มิติใหม่ภาคการเกษตรไทย ในยุค “ธรรมนัส” คุมกระทรวงเกษตรฯ เริ่มให้ความสำคัญเทคโนโลยีชีวภาพสมัยใหม่ที่มีความปลอดภัยสูงกันแล้ว ล่าสุดกรมวิชาการเกษตร เตรียมระดมมันสมองถก “เทคโนโลยีชีวภาพสมัยใหม่ในการแก้ปัญหาภาวะวิกฤตโลกเดือด และศัตรูพืชอุบัติใหม่” ในวันที่ 29 มกราคม 2567 ขณะที่ “อธิบดีระพีภัทร์ จันทรศรีวงศ์” ยืนยันในเวทีสัมมนา “ความเข้าใจกฎระเบียบการควบคุมเทคโนโลยี Gene Editing”ที่ร่วมกับกระทรวงเกษตรสหรัฐ ว่าการปรับแก้ไขยีนที่มีความปลอดภัยสูงไม่ใช่การตัดต่อข้ามสายพันธุ์เหมือน GMOs
นายระพีภัทร์ จันทรศรีวงศ์ อธิบดีกรมวิชาการเกษตร กล่าวภายหลังสัมมนาร่วมกับ ดร. อดัม คอร์นิช (Dr. Adam Cornish) ที่ปรึกษาด้านการเกษตร สำนักงานนโยบายการเกษตร กองเศรษฐกิจและความสัมพันธ์ทางธุรกิจ กระทรวงการต่างประเทศ และ Ms. Kelley Stange ที่ปรึกษาเอกอัครราชทูตฝ่ายการเกษตร ประจำสถานทูตอเมริกาแห่งประเทศไทย ในประเด็น “ความเข้าใจกฎระเบียบการควบคุมเทคโนโลยี Gene Editing” ณ ห้องประชุม 314 ชั้น 3 ตึกกสิกรรม กรมวิชาการเกษตร บางเขน กรุงเทพฯ เมื่อวันที่ 24 มกราคม 2567 ว่า ตามที่ ร้อยเอก ธรรมนัส พรหมเผ่า รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ มีนโยบาย “ตลาดนำ นวัตกรรมเสริม เพิ่มรายได้” โดยการยกระดับรายได้เกษตรกรเพิ่มขึ้น 3 เท่า ภายใน 4 ปี นั้น
ระพีภัทร์ จันทรศรีวงศ์
กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้เล็งเห็นถึงความสำคัญของเทคโนโลยี และเทคโนโลยีชีวภาพสมัยใหม่ (Modern biotechnology) รวมถึงประเด็น การปรับแก้ยีน หรือ Gene editing (GEd) ที่มีความปลอดภัยสูง และไม่ใช่การตัดต่อข้ามสายพันธุ์เหมือน GMOs ทั้งนี้การปรับแก้พันธุกรรมพืช ด้วยเทคโนโลยี GEd โดยใช้พันธุกรรมที่มาจากพืชที่สามารถผสมกันเองในธรรมชาติ ทำให้การปรับปรุงพันธุ์พืชมีความแม่นยำ ลดเวลาที่ต้องเคยใช้เพื่อคัดหาพันธุ์ใหม่ลง ช่วยให้เกษตรกรเข้าถึงพันธุ์พืชที่มีความแข็งแรง ผลผลิตเพิ่มขึ้น ต้านทานต่อโรคและแมลง ทนทานต่อสภาวะแวดล้อมที่ไม่เหมาะสม และมีโภชนาการที่เพิ่มขึ้นได้รวดเร็วทันสถานการณ์การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ และความต้องการอาหารจากจำนวนประชากรที่เพิ่มขึ้น
อธิบดีกรมวิชาการเกษตร กล่าวอีกว่า การสร้างการรับรู้ และความเข้าใจ การปรับปรุงพันธุ์พืชด้วยเทคโนโลยี GEd อย่างถูกต้อง เป็นเรื่องจำเป็นอย่างยิ่ง ดังนั้น จึงมีความจำเป็น และควรหาจุดยืนสำหรับการใช้เทคโนโลยีชีวภาพสมัยใหม่ที่มีความปลอดภัยสูง ภายใต้สถานการณ์ของโลกที่ประสบกับปัญหาวิกฤต การเปลี่ยนแปลงสภาพอากาศอย่างรวดเร็ว การแพร่ระบาดของศัตรูพืชอุบัติใหม่ ที่สร้างความเสียหายภาคการเกษตร เพื่อส่งเสริม และยกระดับความสามารถในการแข่งขันของภาคการผลิตสินค้าเกษตรปลอดภัย มูลค่าสูง ของประเทศไทย
ทั้งนี้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรฯ ได้เห็นความสำคัญของเทคโนโลยีดังกล่าว จึงมอบหมายให้ กรมวิชาการเกษตร โดยสำนักวิจัยพัฒนาเทคโนโลยีชีวภาพ จัดงานสัมมนา วิชาการ “เทคโนโลยีชีวภาพสมัยใหม่ในการแก้ปัญหาภาวะวิกฤตโลกเดือด และศัตรูพืชอุบัติใหม่” ในวันที่ 29 มกราคม 2567 ณ ห้องประชุมกองวิจัยและพัฒนาวิทยาการหลังการเก็บเกี่ยวและแปรรูปผลผลิตทางการเกษตร กรมวิชาการเกษตร บางเขน
งานนี้จะเป็นการสัมมนาระดมสมอง ผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องทุกภาคส่วนในการใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีที่มีความปลอดภัย ให้ทัดเทียมนานาประเทศ จัดทำแนวทางดำเนินงานและการขัยเคลื่อนเทคโนโลยี GEd ของประเทศไทย และสื่อสารกับประชาชนและผู้บริโภคให้เป็นที่เข้าใจ ถึงความปลอดภัยของเทคโนโลยี ที่แตกต่างจาก GMOs เพื่อให้สามารถใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยี GEd ในประเทศ เตรียมพร้อมรองรับภาวะวิกฤตโลกเดือดและศัตรูพืชอุบัติใหม่
ด้าน ดร. อดัม คอร์นิช กล่าวถึง การใช้เทคโนโลยี GEd ปรับแก้พันธุกรรมจากกลุ่มพืชที่สามารถผสมกันเองตามธรรมชาติ เพื่อให้ได้พันธุ์พืชที่ให้ผลผลิตสูง ต้านทานโรค ทนแล้ง หรือใช้ปุ๋ยอย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น รองรับสภาวะการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศที่เป็นข้อท้าทายอย่างยิ่งของภาคการเกษตร ตลอดจนการเพิ่มคุณค่าทางโภชนาการ ในปัจจุบัน ประเทศส่วนใหญ่ของโลกได้ลงทุนงานวิจัยและอนุมัติใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยี GEd อาทิ แคนาดา อเมริกา บราซิล อาร์เจนตินา ชิลี ญี่ปุ่น จีน อังกฤษ ฟิลิปปินส์ เคนยา รัสเซีย ออสเตรเลีย ต่างให้การยอมรับเทคโนโลยี GEd ทั้งในเชิงการค้า และการบริโภคเช่นเดียวกับพืชปกติทั่วไป เพื่อสร้างความมั่นคงทางอาหารของประเทศ