โชว์สุดยอด “เครื่องปีนมะพร้าว” ไทยประดิษฐ์ระบบล็อก ความปลอดภัย ใช้แทนแรงงานลิง

  •  
  •  
  •  
  •  

กรมวิชาการเกษตร  วิจัยพัฒนาเครื่องปีนมะพร้าวตัวช่วยเก็บผลผลิตแทนใช้แรงงานลิง  สร้างความมั่นใจ ไทยปลอดภัยกว่าต่างประเทศ  ด้วยระบบเข็มขัดล็อกควบคุมความปลอดภัยระหว่างใช้งาน  น้ำหนักชุดอุปกรณ์รวม 2 ข้างซ้ายและขวา 10 กิโลกรัม  ปลื้มศักยภาพสามารถปีนขึ้นลงต้นมะพร้าวด้วยความเร็วเพียง  0.14 เมตรต่อวินาที

      นายระพีภัทร์  จันทรศรีวงศ์  อธิบดีกรมวิชาการเกษตร  เปิดเผยว่า  จากข้อกังวลของ PETA กรณีการใช้ลิงเก็บมะพร้าวเป็นการทารุณกรรมสัตว์ และมีการรณรงค์ให้ประเทศต่างๆ ปฏิเสธผลิตภัณฑ์มะพร้าวที่ได้จากแปลงที่เก็บเกี่ยวโดยลิงเป็นปัญหาที่ค่อนข้างส่งผลกระทบต่อผู้ปลูกมะพร้าวและผู้ประกอบการของไทยที่ส่งออกผลิตภัณฑ์มะพร้าว  ซึ่งการแก้ไขปัญหาด้วยการใช้เครื่องปีนมะพร้าวแทนแรงงานลิงจะเป็นแนวทางหนึ่งที่สนับสนุนการแก้ปัญหาของภาคอุตสาหกรรม   รวมทั้งเกษตรกรจะได้เรียนรู้และปรับใช้เทคโนโลยีใหม่ในการเก็บเกี่ยวมะพร้าว

สถาบันวิจัยเกษตรวิศวกรรม  กรมวิชาการเกษตร โดย นายสุภาษิต เสงี่ยมพงศ์  ได้วิจัยคิดค้นผลิตเครื่องปีนมะพร้าว โดยพัฒนาจากต้นแบบของประเทศอินเดีย  เป็นอุปกรณ์ขาเหยียบไต่ต้นมะพร้าวขึ้นไป มีสองด้านซ้ายขวา แท่นเหยียบขนาด 14×15 เซนติเมตร ทำจากเหล็กเหนียว  เชื่อมต่อกับเพลากลมที่ทำจากสแตนเลสยาว 90 เซนติเมตรเพื่อให้ไม่เป็นสนิม   ด้านล่างของขาเหยียบทั้งสองข้างมีเหล็กโค้งยาว 34 เซนติเมตรทำหน้าที่โอบรอบโคนมะพร้าวเพื่อกดค้ำต้นมะพร้าวขณะที่ถ่ายน้ำหนักตัวลงไปเหยียบบนเครื่องปีน

       ด้านบนของขาเหยียบมีแผ่นยางกันกระแทก  ทำหน้าที่กดรับขาไม่ให้หลุดออกจากเครื่องปีน ปลายสุดด้านบนมีมือจับ  สำหรับใช้ยกลวดสลิงเวลาปีนต้นมะพร้าว  ลวดสลิงขนาด 2 หุน ยาว  260   เซนติเมตรเมื่อคล้องทำเป็นบ่วงรอบโคนมะพร้าวต้องมีขนาดไม่น้อยกว่า 35 เซนติเมตรขึ้นไป ทำหน้าที่รัดต้นมะพร้าวและพยุงขาเหยียบให้เกาะเกี่ยวต้นมะพร้าวระหว่างที่ใช้มือจับยกขาเหยียบให้ค่อยขยับขึ้นไป

นายระพีภัทร์  กล่าวอีกว่า  ต้นแบบเครื่องปีนมะพร้าวของกรมวิชาการเกษตรจะมีความปลอดภัยมากกว่าต้นแบบของอินเดีย  เนื่องจากมีระบบเข็มขัดล็อกเอวผู้ปีน ผูกติดกับอุปกรณ์ปีนต้นมะพร้าว ทำให้ผู้ใช้มีความมั่นใจในความปลอดภัยเมื่อปีนขึ้นต้นมะพร้าวที่มีความสูงมากจะไม่เกิดความผิดพลาดตกลงมาจากเครื่องปีน  รวมทั้งมีระบบล็อกแท่นเหยียบไม่ให้ขยับเคลื่อนไปมา    โดยเครื่องปีนที่ออกแบบมีแท่นล็อกสำหรับปีนไปทำกิจกรรมบนคอมะพร้าว เช่น ปาดน้ำตาล หรือขึ้นไปผสมเกสร   บางครั้งอาจจะใช้เวลาในการทำกิจกรรมนานขาเหยียบอาจจะขยับไปมาและหลุดร่วงลงมาทำให้ผู้ปีนได้รับอันตรายได้

       ทั้งเครื่องปีนของต่างประเทศไม่มีระบบควบคุมความปลอดภัยนี้   โดยน้ำหนักของชุดอุปกรณ์เครื่องปีนมะพร้าวนี้มีน้ำหนักรวมทั้งสองข้างซ้ายและขวา 10 กิโลกรัม (ข้างละ 5 กิโลกรัม)  เมื่อปีนขึ้นต้นมะพร้าวสามารถปีนขึ้นลงด้วยความเร็ว 0.14 เมตรต่อวินาที

“กรมวิชาการเกษตรมีความพร้อมทั้งเทคโนโลยี มะพร้าวสายพันธุ์ใหม่ ที่มีความสูงไม่มากนักที่จะใช้ปลูกแทนต้นเดิมที่มีอายุมาก   ระบบการตรวจรับรอง GAP Monkey free plus รวมทั้งเทคโนโลยีเครื่องปีนมะพร้าวที่สามารถใช้แทนแรงงานลิงที่เป็นข้อกังวลของ PETA   ซึ่งจะช่วยแก้ไขปัญหาได้อย่างยั่งยืน   เกษตรกรหรือผู้ที่สนใจเครื่องปีนมะพร้าวสามารถสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่  สถาบันวิจัยเกษตรวิศวกรรม  โทรศัพท์ 02-5792757  โดยปัจจุบันมีโรงงาน 3 โรงงานได้นำต้นแบบไปผลิตจำหน่ายเชิงพาณิชย์แล้ว” อธิบดีกรมวิชาการเกษตร  กล่าว