กรมวิชาการเกษตร กำหนดทิศทางงานวิจัยปีหน้า 6 ด้าน ต่อยอดเศรษฐกิจสู่โมเดล BCG

  •  
  •  
  •  
  •  

กรมวิชาการเกษตร  กำหนดเป้าหมายงานวิจัยในปีหน้า 6 ด้าน เน้นความต้องการตลาด  และความมั่นคงด้านการเกษตรและอาหารของประเทศ ภายใต้นโยบายแห่งรัฐมุ่งสู่เศรษฐกิจ BCG Model  หลังจากที่ได้รับงบฯสนุนจาก สกสว.กว่า 300 ล้านบาท

นายระพีภัทร์  จันทรศรีวงศ์  อธิบดีกรมวิชาการเกษตร  เปิดเผยว่า ในปี 2566 กรมวิชาการเกษตรได้รับการสนับสนุนงบประมาณสนับสนุนด้านการวิจัยจากสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม(สกสว.)  วงเงิน 316,934,000 บาท ซึ่งจะมีการลงนามในคำรับรองเร็วๆนี้   ทั้งนี้การเสนอขอสนับสนุนงบวิจัยในปี 66 จะต้องสอดคล้องนโยบายการตลาดนำการผลิตของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์

นอกจากนี้ การวิจัยขยายผลต่อยอดสู่การใช้ประโยชน์ที่เชื่อมโยงกับตลาด  และความมั่นคงด้านการเกษตรและอาหารของประเทศ ภายใต้นโยบายแห่งรัฐและระดับโลกคือการมุ่งสู่เศรษฐกิจ BCG Model  คือ โมเดลเศรษฐกิจสู่การพัฒนาที่ยั่งยืน (เศรษฐกิจชีวภาพ เศรษฐกิจหมุนเวียน และเศรษฐกิจสีเขียว หรือ Bio-Circular-Green Economy)

ทั้งนี้กรมวิชาการเกษตรให้ความสำคัญกับการวิจัยใน 6 ด้านคือ 1.การวิจัยเพื่อพัฒนาเศรษฐกิจสร้างคุณค่าและสนับสนุนการขับเคลื่อนประเทศด้วยโมเดลเศรษฐกิจ BCG Model   2.การวิจัยเพื่อปรับปรุงพันธุ์พืชรองรับตลาดใหม่ 3.งานวิจัยเพื่อพัฒนาเทคโนโลยีการเพิ่มผลผลิตพืชที่เหมาะสม 4.งานวิจัยเพื่อพัฒนาสนับสนุนการปฏิบัติงานตามกฎหมายที่กรมรับผิดชอบ

5.งานวิจัยเพื่อรองรับสถานการณ์วิกฤติ เช่นภัยแล้ง ความมั่นคงด้านอาหาร  การพัฒนาอาหารที่สอดคล้องกับเทรนความต้องการบริโภคของโลก อาหารแพลนต์เบสต์หรืออาหารโปรตีนจากพืช  การเกษตรที่ลดภาวะก๊าซเรือนกระจก คาร์บอนฟุตพริ้นท์ และที่สำคัญคือการป้องกันการระบาดของโรคพืชและแมลงศัตรูพืช ร่วมถึงโรคอุบัติใหม่ ซึ่งปัจจุบันรูปแบบของการบริโภคของประชาชนเริ่มเปลี่ยน เน้นอาหารที่ดีต่อสุขภาพ อาหารที่เป็นยา    การบริโภคพืชที่ให้โปรตีนแทนเนื้อสัตว์  หรืออาหารที่ส่งเสริมสุขภาพให้ดีขึ้น

6. การวิจัยพัฒนาพันธุ์พืชที่เป็นทั้งอาหารและพลังงานให้มีผลผลิตต่อไร่สูงและต้านทานโรคแมลง  เช่น ถั่วเหลือง หรือข้าวโพด ปาล์มน้ำมันจึงสำคัญ ตัวอย่างที่เห็นคือไทยนำเข้าถั่วเหลือง ข้าวโพดมาเป็นวัตถุดิบจำนวนมากเมื่อเกิดสงครามหรือเหตุที่ไม่สามารถคุมได้ ต้องนำเข้าราคาสูงจึงส่งผลกระทบเป็นวงกว้าง  ดังนั้นกรมให้น้ำหนักทั้งการวิจัยพัฒนาพืชเศรษฐกิจเดิมและพืชเศรษฐกิจใหม่เช่นกัญชง กัญชา กระท่อม  ที่สามารถเป็นวัตถุดิบผลิตสินค้ามูลค่าสูงได้ จึงขอให้สำนักวิจัยและพัฒนาเกษตรทั้ง 8  เขตได้ช่วยกันพัฒนาและวิจัยพันธุ์พืชให้ไปในทิศทางดังกล่าว   ร่วมถึงการพัฒนาเครื่องจักร เครื่องมือทางการเกษตรเพื่อช่วยลดต้นทุนในการผลิตของเกษตรกร