สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร เปิดตัว “โครงการพัฒนาระบบฐานข้อมูลการเกษตร” โชว์ผลงาน พัฒนาระบบฐานข้อมูลแบบ Open Data พร้อมวางกลยุทธ์ Road map ต่อยอด 3 ระยะ ปฏิรูปภาคเกษตรไทยก้าวสู่ Digital Transformation โดยวางเป้าหมายให้บริการแบบ citizen centric
นายฉันทานนท์ วรรณเขจร เลขาธิการสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) โฆษกกระทรวงเกษตรและสหกรณ์เปิดเผยภายหลังเป็นประธาน กล่าวระหว่างเปิดงานสัมมนา“โครงการพัฒนาระบบฐานข้อมูลการเกษตร”ณ โรงแรมรามา การ์เด้นส์ กรุงเทพฯเมื่อวันที่ 24 ส.ค.65 ว่า จากที่รัฐบาลได้มีนโยบายมุ่งไปสู่การเป็นรัฐบาลดิจิทัล (Digital Thailand 4.0)โดยจัดทำแผนพัฒนาดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมเป็นกรอบแนวทางการดำเนินงาน ให้มีความสอดคล้องกับยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี การจัดทำฐานข้อมูลขนาดใหญ่ (Big Data)
ในส่วนของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ดร.เฉลิมชัย ศรีอ่อน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้มอบหมาย สศก. เป็นหน่วยงานรับผิดชอบหลัก โดยได้มีการลงนามบันทึกความร่วมมือ (MOU) การพัฒนาระบบฐานข้อมูลด้านการเกษตรแห่งชาติ ร่วมกัน 10 กระทรวง และขับเคลื่อนมาอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ปลายปี 2562เพื่อให้เกษตรกร ภาครัฐ เอกชน และประชาชนที่สนใจ สามารถเข้าถึงระบบการให้บริการและสามารถนำข้อมูลไปใช้เพื่อประกอบการตัดสินใจในการวางแผน การผลิต และการตลาด
ล่าสุด สศก. ได้จัดทำ“โครงการพัฒนาระบบฐานข้อมูลการเกษตร”เพื่อพัฒนาฐานข้อมูล สำหรับจัดเก็บและบริการข้อมูลทั้งด้านพืช ปศุสัตว์ และประมง จากหน่วยงานภาคีภายใต้บันทึกความร่วมมือระหว่าง 10 กระทรวง ซึ่งเป็นการรวบรวมชุดข้อมูล (Datasets) จากการสำรวจ นำมาจัดทำเป็นข้อมูลขนาดใหญ่ด้านการเกษตร และวิเคราะห์ในมิติต่าง ๆ เปิดบริการ Open Data ให้หน่วยงานภาครัฐ เอกชน ผู้สนใจ ใช้ข้อมูลในเรื่องที่เกี่ยวข้อง
โครงการพัฒนาระบบฐานข้อมูลการเกษตร มีการพัฒนาระบบงาน5 ระบบ คือ 1) ระบบการบูรณาการข้อมูลและจัดทำรายงาน 2) ระบบการวิเคราะห์ข้อมูลขนาดใหญ่ (Big Data Analytics) 3) ระบบปฏิทินการผลิตสินค้าเกษตร 4) ระบบ Coaching Program Platform (CPP) และ 5) ระบบ Public AI ตลอดจนปรับปรุงการให้บริการ ข้อมูลการวิเคราะห์สถานการณ์ด้านการเกษตร แก่หน่วยงานและผู้เกี่ยวข้อง รวมทั้งเกษตรกร
สำหรับแผนการขับเคลื่อน Big Data หลังจากนี้ สศก. โดยศูนย์ข้อมูลเกษตรแห่งชาติ ได้วางRoad map 3 ระยะ คือ ระยะ 1Short Term (พ.ศ. 2566 – 2567)มีฐานข้อมูลกลางในการจัดเก็บข้อมูลต่าง ๆ ทั้งภายในและภายนอกองค์กร เช่น Internal Data, External Data, Partner Data, Customer Data ซึ่งข้อมูลทั้งหมดต้องมีความถูกต้อง สมบูรณ์เป็นปัจจุบัน โดยบุคลากรของหน่วยงาน จะมีทักษะการคิดวิเคราะห์ แยกแยะ หรือตัดสินใจกันบนข้อมูลที่มีประโยชน์ สามารถแบ่งปันผลลัพธ์ที่ได้และปรับปรุงแก้ไขข้อผิดพลาดให้ดีขึ้น
ระยะ 2 Medium Term (พ.ศ. 2568 -2569) จัดทำการให้บริการในการเข้าถึงข้อมูลแบบเปิด (Open Access) เพื่อให้เกษตรเข้าถึง ค้นหา แจกจ่ายข้อมูลต่อได้แบบเรียลไทม์มีการจัดทำการเปิดเผยข้อมูล (Open Data) การเกษตร
ระยะ 3 Long Term (พ.ศ. 2570) เปิดให้บริการข้อมูลในรูปแบบ Personalization Driven ทั้งการเก็บรวบรวมข้อมูลในระดับรายบุคคล รวมถึงข้อมูลสภาพแวดล้อมต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องกับบุคลนั้น ๆ มีการนำเสนอข้อมูล/บริการต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องในลักษณะ proactive ในทิศทางของ Hyper Automation