นายกฯนำคณะลงเยี่ยมชมคูโบต้าฟาร์ม และพบเกษตรกรสมัยใหม่ “สมาร์ท ฟาร์มเมอร์” ที่ประสบความสำเร็จ สามารถลดต้นทุนเพาะปลูกถึง 20 % และสร้างรายได้เพิ่มกว่า 50 % ที่เกิดจากการ “ทำสมาร์ท ฟาร์มมิ่ง” นำนวัตกรรมและเทคโนโลยีมาบริ
พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม พร้อมคณะเดินไปเยี่ยมชมคูโบต้าฟาร์ม ต.หนองอิรุณ อ.บ้านบึง จ.ชลบุรี และได้พบปะเกษตรกรพร้อมรับฟังแนวทางความสำเร็จของสมาร์ท ฟาร์มมิ่ง หรือนวัตกรรมทางการเกษตรสมัยใหม่ มาปรับใช้จนสามารถลดต้นทุนได้ถึง 20 % ช่วยเพิ่มผลผลิต และสร้างรายได้ตลอดทั้งปีเพิ่มกว่า 50 % นับเป็นสิ่งที่น่ายินดีอย่างยิ่งที่ยืนยันได้ว่า สมาร์ท ฟาร์มมิ่ง (Smart Farming) คือ แนวทางในการช่วยให้เกษตรกรรับมือกับความ ไม่แน่นอนต่างๆ ได้อย่างเข้มแข็ง ช่วยสร้างรายได้ที่มั่นคง แก้ปัญหาความยากจน มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น
ทั้งนี้เกษตรกรจะมีโอกาสเข้าถึงเครื่องจักรกลการเกษตร หรือนวัตกรรมการเกษตรสมัยใหม่ รวมถึงการเข้ารวมกลุ่มเกษตรแปลงใหญ่ มีความรู้การทำเกษตร การใช้ที่ดินอย่างเต็มประสิทธิภาพ รวมถึงการพัฒนาสินค้าเกษตรและเกษตรแปรรูปมูลค่าสูงที่ตรงความต้องการของตลาดสามารถแข่งขันได้
นายธนกร วังบุญคงชนะ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ได้สรุปสาระสำคัญจากการที่นายกรัฐมนตรีรับฟังโครงการความร่วมมือการพัฒนาสมาร์ท ฟาร์มมิ่ง เพื่อเพิ่มผลผลิตและแก้ไขปัญหาความยากจนของเกษตรกรจากสยามคูโบต้าว่า รัฐบาลมีความมุ่งมั่นในการยกระดับคุณภาพชีวิตของเกษตรกรและภาคการเกษตรของไทย จึงนับเป็นโอกาสดีที่ได้มา คูโบต้าฟาร์ม ซึ่งเป็นต้นแบบของเกษตรทันสมัย หรือ สมาร์ท ฟาร์มมิ่ง พร้อมเน้นย้ำว่า ภาคการเกษตร คือ อนาคตของประเทศไทย ที่มีการทำการเกษตรมายาวนานตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน
ดังนั้นต้องช่วยกันหาแนวทางเพื่อทำให้สิ่งที่เป็นอยู่ดั้งเดิมมีมูลค่าสูงขึ้น” ในการนี้ นายกรัฐมนตรีได้มอบนโยบายการขับเคลื่อนนวัตกรรมและเทคโนโลยีการเกษตรแบบครบวงจร การส่งเสริมเครื่องจักรกลการเกษตร การบริหารจัดการเกษตรแปลงใหญ่ การดำเนินการของวิสาหกิจชุมชนที่สอดคล้องกับศักยภาพของแต่ละพื้นที่ และการบริหารจัดการน้ำ เพื่อยกระดับภาคการเกษตรภายใต้หลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง
รวมทั้งเน้นย้ำช่วยลดปัญหาการเผาในพื้นที่การเกษตร ซึ่งเป็นต้นเหตุของฝุ่นควัน PM 2.5 ส่งเสริมให้เกิดเข้าถึงข้อมูลและเทคโนโลยีทางการเกษตร ด้วยเทคโนโลยีมีการจัดการพื้นที่เกษตรเชิงรุก อะกริแมพ (Agri-map) และขยายพื้นที่การติดตั้งอินเทอร์เน็ตเพิ่มมากขึ้น
นอกจากนี้ยังสนับสนุนเงินทุนดอกเบี้ยพิเศษหรือเงินอุดหนุนแก่เกษตรกรรุ่นใหม่ Young Smart Farmer เพื่อนำไปบริหารจัดการหรือให้บริการเครื่องจักรกลการเกษตรในพื้นที่ ตลอดจนสนับสนุนให้เกษตรกรเข้าถึงเครื่องจักรฯ โดยการรวมกลุ่มใช้/ การจับคู่ (Matching) เป็นต้น เชื่อมั่นว่าหากมีการบูรณาการความร่วมมือกับทุกภาคส่วน จะเป็นเครื่องมือสำคัญในการขจัดความยากจน สร้างความมั่นคงในอาชีพและรายได้ให้แก่พี่น้องเกษตรกรอย่างยั่งยืน
ด้านนายทาคาโนบุ อะซึมะ กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัทสยามคูโบต้าคอร์ปอเรชั่น จำกัด กล่าวว่า สยามคูโบต้ามีเป้าหมายที่จะสนับสนุนการพัฒนาศักยภาพของเกษตรกรไทยให้มีความแข็งแกร่ง มีความสามารถแข่งขันในตลาดโลก สยามคูโบต้าจึงพร้อมให้ความร่วมมือกับภาครัฐในการสนับสนุนนโยบายการพัฒนาภาคการเกษตร เพื่อแก้ไขปัญหาของเกษตรกรไทยที่ยังประสบปัญหาด้านต้นทุนการผลิตสูง ราคาผลผลิตที่ไม่แน่นอน การขาดแคลนแรงงาน
“การเข้าถึงเทคโนโลยีสมัยใหม่ โดยร่วมเป็นส่วนหนึ่งในการยกระดับเศรษฐกิจการเกษตรมหภาคบนพื้นฐานการใช้นวัตกรรมและเทคโนโลยี อาทิ การบริหารจัดการฟาร์มด้วยระบบควบคุมน้ำอัจฉริยะ สถานีวัดสภาพอากาศ โครงการระบบโซล่าร์เซลล์บนแปลงเกษตร การทำเกษตรที่ช่วยแก้ไขปัญหาโลกร้อนลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสอดคล้องกับนโยบาย Net Zero และวิธีลดต้นทุนการผลิตด้วยการปรับเปลี่ยนวิธีทำนาเป็นการหยอดแห้งหรือปักดำด้วยรถดำนา ซึ่งจะช่วยลดต้นทุนเมล็ดพันธุ์ได้กว่า 60-70 % และการไถกลบตอซังลดการเผาที่สามารถประหยัดค่าปุ๋ยได้ถึง 20 % รวมถึงการบริหารจัดการเครื่องจักรกลการเกษตรแบบรวมกลุ่ม ช่วยลดปัญหาการขาดแคลนแรงงาน” กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัทสยามคูโบต้าคอร์ปอเรชั่น กล่าว
ขณะที่นางวราภรณ์ โอสถาพันธุ์ กรรมการรองผู้จัดการใหญ่อาวุโส บริษัทสยามคูโบต้าคอร์ปอเรชั่น จำกัด กล่าวเสริมว่า ด้วยประสบการณ์ด้านการพัฒนานวัตกรรมเทคโนโลยีการเกษตร และความเข้าใจถึงปัญหาของเกษตรกรไทย สยามคูโบต้าจึงได้จัดทำแนวทางการพัฒนาสมาร์ท ฟาร์มมิ่ง 5 ประเด็นหลัก ได้แก่
1. การบูรณาการองค์ความรู้ ได้แก่ การลดต้นทุน เพิ่มผลผลิต ลดความเสี่ยงจากปัจจัยภายนอก 2. การให้ความรู้เพื่อสร้างความเข้มแข็งของภาคการเกษตร ได้แก่ การเข้าถึงแหล่งความรู้ด้านการเกษตร การเข้าถึงข้อมูลที่จำเป็นด้านการเกษตร การอบรมให้ความรู้ด้านนวัตกรรมเกษตร 3. การจัดการโครงสร้างพื้นฐาน อาทิ การติดตั้งสถานีวัดอากาศให้ครอบคลุมพื้นที่การเกษตร การปรับสภาพพื้นที่ให้เหมาะสมกับการเพาะปลูก อินเทอร์เน็ตที่เข้าถึงง่ายและสัญญาณที่ครอบคลุมทุกพื้นที่
4. การเข้าถึงเครื่องจักรกลการเกษตรและนวัตกรรมการเกษตรสมัยใหม่ สนับสนุนเรื่องการรวมกลุ่มเกษตรแปลงใหญ่อย่างมีประสิทธิภาพ การใช้ระบบเช่าเครื่องจักรกลการเกษตรบนดิจิทัลแพลตฟอร์มจับคู่ผู้ให้บริการสำหรับเกษตรกรรายย่อย และ 5. การตลาด สามารถเข้าถึงข้อมูลด้านการตลาดทั้งปริมาณความต้องการและราคาเผื่อวางแผนการเพาะปลูกได้อย่างแม่นยำ การขยายตลาดใหม่เพื่อความยั่งยืน สร้างโอกาสใหม่ในการขายผ่านช่องทางออนไลน์ รวมถึงสร้างมูลค่าเพิ่มโดยการแปรรูปสินค้าเกษตร”
อย่างไรก็ตาม หากได้รับการสนับสนุนจากภาครัฐ ช่วยพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานระบบดิจิทัล ติดตั้งสถานีวัดอากาศ เพื่อวางแผนการเพาะปลูกให้เหมาะสม และสนับสนุนการรวมกลุ่มเกษตรแปลงใหญ่ เพื่อเกษตรกรรายย่อยได้มีโอกาสใช้เครื่องจักรสมัยใหม่ รวมทั้งเป็นศูนย์กลางสร้างความร่วมมือและบูรณาการจากทุกภาคส่วน เชื่อมั่นว่าจะสามารถขยายผลสมาร์ท ฟาร์มมิ่งได้ทั่วไทย ช่วยให้เกษตรกรเกิดความเชื่อมั่นในการประกอบอาชีพ มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นได้ ส่งผลให้ภาคการเกษตรมีความเข้มแข็ง
นางวราภรณ์ กล่าวอีกว่า สยามคูโบต้า มีจุดมุ่งหมายเพื่อการพัฒนาโซลูชันให้ครอบคลุมจากต้นน้ำถึงปลายน้ำครบทุกความต้องการของเกษตรกร รวมถึงการแปรรูป การเพิ่มมูลค่าผลผลิต และเชื่อมโยงกับผู้ซื้อหรือตลาด พัฒนาสู่การเป็นเกษตรกรรมรายได้สูง เกษตรแม่นยำสมัยใหม่ และการพัฒนาเศรษฐกิจแบบองค์รวม หรือ BCG Model ทั้งนี้ คูโบต้าฟาร์มจะเป็นต้นแบบถ่ายทอดความรู้ไปยังเกษตรกรและชุมชนอื่นๆ สู่การพัฒนาที่ยั่งยืน หรือ SDG ของสหประชาชาติ
พร้อมสนับสนุนโครงการของภาครัฐในการพัฒนาสมาร์ท ฟาร์มมิ่ง ผ่านความร่วมมือจากทุกภาคส่วน ทั้งภาครัฐและเอกชน สถาบันการศึกษา ตลอดจนเกษตรกร และพร้อมเป็นแรงขับเคลื่อนที่สำคัญในการสนับสนุนสมาร์ท ฟาร์มมิ่ง ในประเทศไทย ช่วยขจัดความยากจนของเกษตรกรโดยไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง และผลักดันเศรษฐกิจภาคการเกษตรของไทยให้เติบโตอย่างยั่งยืนต่อไป
สำหรับคูโบต้าฟาร์มเกิดจากการนำองค์ความรู้นวัตกรรมเกษตรครบวงจรซึ่งเป็นเอกลักษณ์เฉพาะของคูโบต้า หรือ คูโบต้า อะกริ โซลูชัน (เคเอเอส) มาประยุกต์ใช้ใน 10 โซน บนพื้นที่ 220 ไร่ ในจ.ชลบุรี ที่ออกแบบภายใต้แนวคิดการพัฒนาตั้งแต่ต้นน้ำ-ปลายน้ำ ซึ่งได้รับความร่วมมือด้านวิจัยและพัฒนาจากหน่วยงานภาครัฐและเอกชน เพื่อเป็นฟาร์มต้นแบบที่ถ่ายทอดให้เกษตรกรได้เรียนรู้การใช้เครื่องจักรกลและโซลูชันการเกษตร