กรมวิชาการเกษตร สำเจ็จในการสกัดโปรตีนไฮโดรไลเซทจากการย่อยเห็ดฟาง มาใช้เป็นวัตถุดิบผลิตโลชั่นบำรุงผิว ทำให้ผิวชุ่มชื้น เรียบเนียน ลดความหมองคล้ำ ยกกระชับผิว แถมยังเพิ่มมูลค่าเห็ดฟางด้วย
นายรพีภัทร์ จันทรศรีวงศ์ อธิบดีกรมวิชาการเกษตร เปิดเผยว่า “เห็ดฟาง” ถือเป็นเห็ดยอดนิยมในประเทศไทย มีปริมาณการผลิตสูงคิดเป็น 75% ของผลผลิตเห็ดทั้งหมดในประเทศ มีอายุการเก็บรักษาสั้น โดยเฉพาะเห็ดฟางดอกบาน ซึ่งไม่นิยมบริโภค และเน่าเสียได้ง่าย ทำให้เกิดความสูญเสียของผลผลิตทางการเกษตร กองวิจัยและพัฒนาวิทยาการหลังการเก็บเกี่ยวและแปรรูปผลิตผลเกษตร (กวป.) กรมวิชาการเกษตร จึงมีแนวคิดเพิ่มมูลค่าเห็ดฟางโดยนำมาแปรรูปเพิ่มการใช้ประโยชน์ให้มีความหลากหลายมากขึ้น เนื่องจากเห็ดฟางมีโปรตีนสูง และมีกรดอะมิโนที่จำเป็นต่อร่างกายและมีความสำคัญต่อผิวสามารถเป็นแหล่งวัตถุดิบของนวัตกรรมในวงการเครื่องสำอางได้ด้วย
สุรีย์รัตน์ รักเหลือ
ด้านนางสาวสุรีย์รัตน์ รักเหลือ นักวิทยาศาสตร์ชำนาญการ กลุ่มวิจัยและพัฒนาการแปรรูปผลิตผลเกษตร ทีมนักวิจัยกรมวิชาการเกษตร กล่าวว่า งานวิจัยการผลิตโปรตีนไฮโดรไลเซทจากเห็ดฟาง มีวัตถุประสงค์เพื่อเพิ่มมูลค่าเห็ดฟาง โดยเฉพาะเห็ดฟางดอกบานที่ใกล้หมดอายุการวางจำหน่าย และราคาตกต่ำ ด้วยการผลิตเป็นโปรตีนไฮโดรไลเซท สำหรับเป็นวัตถุดิบในผลิตภัณฑ์เครื่องสำอาง โดยศึกษาการใช้เอนไซม์อัลคาเลส ในการย่อยเห็ดฟางที่ระยะเวลาการย่อย 2, 3, 4 และ 5 ชั่วโมง เพื่อคัดเลือกโปรตีนไฮโดรไลเซท ที่มีคุณภาพเหมาะสมที่สุดในการนำไปประยุกต์ใช้ในผลิตภัณฑ์โลชั่นบำรุงผิว
จากผลการทดลองพบว่าโปรตีนไฮโดรไลเซทที่ได้จากการย่อยเห็ดฟางดอกบานที่ระยะเวลา 4 ชั่วโมง มีความสามารถในการต้านอนุมูลอิสระสูงที่สุดและสูงกว่าวิตามินซีถึง 30.36% รวมทั้งยังพบว่าโปรตีนไฮโดรไลเซทที่ได้จากการย่อยเห็ดฟางดอกตูม 3 ชั่วโมง มีความสามารถในการยับยั้งเอนไซม์ไทโรซิเนสที่เป็นสาเหตุของความหมองคล้ำสูงที่สุดจึงเลือกนำโปรตีนไฮโดรไลเซทจากการย่อยเห็ดฟางดอกบานที่ 4 ชั่วโมง และดอกตูมที่ 3 ชั่วโมง มาผสมใช้ร่วมกันในอัตราส่วน 1:1 เพื่อให้ได้คุณสมบัติในการต้านอนุมูลอิสระและยับยั้งเอนไซม์ไท โรซิเนส ไปประยุกต์ใช้เป็นส่วนผสมในโลชั่นบำรุงผิวที่ความเข้มข้น 0.5%
โดยผลิตภัณฑ์โลชั่นที่ได้เป็นไปตามมาตรฐานอุตสาหกรรมเอสผลิตภัณฑ์บำรุงผิวผสมสมุนไพร และได้การยอมรับจากผู้ทดสอบด้าน สี ความหนืด การซึมสู่ผิว ความเหนียวเหนอะหนะ กลิ่นหลังทา ความชุ่มชื่นหลังทา โดยผลิตภัณฑ์โลชั่นบำรุงผิวผสมโปรตีนไฮโดรไลเซทจากเห็ดฟางมีปริมาณ 250 กรัม มีต้นทุนค่าวัตถุดิบ 53.69
นางสาวสุรีย์รัตน์ กล่าวต่อไปว่า เนื่องจากผิวหนังของมนุษย์มีโปรตีนเป็นองค์ประกอบ ในระหว่างวันจะมีการสูญเสียโปรตีนจากการเสื่อมสภาพของเซลล์ รังสียูวี และมลภาวะ สามารถซ่อมแซมผิวเนื่องจากการสูญเสียโปรตีนด้วยการใช้ผลิตภัณฑ์เครื่องสำอางที่มีส่วนผสมของโปรตีนไฮโดรไลเซท โดยเฉพาะเห็ดฟางเมื่อนำมาทำเป็นโปรตีนโฮโดรไลเชท จะมีคุณสมบัติในการทดแทนโปรตีนที่สูญเสียไประหว่างวัน โดยจะจับตัวกับน้ำและผิวจึงยึดเกาะกับน้ำและผิวหน้าได้โดยตรง และสามารถซ่อมแซมส่วนที่สึกหรอได้ ทำให้ผิวมีความชุ่มชื้น เรียบเนียน เพิ่มความยืดหยุ่น ยกกระชับผิว โปรตีนไฮโดรไลเซทจากเห็ดฟางจึงมีประสิทธิภาพในการดูแลผิวพรรณครบถ้วน ทำให้เห็ดฟางเป็นทางเลือกที่น่าสนใจ
สำหรับเกษตรกรสนใจในการพัฒนาและเพิ่มมูลค่าให้กับผลิตภัณฑ์ ผู้ที่สนใจสามารถติดต่อสอบถามข้อมมูลเพิ่มเติมได้ที่ กลุ่มวิจัยและพัฒนาการแปรรูปผลิตผลเกษตร กรมวิชาการเกษตร โทรศัพท์ 0-2940-5468-9