สวทช. หนุนเอกชน ต่อยอดงานวิจัยสู่การค้าชุดตรวจสอบสารตกค้าง “พาราควอต – ไกลโฟเซต” ในสินค้าเกษตรของ มช. ชี้ใช้ง่าย รู้ทันที

  •  
  •  
  •  
  •  

โปรแกรม ITAP  สวทช. หนุนผู้ประกอบการ ต่อยอดงานวิจัย นำมาพัฒนาชุดตรวจสารเคมีตกค้างในภาคการเกษตร เป็นชุดตรวจสอบสารกำจัดวัชพืช 2 ชนิด “พาราควอต – ไกลโฟเซต” ของทีมนักวิจัยจากมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ นำไปผลิตในเชิงการค้า  เพื่อให้มีการนำไปใช้จริงในร้านอาหารชั้นนำ และโรงแรมระดับ 5 ดาว เผยใช่ง่าย รู้ผลรวดเร็ว หวังสร้างความเชื่อมั่นด้านอาหารปลอดภัยแก่ผู้บริโภค พวงท้ายด้วยผลิตภัณฑ์น้ำยาล้างผักและผลไม้ เอาใจสายเฮลท์ตี้ ที่นิยมซื้อผักสดผลไม้ มาปรุงอาหารเองที่บ้านด้วย

     วันที่ 18 มิถุนายน 2564  ศ.ดร. พวงรัตน์ ขจิตวิชยานุกูล คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ เปิดเผยว่า โปรแกรมสนับสนุนการพัฒนาเทคโนโลยีและนวัตกรรม (ITAP) โดยศูนย์บริหารจัดการเทคโนโลยี สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) ได้สนับสนุนให้ทำงานวิจัยและพัฒนานวัตกรรม เพื่อช่วยผู้ประกอบการพัฒนาชุดตรวจสอบสารเคมีทางการเกษตรอย่างง่าย และทดสอบประสิทธิภาพผลิตภัณฑ์น้ำส้มสายชูหมักจากหยาดน้ำดอกมะพร้าว เพื่อลดปริมาณสารเคมีตกค้างและลดปริมาณเชื้อจุลินทรีย์ปนเปื้อนในผักและผลไม้ ให้กับ 2 บริษัท ประกอบด้วย บริษัท เอิร์ธแคร์ อินโนซิส จำกัด โดยพัฒนาผลิตภัณฑ์ชุดตรวจสอบ CHEMISPOT ซึ่งเป็นชุดตรวจสอบสารกำจัดวัชพืช 2 ชนิด คือ พาราควอต (Paraquat) และไกลโฟเซต (Glyphosate) สำหรับใช้คัดกรอง (screening) การตกค้างของสารเคมีในผักและผลไม้ โดยแสดงผลว่า ‘พบ’ หรือ ‘ไม่พบสารตกค้าง’ สามารถนำไปใช้งานได้ง่าย สะดวกรวดเร็ว และทราบผลทดสอบได้ทันที

                              ศ.ดร. พวงรัตน์ ขจิตวิชยานุกูล

     “ชุดตรวจสอบสารพาราควอต อยู่ในรูปของเจลทดสอบ มีสีขาวขุ่น อยู่ในภาชนะพลาสติกขนาดเล็ก การทดสอบทำได้ง่ายๆ โดยใส่ตัวอย่างของเหลว ลงในสารทดสอบ หากไม่มีสารพาราควอต สารทดสอบจะมีสีขาวใสเหมือนเดิม แต่ถ้ามีสารพาราควอต สารทดสอบจะเปลี่ยนเป็นสีฟ้าทันที โดยความเข้มของสีจะเปลี่ยนไปตามปริมาณของสารพาราควอตที่พบ ส่วนชุดตรวจสอบไกลโฟเซต อยู่ในรูปของเหลวทดสอบ  มีลักษณะสีขาวใส บรรจุในขวดแก้ว ใช้งานโดยเติมตัวอย่างที่ต้องการทดสอบ ในขวดทดสอบ เขย่าและสังเกตการเปลี่ยนแปลงของสีที่เกิดขึ้น จากการทำปฏิกิริยาของสารทดสอบกับสารไกลโฟเซต จะทำให้เกิดสีเหลืองขุ่น โดยความเข้มของสีจะเปลี่ยนไปตามปริมาณของสารไกลโฟเซตที่พบ”  ศ.ดร. พวงรัตน์ กล่าว

                                                            ชุดตรวจสอบสารพาราควอต

     ทั้งนี้ชุดตรวจสอบนี้ถูกนำไปใช้ทดสอบผักและผลไม้ในอุตสาหกรรมท่องเที่ยวและโรงแรม ซึ่งปัจจุบันได้ให้ความสำคัญกับอาหารปลอดภัยอย่างยิ่ง โดยเฉพาะอย่างยิ่งกลุ่มโรงแรม 5-6 ดาว รวมถึงร้านอาหารชั้นนำต่างๆ   นอกจากนี้แล้วยังมีผลิตภัณฑ์อีกหนึ่งตัวคือ “ชีวาดี ฟรุต แอนด์ เวจจี่    วอช” (Chiwadi Fruit Veggie Wash) เป็นผลิตภัณฑ์ที่ บริษัท ชีวาดี โปรดักส์ จำกัด ได้พัฒนาขึ้นจากหยาดน้ำดอกมะพร้าว ซึ่งได้มีการทดสอบในห้องปฏิบัติการ พบว่าประสิทธิภาพผลิตภัณฑ์เริ่มแรกสามารถลดแบคทีเรียและสารเคมีปราบศัตรูพืชได้ในระดับหนึ่ง แต่เพื่อให้ผู้บริโภคมั่นใจว่าจะได้ผักผลไม้ที่ปลอดภัยจริง

                      การตรวจสอบสารตกค้างในพืช ผัก ผลไม้

     ทั้งนี้ทีมวิจัยได้ปรับสูตรน้ำยาล้างผัก โดยต่อยอดจากสูตรเดิม ทั้งการเพิ่มสารสำคัญ ปรับสัดส่วนของสารต่างๆ ในน้ำยาล้างผักและปรับปริมาณการใช้น้ำยาล้างผัก ทำให้สามารถล้างผักและผลไม้ ให้ปลอดจากเชื้อจุลินทรีย์และสารเคมีกำจัดศัตรูพืชที่ตกค้างในผักผลไม้ ได้ในเวลาอันสั้น โดยผลทดสอบพบว่า Chiwadi Fruit Veggie Wash สูตรใหม่ สามารถกำจัดจุลินทรีย์ตกค้าง    ได้หมด และช่วยลดยาฆ่าแมลง ที่ใช้ทดสอบสองชนิด คือ Methomyl และ Lambda-Cyhalothrin จากในระดับที่ ‘ไม่ปลอดภัยมาก’ ให้เป็นระดับ ‘ปลอดภัย’ ได้  

                                                                       อุกฤษฏ์ วิศิษฐ์กิจการ

    ด้านนายอุกฤษฏ์ วิศิษฐ์กิจการ กรรมการผู้จัดการ บริษัท เอิร์ธแคร์อินโนซิส จำกัด กล่าวว่า บริษัท เอิร์ธแคร์ฯ เป็นบริษัทที่มุ่งเน้นการสร้างระบบนิเวศเพื่ออาหารปลอดภัย และสนใจที่จะพัฒนาชุดตรวจสอบที่ใช้ง่าย สามารถใช้ได้เองที่บ้าน ซึ่งการที่ได้ร่วมโครงการกับโปรแกรม ITAP สวทช. ทำให้สินค้าของบริษัท ทั้งผลิตภัณฑ์ Paraquat หรือ Glyphosate ได้รับการตอบรับจากทั้งภาครัฐและเอกชนหลายหน่วยงาน

     นอกจากนี้ตัวชุดตรวจสอบได้ถูกใช้จริงในโครงการของสำนักงานสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) แล้ว เพื่อนำร่องในโครงการอาหารปลอดภัยสำหรับให้คนในชุมชน โรงเรียน สถานพยาบาล ตื่นตัวถึงปัญหาสารเคมีตกค้างในผักและในน้ำ ทำให้นักเรียนผู้เข้าร่วมในโครงการอาหารปลอดภัย มีโอกาสใช้ชุดตรวจสอบและเห็นถึงปัญหาด้วยตนเองด้วย

      ขณะที่ นางสารภี ยวดยง กรรมการผู้จัดการ บริษัท ชีวาดี โปรดักส์ จำกัด กล่าวว่า ทีมวิจัยได้ดำเนินการทดลองและช่วยให้ผู้ประกอบการรายเล็ก สามารถเข้าถึงงานวิจัย เข้าใจลักษณะงานที่เป็นขั้นตอน ซึ่งนอกจาก    ผลการทดลองที่ทำให้ได้รับความมั่นใจในตัวสินค้าแล้ว ยังได้รับคำแนะนำการปรับให้สูตรสมดุล เพื่อประโยชน์สูงสุดกับขนาดธุรกิจของตนเอง และสร้างความน่าเชื่อถือให้กับผู้บริโภคด้วย

                                                    สารภี ยวดยง

     “ด้วยธุรกิจขนาดเล็กของเราเป็นนวัตกรรมด้านผลิตภัณฑ์ล้างผักและผลไม้อินทรีย์ ที่ไม่มีสารเคมีเป็น    รายแรกของประเทศ และได้ผลในการลดเชื้อจุลินทรีย์ทำความสะอาดและชำระล้างสารเคมีตกค้าง ประเภทกลุ่มยาฆ่าแมลงที่เกษตรกรนิยมใช้ ได้มีประสิทธิภาพดีในระดับปลอดภัย”   

      ขณะนี้ บริษัทอยู่ระหว่างดำเนินการขอขึ้นทะเบียนผลิตภัณฑ์กับ อย. เนื่องจากเป็นสินค้าใหม่ที่ใช้สารอินทรีย์ชนิดต่างๆ ซึ่งยังไม่มีในพระราชบัญญัติอาหาร หากได้รับใบอนุญาตจาก อย. เรียบร้อยแล้ว ทางบริษัทฯ พร้อมส่งออกสินค้าต่อไป เนื่องจากช่วงการระบาดของโรคโควิด-19 เรื่องของความสะอาดปลอดภัย เป็นปัจจัยสำคัญที่ผู้โภคคำนึงถึงเป็นลำดับแรก ทำให้สินค้ามีแนวโน้มแย่งชิงส่วนแบ่งการตลาดได้ทั้งในและนอกประเทศ