มาแล้ว!! “ชุดเครื่องจักรกลสำหรับผักกระชับ” แบบครบวงจร จุดเด่นลดแรงงาน ทำงานไว สร้างรายเพิ่มให้เกษตรกร

  •  
  •  
  •  
  •  
กรมวิชาการเกษตร โชว์ “ชุดเครื่องจักรกลสำหรับผักกระชับ” แบบครบวงจร หลังพบว่าผักชนิดนี้ได้รับความนิยมจกผู้บริโภคอย่างกว้างขวาง ทำให้เกษตรกรหันมาปลูกหลังนามากขค้นในภาคตะวันออก ชูจุดเด่นลดแรงงาน ทำงานไว สร้างรายเพิ่มให้เกษตรกร

       นายระพีภัทร์ จันทรศรีวงศ์ อธิบดีกรมวิชาการเกษตร เปิดเผยว่า ผักกระชับ เป็นผักพื้นบ้านในภาคตะวันออก อยู่ในวงศ์เดียวกับทานตะวัน จะเกิดขึ้นหลังจากฤดูทำนาปีในช่วงเดือนตุลาคมถึงเดือนพฤศจิกายน และเจริญเติบโตในช่วงฤดูแล้ง รสชาติอร่อย มีความหอมเป็นเอกลักษณ์ และให้คุณค่าทางโภชนาการสูง ปัจจุบันเป็นผักที่ได้รับความนิยมเพิ่มมากขึ้นจึงมีเกษตรกรทำการผลิตผักกระชับในแปลงเพาะปลูกเพื่อจำหน่ายและสามารถสร้างรายได้ในราคา 100-150 บาทต่อกิโลกรัม

ผักกระชับเมื่อเทียบกับพืชผักชนิดต่างๆ ในท้องถิ่น พบว่ามีราคาสูงกว่าและเป็นที่ต้องการของผู้บริโภค รวมทั้งการเพาะปลูกผักกระชับมีโรคและแมลงศัตรูน้อย จึงเหมาะที่จะทำการผลิตเป็นพืชอินทรีย์ได้ ศูนย์วิจัยเกษตรวิศวกรรมจันทบุรี  สถาบันวิจัยเกษตรวิศวกรรม  กรมวิชาการเกษตร  จึงได้วิจัยและพัฒนาเครื่องจักรกลสำหรับผักกระชับแบบครบวงจร เพื่อช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตในกระบวนการปลูกผักกระชับ โดยชุดเครื่องมือแบบครบวงจรของเครื่องจักรกลสำหรับผักกระชับประกอบด้วย  เครื่องปลูกกระชับในแปลงเมล็ดพันธุ์ เครื่องเกี่ยวนวดกระชับ   และเครื่องเพาะต้นอ่อนผักกระชับ

เครื่องปลูกกระชับในแปลงเมล็ดพันธุ์ จะช่วยเพิ่มความสามารถในการปลูกผักกระชับเพื่อใช้เป็นเมล็ดพันธุ์สำหรับการปลูกต้นอ่อนกระชับ และลดเวลาการหยอดเมล็ดของเกษตรกร เครื่องปลูกกระชับ มีขนาด กว้าง 1.5 เมตร ยาว 1.5 เมตร สูง 1.5 เมตร ติดพ่วงกับรถแทรกเตอร์ขนาด 36 แรงม้า ใช้ล้อขับเคลื่อนในการหมุนให้ เมล็ดกระชับลงในร่องที่เปิดเตรียมไว้ โดยมีความสามารถในการทำงาน 1.07 ไร่ต่อชั่วโมง เร็วกว่าการใช้แรงงานคนเดินปลูกที่สามารถทำงานได้เพียง 0.5 ไร่ต่อชั่วโมง ใช้น้ำมันเชื้อเพลิง 0.84 ลิตรต่อชั่วโมง จำนวนเมล็ดกระชับในหลุมปลูกเฉลี่ย 5เมล็ด/หลุม ระยะห่างระหว่างแถวเฉลี่ย 55 เซนติเมตร ระยะห่างระหว่างหลุมเฉลี่ย 52 เซนติเมตร ผลการวิเคราะห์ด้านเศรษฐศาสตร์วิศวกรรมพบว่า การปลูกกระชับด้วยเครื่องต้นแบบมีต้นทุนค่าใช้จ่าย 168 บาทต่อไร่ มีจุดคุ้มทุนเมื่อทำงาน 302 ไร่ และระยะเวลาคืนทุนประมาณ 3 ปี

เครื่องเกี่ยวนวดกระชับ ในขั้นตอนการเก็บเกี่ยวเมล็ด มีช่วงระยะเวลาในการเก็บสั้นคือ 15 วัน จึงต้องเร่งให้ทันเวลา ในขณะที่ขั้นตอนการนวดและทำความสะอาดก็ใช้เวลานาน  เครื่องเกี่ยวนวดกระชับจะทำการเก็บเกี่ยว นวดและทำความสะอาดเมล็ดให้เสร็จในขั้นตอนเดียว ลดแรงงาน เวลา และต้นทุนการทำงานของเกษตรกร เครื่องเกี่ยวนวดกระชับติดพ่วงรถแทรกเตอร์ 36 แรงม้า ตัวเครื่องประกอบด้วย ก้านซี่รูดเมล็ด ใบกวาดเมล็ด สกรูลำเลียงเมล็ดเข้ากระพ้อ กระพ้อลำเลียงเมล็ดเข้าห้องนวด ซึ่งห้องนวดจะทำความสะอาดเมล็ดออกสู่ช่องทางออก อุปกรณ์ทั้งหมดจะถูกขับด้วยมอเตอร์ไฮดรอลิค ซึ่งรับกำลังจากชุดปั๊มไฮดรอลิค ที่ติดตั้งด้านหลังของรถแทรกเตอร์ และชุดปั๊มไฮดรอลิครรับการถ่ายทอดกำลังจากเพลาอำนวยกำลังของรถแทรกเตอร์ มีความสามารถในการทำงาน 6 ไร่/วัน  ใช้น้ำมันเชื้อเพลิง 1.28 ลิตรต่อไร่ ผลการวิเคราะห์ด้านเศรษฐศาสตร์วิศวกรรมได้ว่า การใช้เครื่องเกี่ยวนวดกระชับมีต้นทุนค่าใช้จ่าย 326 บาท/ไร่ มีจุดคุ้มทุนเมื่อทำงาน 211 ไร่ และระยะเวลาคืนทุนประมาณ 3 ปี

เครื่องเพาะต้นอ่อนผักกระชับ  ที่ผ่านมาการผลิตต้นอ่อนผักกระชับเป็นการผลิตโดยแรงงานคน 100% ใช้เวลาในการจัดการมาก การใช้เครื่องจักรกลการเกษตรเป็นการช่วยเพิ่มการผลิตให้สูงขึ้น ลดเวลาและแรงงานคนในการเพาะต้นอ่อน เพิ่มประสิทธิภาพการผลิตต้นอ่อนผักกระชับ เครื่องเพาะต้นอ่อนมีขนาดเครื่องกว้าง 1 เมตร ยาว 3 เมตร สูง 1.8 เมตร โดยประกอบด้วย 3 ส่วนหลัก คือ ชุดโรยดิน ชุดโรยเมล็ด และ ชุดโรยทราย ใช้มอเตอร์ไฟฟ้า 1 แรงม้า เป็นต้นกำลัง ความสามารถในการทำงาน 41 กิโลกรัมต่อชั่วโมง ในขณะที่คนทำงานได้ 3.76 กิโลกรัมต่อชั่วโมง ผลการวิเคราะห์ทางเศรษฐศาสตร์วิศวกรรมได้ว่าการใช้เครื่องต้นแบบมีต้นทุนค่าใช้จ่าย 5.30 บาทต่อกิโลกรัม มีจุดคุ้มทุนเมื่อปลูกกระชับเพื่อผลิตต้นอ่อน 123 กิโลกรัมต่อปี และมีระยะเวลาคืนทุนประมาณ 1 ปี

อธิบดีกรมวิชาการเกษตร กล่าวอีกว่า  “ชุดเครื่องจักรกลสำหรับผักกระชับ” ทำงานแบบครบวงจรในทุกขั้นตอน ทั้งการปลูกในแปลงเมล็ดพันธุ์  การเกี่ยวนวด  และการเพาะต้นอ่อนผักกระชับ ซึ่งจะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการผลิตผักกระชับ ลดเวลา ค่าใช้จ่ายและแรงงานในกิจกรรมต่างๆ ของการปลูกผักกระชับและเพาะต้นอ่อนขาย เป็นการสร้างรายได้เพิ่มให้กับเกษตรกร ผู้สนใจ “ชุดเครื่องจักรกลสำหรับผักกระชับ”สามารถสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ นายพุทธธินันทร์  จารุวัฒน์  วิศวกรการเกษตรชำนาญการพิเศษ  ศูนย์วิจัยเกษตรวิศวกรรมจันทบุรี  สถาบันวิจัยเกษตรวิศวกรรม  กรมวิชาการเกษตร  โทรศัพท์ 039-609652 และ 089-8312976