สจล.ร่วมมือก.เกษตรฯ พัฒนา “เอไอวิเคราะห์ศัตรูพืช” ช่วยแก้ปัญหาภาคเกษตรให้ตรงจุด-วิจัยเพิ่มศักยภาพการประมง

  •  
  •  
  •  
  •  

สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง (สจล.) ผนึกกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เดินหน้าเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันภาคการเกษตร ร่วมพัฒนา ‘เอไอวิเคราะห์ศัตรูพืช’ หรือ ‘DOAE’ (DOAE Pest Forecast Systems) ภายใต้โครงการพัฒนาการจัดการศัตรูพืชอย่างเป็นระบบด้วยนวัตกรรมเพื่อเกษตรอัจริยะ แอปฯ ผู้ช่วยเกษตรกรที่มาพร้อมความสามารถในการพยากรณ์และแจ้งเตือนการระบาดของศัตรูพืชได้อย่างแม่นยำ หนุนเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตสินค้าเกษตร ลดการสูญเสียเวลาของเกษตรกรในการแก้ปัญหาหรือหาทางกำจัดศัตรูพืชชนิดนั้นๆ ได้อย่างรวดเร็วและมีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น  พร้อมเร่งผลักดันการพัฒนางานวิจัยด้านการประมงที่มีศักยภาพสู่การใช้ประโยชน์ในพื้นที่การประมงและพื้นที่เพาะเลี้ยงสัตว์น้ำในอนาคต

    จัดขึ้นเมื่อเร็วๆ นี้ ได้มีพิธีลงนามในบันทึกความเข้าใจ เรื่อง การพัฒนาวิชาการด้านการวิจัยและการส่งเสริมการเกษตร และการพัฒนาวิชาการด้านวิจัย การส่งเสริมและพัฒนาการประมง ระหว่างดร.เฉลิมชัย ศรีอ่อน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กับศ. ดร.สุชัชวีร์ สุวรรณสวัสดิ์ อธิการบดี สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง (สจล.)  ณ สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง (สจล.) เขตลาดกระบัง กรุงเทพฯ

                                                                          ดร.เฉลิมชัย ศรีอ่อน

    ดร.เฉลิมชัย ศรีอ่อน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยว่า ด้วยยุทธศาสตร์ชาติด้านการเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน การพัฒนาระบบและสร้างมูลค่าเพิ่มให้สินค้าภาคเกษตร ประมง และปศุสัตว์ ที่มีศักยภาพในพื้นที่ เพื่อให้ชุมชนเกิดความเข้มแข็งอย่างยั่งยืน กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ในฐานะหน่วยงานที่มีบทบาทหลักในการบริหารจัดการด้านเกษตรกรรม ส่งเสริมและพัฒนาเกษตรกร ส่งเสริมและพัฒนาระบบสหกรณ์ ตลอดจนกระบวนการผลิตและสินค้าเกษตรกรรม ด้วยนวัตกรรมหรือเทคโนโลยีขั้นสูง เพื่อพัฒนาศักยภาพเกษตรกรสู่สมาร์ทฟาร์มเมอร์ (Smart Farmer) ที่มีความสามารถในการประยุกต์ใช้นวัตกรรมหรือเทคโนโลยีในอนาคต อันจะนำไปสู่การพัฒนาเศรษฐกิจฐานรากให้สามารถเติบโตได้อย่างยั่งยืน นอกจากนี้ กระทรวงฯ ยังมุ่งส่งเสริมการพัฒนางานวิจัยให้เกิดขึ้นในภาคการเกษตร ผ่านการยึดโยงหน่วยงานที่เกี่ยวข้องร่วมบูรณาการองค์ความรู้ร่วมกัน

    ล่าสุด กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ โดยการขับเคลื่อนของ ‘กรมส่งเสริมการเกษตร’ และ ‘กรมประมง’ ได้ร่วมมือกับหน่วยงานการศึกษาไทยที่มีความเข้มแข็งด้านนวัตกรรม อย่าง สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง (สจล.) เดินหน้าพัฒนางานวิจัยส่งเสริมการเกษตรและการประมง เพื่อให้เจ้าหน้าที่และเกษตรกรนำองค์ความรู้และ เทคโนโลยี และนวัตกรรมไปใช้ประโยชน์ในการเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตสินค้าเกษตร ผ่านโครงการพัฒนาการจัดการศัตรูพืชอย่างเป็นระบบด้วยนวัตกรรมเพื่อเกษตรอัจริยะ โดยกองส่งเสริมการอารักขาพืชและจัดการดินปุ๋ย ตลอดจนการพัฒนางานวิจัยด้านการประมงที่มีศักยภาพสู่การใช้ประโยชน์ในพื้นที่การประมงและพื้นที่เพาะเลี้ยงสัตว์น้ำในอนาคต

                                                              ศ.ดร.สุชัชวีร์ สุวรรณสวัสดิ์ 

  ศ.ดร.สุชัชวีร์ สุวรรณสวัสดิ์ อธิการบดี สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง (สจล.) กล่าวว่า จากความเข้มแข็งด้านนวัตกรรมและเทคโนโลยีของสถาบัน อีกทั้งการเล็งเห็นถึงโอกาสในการเพิ่มขีดความสามารถทางการแข่งขันในภาคการเกษตร สจล. โดยคณะวิศวกรรมศาสตร์ จึงได้ร่วมมือกับกองส่งเสริมการอารักขาพืชและจัดการดินปุ๋ย กรมส่งเสริมการเกษตร พัฒนาแอปพลิเคชัน ‘DOAE’ (DOAE Pest Forecast Systems) เอไอวิเคราะห์ศัตรูพืช ผู้ช่วยเกษตรกรที่มาพร้อมความสามารถในการพยากรณ์และแจ้งเตือนการระบาดของศัตรูพืชได้อย่างแม่นยำ ด้วยการติดตั้งเครื่องมือตรวจวัดสภาพภูมิอากาศและการเก็บข้อมูลทุก 4 ชั่วโมง ในแปลงต้นแบบเกษตรอัจริยะด้านการอารักขาศัตรูพืช

    ทั้งนี้เพื่อให้เกษตรกรสามารถติดตามสถานการณ์การระบาดได้เป็นระบบ รวมถึงการใช้เทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ หรือเอไอ (AI) เข้ามาช่วยในการรู้จำข้อมูลเชิงลึก (Deep Learning) ศัตรูพืชทุกชนิดที่ได้สร้างผลกระทบต่อภาคการเกษตรในฤดูกาลต่างๆ สู่การจัดทำเป็นบิ๊กเดต้า (Big Data) ‘ศัตรูพืช’ เพื่อลดการสูญเสียเวลาของเกษตรกรในการแก้ปัญหาหรือหาทางกำจัดศัตรูพืชชนิดนั้นๆ ได้อย่างรวดเร็วและมีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น

      อย่างไรก็ดี นอกเหนือจากการพัฒนาแอปฯ ดังกล่าว ยังเดินหน้าผลักดันงานวิจัยเพื่อส่งเสริมภาคการเกษตรให้เกิดขึ้นอย่างเป็นรูปธรรมในหลากมิติ อาทิ เปิดหลักสูตร “เกษตรนวัตกร” (Agrinovator) หลักสูตรร่วมระหว่างคณะวิศวกรรมศาสตร์และคณะเทคโนโลยีเกษตร เพื่อผลิตบัณฑิตเกษตรที่สามารถพัฒนานวัตกรรมทางการเกษตรได้ในอนาคต เติมเต็มศักยภาพบัณฑิตให้สามารถต่อยอดเทคโนโลยีขั้นสูงสู่ธุรกิจสตาร์ทอัพ (Startup) จนเกิดการระดมทุนของนักลงทุนทั้งชาวไทยและต่างประเทศจำนวนมาก

     อย่างนวัตกรรม “เครื่องตรวจสอบคุณภาพข้าวอัตโนมัติ” หรือ “Easy Rice” เอไอตรวจคุณภาพข้าวเพื่อลดปัญหาการตรวจสอบคุณภาพข้าวที่ไม่ได้มาตรฐาน และลดข้อผิดพลาดจากการทำงานโดยมนุษย์ (Human Error) จัดตั้ง “ศูนย์วิจัยและพัฒนานวัตกรรมครบวงจรสำหรับผู้ประกอบการ” (SME KMITL FACTory Classroom) ร้านอาหารที่รังสรรค์เมนูพิเศษจากองค์ความรู้ด้านอาหารขั้นสูงอย่าง “FI Kitchen by KMITL” โดยคณะอุตสาหกรรมอาหาร รวมถึง “เทคโนโลยีอากาศยานไร้คนขับ” โดยวิทยาลัยอุตสาหกรรมการบินนานาชาติ

      สำหรับ พิธีลงนามในบันทึกความเข้าใจ เรื่อง การพัฒนาวิชาการด้านการวิจัยและการส่งเสริมการเกษตร และการพัฒนาวิชาการด้านวิจัย การส่งเสริมและพัฒนาการประมง จัดขึ้นวานนี้ (18 พฤศจิกายน 2564) ที่สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง (สจล.) ติดตามความเคลื่อนไหวกิจกรรมของสถาบันได้ที่ เพจเฟซบุ๊ก www.facebook.com/kmitlofficial และเว็บไซต์ www.kmitl.ac.th