กรมวิชาการรเกษตร เฉลิมฉลองครบรอบ 50 ปี จัดงานถ่ายทอดเทคโนโลยีการผลิตพืช ในวันที่ 3-4 พฤศจิกายน 2565 นี้ ณ ศูนย์วิจัยพืชไร่นครสวรรค์ เผยแพร่ผลงานวิจัยตลอด 50 ปี สู่กลุ่มเป้าหมาย หวังกระตุ้นเศรษฐกิจไทยด้วยงานวิจัยด้านพืช เทคโนโลยีการผลิต เครื่องจักรกลเกษตร พร้อมเปิดคลินิกพืชให้บริการครบวงจร คาดเกษตรกรและผู้สนใจเข้าร่วมชมงานกว่า 1,000 ราย
นายระพีภัทร์ จันทรศรีวงศ์ อธิบดีกรมวิชาการเกษตร เปิดเผยว่า กรมวิชาการเกษตรเตรียมจัดงานถ่ายทอดเทคโนโลยีการผลิตพืช ในโอกาสเฉลิมฉลองกรมวิชาการเกษตรครบรอบ 50 ปี เพื่อถ่ายทอดผลงานวิจัยและเทคโนโลยีที่ได้ดำเนินการตลอดระยะเวลา 50 ปี สู่กลุ่มเป้าหมายทั้งเกษตรกร ผู้ประกอบการ และผู้สนใจที่จะนำผลงานวิจัยกรมวิชาการเกษตรไปใช้และขยายผล โดยกิจกรรมของงาน ได้แก่ จัดทำแปลงสาธิตพันธุ์พืชไร่ พืชสวน พันธุ์ดีและพันธุ์ใหม่ รวม 20 ชนิดพืช กว่า 61 พันธุ์
การสาธิตเทคโนโลยีการผลิตที่สมัยใหม่ เช่น ระบบการจัดการน้ำตามความต้องการของพืชโดยใช้ระบบตรวจวัดสภาพอากาศรายแปลง การใช้เครื่องพ่นแบบอุโมงค์ลมและการใช้โดรนป้องกันกำจัดหนอนกระทู้ข้าวโพดลายจุด การใช้สารชีวภัณฑ์ การแปรรูปเพื่อเพิ่มมูลค่าผลิตผลการเกษตร และกิจกรรมอื่น ๆ อีกมากมาย นอกจากนี้ กรมวิชาการเกษตรยังจับมือกับพันธมิตรภาคเอกชน ผู้ประกอบการ มากกว่า 50 หน่วยงานร่วมให้บริการด้านปัจจัยการผลิต เมล็ดพันธุ์พืช สารปรับปรุงดิน สาธิตเครื่องจักรกลการเกษตร เช่น การใช้อากาศยานไร้คนขับแบบเฮลิคอปเตอร์ โดรนเพื่อการเกษตร การติดตั้งระบบน้ำ ผลิตภัณฑ์แปรรูป เช่น ผ้าฝ้ายตากฟ้า เป็นต้น
สำหรับผู้มาร่วมชมงานนอกจากจะได้รับองค์ความรู้ด้านการเกษตรอย่างครบวงจร ยังสามารถรับบริการคลินิกกรมวิชาการเกษตรเคลื่อนที่ โดยมีเจ้าหน้าที่ให้คำแนะนำปรึกษาปัญหาการผลิตพืช และได้รับแจกปัจจัยการผลิต ได้แก่ เมล็ดพันธุ์ กล้าพันธุ์และกิ่งพันธุ์ไม้ผล จึงขอเชิญชวนผู้สนใจเข้าร่วมชมงาน ระหว่างวันที่ 3-4 พฤศจิกายน 2565 ณ ศูนย์วิจัยพืชไร่นครสวรรค์ ตำบลสุขสำราญ อำเภอตากฟ้า จังหวัดนครสวรรค์
การจัดงานครั้งนี้เป็นการบูรณาการความร่วมมือกันระหว่างสำนักวิจัยและพัฒนาการเกษตรเขตที่ 5 จ.ชัยนาท สำนักวิจัยและพัฒนาการเกษตรเขตที่ 2 จ.พิษณุโลก และสถาบันวิจัยพืชไร่และพืชทดแทนพลังงาน เพื่อร่วมเป็นส่วนหนึ่งในการผลักดันและขยายผลงานวิจัยที่เป็นประโยชน์ให้เกษตรกรนำไปปรับใช้ให้เหมาะสมกับสภาพพื้นที่ สามารถผลิตพืชได้อย่างถูกต้องและลดต้นทุนการผลิต
รวมทั้งยังเป็นการสร้างและพัฒนาเครือข่ายระหว่างเกษตรกร ผู้บริโภค ผู้ประกอบการทั้งระดับชุมชนและอุตสาหกรรม ทำให้เกิดระบบการผลิตแบบครบวงจรและยั่งยืน สามารถกระตุ้นเศรษฐกิจไทยจากการพัฒนาภาคการเกษตรไทยด้วยผลงานวิจัยและนวัตกรรม