร์ของมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ “CMU Vision” มุ่งสู่การเป็นมหาวิทยาลัยชั้นนำที่รับผิดชอบต่อสังคมเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืนด้วยนวัตกรรม โดยการบูรณาการความเชี่ยวชาญในสาขาวิชาที่หลากหลายเพื่อสร้างนวัตกรรมสู่ความยั่งยืน ภายใต้ 6 ยุทธศาสตร์หลัก ตามแผนพัฒนาฯ มช. ระยะที่ 13 คือ 1. สร้างการพัฒนาที่ยั่งยืน ด้านนวัตกรรมเศรษฐกิจฐานชีวภาพ 2. สร้างการพัฒนาที่ยั่งยืน ด้านนวัตกรรมการแพทย์ สุขภาพและการดูแลผู้สูงอายุ 3. สร้างการพัฒนาที่ยั่งยืน ด้านล้านนาสร้างสรรค์ 4. สร้างการพัฒนาที่ยั่งยืน ด้านการจัดการศึกษา 5. สร้างการพัฒนาที่ยั่งยืน ด้านการวิจัยและนวัตกรรม และ 6. บริหารจัดการองค์กรสู่ความเป็นเลิศ ด้วยการจัดการศึกษาที่ตอบโจทย์ความต้องการของผู้เรียน เชื่อมโยงไปสู่การสร้างองค์ความรู้ขั้นแนวหน้าในด้านการวิจัยให้เกิดการนำนวัตกรรมไปใช้ประโยชน์ สร้าง Startup และบริการวิชาการรับใช้สังคม

ขณะที่กรอบวิจัยมุ่งเป้า มช. 66-70 นั้นมีความสอดคล้องกับนโยบายของระบบ ววน. ที่มุ่งเน้นด้านการพัฒนาเศรษฐกิจ BCG และการยกระดับสังคมและสิ่งแวดล้อม สร้างระบบนิเวศที่เหมาะสมในการบูรณาการองค์ความรู้สำหรับการวิจัยและนวัตกรรม โดยพัฒนากลไกสนับสนุนเพื่อผลักดันให้เกิดงานวิจัยพื้นฐานที่มีผลกระทบสูง งานวิจัยขั้นแนวหน้าและงานวิจัยเชิงลึก ส่งเสริมการสร้างสรรค์และถ่ายทอดนวัตกรรมที่มีมูลค่าสูงเพื่อใช้ประโยชน์ในเชิงพาณิชย์ ชุมชนและสังคมต่อไป

ขณะที่ ผศ. ดร.ชินวุธ พิพัฒน์ภานุกุล รองผู้อำนวยการกลุ่มภารกิจพัฒนา ววน. ด้านกำลังคนและสถาบันความรู้ เปิดเผยว่า การรับงบประมาณจากกองทุน ววน. ของมหาวิทยาลัยเชียงใหม่แบ่งสัดส่วนและแนวทางงานวิจัยในปี 2568 เป็น การวิจัยและนวัตกรรมขั้นแนวหน้าด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี 35% การวิจัยและนวัตกรรมขั้นแนวหน้าเพื่อเกษตร อาหาร และสารสกัดมูลค่าสูงสู่อุตสาหกรรม BCG 34% การวิจัยขั้นแนวหน้าด้านวิทยาศาสตร์สุขภาพและการแพทย์ 29% และงานวิจัยและนวัตกรรม สังคมศาสตร์ มนุษยศาสตร์และอารยธรรมล้านนา เพื่อการพัฒนาอย่างสร้างสรรค์และยั่งยืน 2% ซึ่งจากการดำเนินงาน

ปัจจุบันมีโครงการวิจัยที่มีเป้าหมายส่งเสริมความก้าวหน้าทางเศรษฐกิจและสังคมได้อย่างเป็นรูปธรรมได้แก่ โครงการ PM2.5 โครงการกิจกรรมพัฒนาระบบนิเวศนวัตกรรมด้านการแพทย์ในย่านนวัตกรรมการแพทย์สวนดอก, โครงการพัฒนาระบบบริการเพื่อการดูแลภาวะฉุกเฉินด้านการแพทย์และสาธารณสุขครบวงจร, โครงการศูนย์รวมผู้เชี่ยวชาญด้านเครื่องเร่งอิเล็กตรอนและเลเซอร์อิสระอินฟราเรด/เทร่าเฮิรตซ์ เพื่อเสริมแกร่งระบบนิเวศการวิจัยขั้นแนวหน้าของประเทศไทย

 โครงการพัฒนาศักยภาพทางธุรกิจและการเพิ่มมูลค่าผลิตภัณฑ์โคมล้านนา สำหรับผู้ประกอบการในตำบลท่าศาลา อ.เมือง จ.เชียงใหม่, โครงการลำเหมืองที่หายไป… ว่าด้วยการพลิกฟื้นและจัดการทุนวัฒนธรรมที่เกิดจากสายน้ำ, และโครงการพัฒนาแผนจิตภาพและข้อเสนอการพัฒนาคลองแม่ข่าเมืองเชียงใหม่ซึ่งทั้ง 7 โครงการเป็นนวัตกรรมที่ตอบโจทย์บริบทเมืองทั้งด้านเศรษฐกิจ วัฒนธรรมและภูมิปัญญา รวมทั้งการยกระดับคุณภาพชีวิต และสามารถนำไปใช้ประโยชน์ได้ในวงกว้าง