กรมชลฯสำเร็จพัฒนา 2 นวัตกรรมจัดการผักตบชวา “ทุ่นยางพาราสำหรับดัก-สาร สวพ.62-RID No.1ใช้ฆ่า”

  •  
  •  
  •  
  •  

กรมชลประทาน เดินหน้านวัตกรรมเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการบริหารจัดการน้ำอย่างต่อเนื่อง ล่าสุดได้พัฒนา“ทุ่นยางพาราดักผักตบชวา” ใช้ยางแผ่นรมควันจากเกษตรกรเป็นวัสดุทำทุ่น เตรียมติดตั้งแบบปูพรมกว่า 1 หมื่นทุ่นทั่วไทยในแผนปี 2564 ครอบคลุมคลองส่งน้ำและประตูระบายน้ำของสำนักงานชลประทานที่ 1-17  พร้อมต่อยอดวิจัยสาร “สวพ.62-RID No.1” กำจัดผักตบชวาต้นทุนต่ำ แต่ตายโดยสิ้นเชิง ไม่ทำลายคุณภาพน้ำ เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม 

       นายธนา สุวัฑฒน ผู้อำนวยการสำนักวิจัยและพัฒนา กรมชลประทาน เปิดเผยว่า กรมชลประทาน โดยสำนักวิจัยและพัฒนา ได้มุ่งพัฒนานวัตกรรมเครื่องจักรและเครื่องมือต่าง ๆ เพื่อประโยชน์ในการเพิ่มประสิทธิภาพในการบริหารจัดการน้ำอย่างต่อเนื่อง ล่าสุดได้พัฒนา “ทุ่นยางพาราดักผักตบชวา” (Para.-Log Boom) ซึ่งเป็นนวัตกรรมที่คิดค้นขึ้นเอง โดยนำยางพารามาใช้เป็นวัสดุทำเป็นทุ่นดักผักตบชวา เพื่อสร้างเป็นต้นแบบแนวทางการใช้ยางแผ่นรมควันจากเกษตรกรให้มากยิ่งขึ้น สอดคล้องกับนโยบายส่งเสริมการใช้ยางพาราในประเทศ และแก้ปัญหายางพาราล้นตลาด ช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการบริหารจัดการน้ำและควบคุมวัชพืชน้ำในทางน้ำชลประทานได้อีกทางหนึ่ง

    “ผักตบชวา เป็นหนึ่งในวัชพืชร้ายแรงที่ส่งผลกระทบต่อการส่งน้ำและการระบายน้ำในระบบชลประทาน จากปัญหาดังกล่าว กรมชลประทานจึงได้วางแผนการควบคุมและกำจัดผักตบชวา โดยวิจัยพัฒนาทุ่นยางพาราดักผักตบชวามาตั้งแต่ปี 2562 และในปีที่ผ่านมาได้มีการนำร่องติดตั้งใน 3 โครงการ ได้แก่ คลองพระยาบรรลือ บริเวณหน้าเครื่องผลักดันน้ำและหน้าประตูระบายน้ำ คลองผักไห่ บริเวณท้ายประตูระบายน้ำ และคลองจินดา บริเวณหน้าประตูระบายน้ำ นับว่าสามารถดักผักตบชวาได้ เป็นการควบคุมและกำจัดสิ่งกีดขวางทางน้ำได้อย่างมีประสิทธิภาพ” นายธนา กล่าว

     อย่างไรก็ตามในปีนี้ กรมชลประทาน มีแผนการขยายผลการติดตั้งทุ่นยางพาราดักผักตบชวา รวมทั้งสิ้น 10,149 ทุ่น ครอบคลุมคลองส่งน้ำและประตูระบายน้ำของสำนักงานชลประทานที่ 1-17 ซึ่งคาดว่าจะช่วยแก้ปัญหาวัชพืชกีดขวางการไหลของน้ำในระบบชลประทานได้เพิ่มมากขึ้น โดยทุ่นจำนวนประมาณ 5,000 ทุ่น หรือ ครึ่งหนึ่งของจำนวนทุ่นทั้งหมดจะติดตั้งในเขตลุ่มน้ำเจ้าพระยาเพื่อให้การส่งน้ำมีประสิทธิภาพที่ดี

      นอกจากนี้ กรมชลประทาน ยังได้วิจัยผลิตสารควบคุมกำจัดผักตบชวา จนได้สารผสม “สวพ.62-RID No.1” น้ำมันสกัดจากพืชตระกูลยูคาลิปตัส ซึ่งมีส่วนผสมของสารควบคุมการเจริญเติบโตของพืช และผสมสารกลีเซอรีน ในรูปของเกลือ โดยผ่านการทดสอบประสิทธิภาพจากห้องทดลอง พบว่าสามารถกำจัดผักตบชวาตายได้และไม่มีการตกค้างทั้งในน้ำและตะกอนท้องน้ำ

       นับเป็นวิธีที่มีประสิทธิภาพ สะดวก รวดเร็ว ประหยัดค่าใช้จ่าย เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม  โดยได้นำร่องใช้กำจัดผักตบชวาในพื้นที่สำนักงานชลประทานที่ 10 โครงการส่งน้ำและบำรุงรักษาคลองเพรียว-เสาไห้ จังหวัดสระบุรี และอ่างเก็บน้ำคลองหลวงรัชชโลทร อันเนื่องมาจากพระราชดำริ จังหวัดชลบุรี พบว่ามีประสิทธิภาพในการควบคุมกำจัดผักตบชวาตายโดยสิ้นเชิง ซึ่งวิธีการดังกล่าวใช้ต้นทุนการกำจัดตารางเมตรละ 1 บาท เท่านั้น