กรมการข้าว จับมือพันธมิตร “มทร.ล้านนา-แม่โจ้-สวก.” เตรียมจัดงานวันถ่ายทอดเทคโนโลยีการผลิตข้าวสาลี ครั้งที่ 3 ขึ้น ในวันที่ 15 กุมภาพันธ์ 2565 ณ ศูนย์วิจัยข้าวสะเมิง เพื่อประชาสัมพันธ์และเผยแพร่ผลงานของโครงการวิจัย “การพัฒนาการผลิตธัญพืชเมืองหนาวเป็นพืชหลังนา เพื่อการสร้างรายได้ให้แก่เกษตรกรภาคเหนือตอนบน” หลังจากพบว่าตลาดต้องการข้าสาลัที่ผลิตภายในประเทศปีละ 382 ตันต่อปี เพื่อต่อยอดสู่การสร้างธุรกิจใหม่ตาม BCG model
วันที่ 26 มกราคม 2565 นายณัฏฐกิตติ์ ของทิพย์ รองอธิบดีกรมการข้าว เป็นประธานการประชุมเตรียมความพร้อมการจัดงานวันถ่ายทอดเทคโนโลยีการผลิตข้าวสาลี ครั้งที่ 3 โดยมี ผู้อำนวยการจากศูนย์วิจัยข้าวภาคเหนือตอนบน ข้าราชการ เจ้าหน้าที่ และ ดร.สุรพล ใจวงศ์ษา อาจารย์จากมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลล้านนา เข้าร่วมการประชุม ณ ศูนย์วิจัยข้าวสะเมิง อำเภอสะเมิง จังหวัดเชียงใหม่
ณัฏฐกิตติ์ ของทิพย์
นายณัฏฐกิตติ์ กล่าวว่า ปัจจุบันประเทศไทยมีการนำเข้าข้าวสาลีจากต่างประเทศเป็นจำนวนมาก เนื่องจากข้าวสาลีเป็นธัญพืชเมืองหนาวที่มีบทบาทต่อชีวิตประจำวันของคนไทยมากยิ่งขึ้น โดยเฉพาะในเมืองใหญ่ซึ่งวิถีชีวิตประจำวันมีลักษณะเร่งรีบ อุปนิสัยการบริโภคต้องการความรวดเร็ว ใช้ระยะเวลาน้อยในการปรุงอาหาร ประกอบกับข้าวสาลีมีคุณค่าทางโภชนาการสูงโดยเฉพาะโปรตีน และมีคาร์โบไฮเดรตในกลุ่มที่เรียกว่า Photosugar ซึ่งใช้เป็นอาหารเสริม
นอกจากนี้ยังสามารถใช้ประโยชน์จากทั้งต้นของข้าวสาลี ซึ่งมีเส้นใยมากเป็นประโยชน์ต่อระบบการย่อยอาหาร โดยจากการสอบถามผู้ประกอบการ มีความต้องการข้าวสาลีที่ปลูกในประเทศไทยในปริมาณมาก เพื่อนำไปทำเป็นผลิตภัณฑ์ โดยมีความต้องการมากถึง 382 ตันต่อปี แบ่งเป็นน้ำคั้นต้นอ่อนข้าวสาลีจำนวน 10 ตันต่อปี รำข้าวสาลีจำนวน 144 ตันต่อปี ช่อข้าวสาลีจำนวน 2 ตันต่อปี ผลิตภัณฑ์แป้งโม่ (Whole Grain) สำหรับทำขนมปังจำนวน 206 ตันต่อปี น้ำอาร์ซีจำนวน 20 ตันต่อปี
ในกลุ่มตลาดเฉพาะ (Niche Market) เช่น Grain Baker ที่เป็นผู้ประกอบการด้านเบเกอรี่ ผู้ผลิตแป้งสาลีที่เน้นผลิตภัณฑ์แนวอินทรีย์หรือวิถีธรรมชาติ สำหรับผู้ประกอบการที่ต้องการเมล็ดข้าวสาลีเพื่อใช้ในการผลิต wheat grass หรือผลิตภัณฑ์ที่เกี่ยวข้อง ผู้ประกอบการเหล่านี้ต้องการเมล็ดข้าวสาลีประเภท seed ซึ่งผู้ประกอบการในกลุ่มธุรกิจดอกไม้มีความต้องการนำช่อข้าวสาลีมาใช้ในธุรกิจดอกไม้ ช่อดอกไม้ ดอกไม้ประดับ รวมถึงการใช้ประโยชน์จากฟาง โดยการนำมาทำหลอดดูด ใช้เป็นอาหารสัตว์ เพาะเห็ด ทำเครื่องจักสาน จึงเป็นโอกาสดีในการพัฒนาการผลิตข้าวสาลีในประเทศไทย และเชื่อว่าตลาดข้าวสาลีในประเทศจะมีโอกาสขยายตัวเพิ่มขึ้น
จากตลาดที่ต้องการดังกล่าว กรมการข้าวร่วมกับมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลล้านนา มหาวิทยาลัยแม่โจ้ และสำนักงานพัฒนาการวิจัยการเกษตร (องค์การมหาชน) หรือ สวก. จะจัดงานวันถ่ายทอดเทคโนโลยีการผลิตข้าวสาลี ครั้งที่ 3 ขึ้น ในวันที่ 15 กุมภาพันธ์ 2565 ณ ศูนย์วิจัยข้าวสะเมิง เพื่อประชาสัมพันธ์และเผยแพร่ผลงานของโครงการวิจัย “การพัฒนาการผลิตธัญพืชเมืองหนาวเป็นพืชหลังนาเพื่อการสร้างรายได้ให้แก่เกษตรกรภาคเหนือตอนบน” อีกทั้งเพื่อถ่ายทอดเทคโนโลยีการผลิตและการแปรรูปธัญพืชเมืองหนาวสู่การนำไปใช้ประโยชน์เพื่อเพิ่มมูลค่าและนำไปสู่การสร้างธุรกิจใหม่ตาม BCG model
ภายในงานจะมีการจัดนิทรรศการแสดงผลงานวิจัยและพัฒนาข้าวสาลีและธัญพืชเมืองหนาวเพื่อถ่ายทอดเทคโนโลยีต่างๆมากมาย อาทิ นิทรรศการด้านพันธุ์และแปลงแสดงพันธุ์ นิทรรศการด้านเทคโนโลยีการผลิตที่เหมาะสมสำหรับการปลูกในพื้นที่ภาคเหนือตอนบน นิทรรศการด้านการแปรรูปและผลิตภัณฑ์ และนิทรรศการด้านเครื่องจักรกลการเกษตร เป็นต้น อีกทั้งภายในงานยังมีการจัดกิจกรรม “กาดมั่ว คัวฮอม” ซึ่งเป็นการสาธิต/แสดง/ชิม/จำหน่ายข้าวสาลีและผลิตภัณฑ์แปรรูปจากธัญพืชเมืองหนาว พร้อมเปิดให้นักท่องเที่ยวเข้ามาเยี่ยมชมเก็บภาพเป็นที่ระลึก อีกด้วย
ทั้งนี้ผู้ที่สนใจสามารถติดตามข้อมูลข่าวสารการจัดงานวันถ่ายทอดเทคโนโลยีการผลิตข้าวสาลี ครั้งที่ 3 ได้ที่ Facebook “ศูนย์วิจัยข้าวสะเมิง” และ Facebook “Rice News Channel” หรือสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ เบอร์ 093-3121881