สุดยอดนวัตกรรมทำ “สละให้ไร้หนาม” ผลงานศูนย์วิจัยเกษตรวิศวกรรมจันทบุรี

  •  
  •  
  •  
  •  

โดย…นวลศรี   โชตินันทน์   

     “ผลการวิเคราะห์ด้านเศรษฐศาสตร์วิศวกรรม จากการลงทุนใช้เครื่องต้นแบบในการขัดหนามผลสละพบว่ามีต้นทุนค่าใช้จ่าย 82.92 บาท/กิโลกรัม ในขณะที่ใช้แรงงานคนมีต้นทุนค่าใช้จ่ายสูงกว่า คือ90.61 บาท/กิโลกรัม  เมื่อทำการขัดหนามผลสละในปริมาณที่เท่ากันและคุณภาพที่ได้ไม่แตกต่างจากการใช้แรงงานคน”

     สละเป็นผลไม้ที่รสชาติอร่อยหอมหวาน น้อยคนนักที่จะไม่ชอบรับประทานสละ เพียงแต่การรับประทานค่อนข้างจะลำบาก เพราะหนามแหลมของผลสละ ทำให้การแกะเปลือกออกรับประทานค่อนข้างลำบาก จึงมีผู้นำไปแปรรูปเป็นสละลอยแก้ว สละแช่อิ่ม เพื่อรับประทานได้ง่ายขึ้น  ทั้งยังสามารถส่งออกจำหน่ายยังต่างประเทศ ให้รับประทานกันได้ทั่วถึง

      สละ เป็นพืชที่สามารถเจริญเติบโตได้ในเกือบทุกพื้นที่ แต่ส่วนใหญ่จะปลูกกันในเขตภาคตะวันออกโดยเฉพาะจังหวัดจันทบุรี จากข้อมูลของกรมส่งเสริมการเกษตรปี 2559 พบว่ามีการปลูกสละใน จังหวัดจันทบุรี รวมพื้นที่ประมาณ 10,325 ไร่ พื้นที่ที่ให้ผลผลิตแล้ว 9,483 ไร่ ผลผลิตประมาณ 1,087 กิโลกรัม/ไร่ในปี (ไร่ (กรมส่งเสริมการเกษตร, 2560)

      ผลผลิตส่วนใหญ่เป็นการจำหน่ายในรูปผลผลิตสด ซึ่งมีทั้งการจำหน่ายในประเทศและต่างประเทศ ตลาดส่งออกหลักคือประเทศญี่ปุ่น สละที่ออกสู่ตลาดผู้บริโภคในประเทศส่วนใหญ่ เป็นการจำหน่ายในรูปแบบของสละผลสดโดยจำหน่ายในรูปแบบช่อและผลสละร่วง สำหรับการแปรรูปส่วนใหญ่เป็นการทำสละลอยแก้ว และสละแช่อิ่ม สำหรับตลาดต่างประเทศจะส่งเป็นสละผลเดี่ยว ซึ่งผู้บริโภคต้องการในรูปแบบของสละไร้หนาม

      ดร. พุทธธินันทร์ จารุวัฒน์วิศวกรการเกษตรชำนาญการพิเศษ ศูนย์วิจัยเกษตรวิศวกรรมจันทบุรี สถาบันวิจัยเกษตรวิศวกรรม กรมวิชาการเกษตร กล่าวว่า ปัจจุบันกระบวนการขัดหนามสละออกจะใช้แรงงานคนโดยตรง โดยการใช้ช้อนขูดหนามออกจากผลสละซึ่งต้องขูดเบาๆที่ผิวสละเพื่อป้องกันการเกิดรอยช้ำที่ผลแต่ละคนมีความสามารถในการทำงานต่ำเพียงประมาณคนละ5 กิโลกรัม/ชั่วโมงเท่านั้น  ประกอบกับปัจจุบันเกิดปัญหาการขาดแคลนแรงงาน และขาดความเอาใจใส่ในการทำงาน ตลอดจนขาดความสม่ำเสมอในการทำงาน หากผลสละเกิดการกระแทกจะทำให้เกิดเป็นรอยช้ำสีดำที่เนื้อสละทำให้ไม่สามารถจำหน่ายได้ นอกจากนั้นหนามสละยังเป็นปัญหากับกลุ่มแปรรูปสละลอยแก้ว คือความไม่สะดวกในขั้นตอนการแกะเปลือกออกจากผลเพื่อมาทำลอยแก้ว

        ศูนย์วิจัยเกษตรวิศวกรรมจันทบุรี จึงนำปัญหาดังกล่าวมาทำการศึกษาวิจัยและพัฒนาเครื่องมือต้นแบบสำหรับการขัดหนามออกจากผลสละ  เพื่อทดแทนการใช้แรงงาน และเพิ่มความสามารถในการทำงาน ให้รวดเร็วและผลสละที่ได้มีคุณภาพดี เพราะหนามแหลมของเปลือกสละ เป็นอุปสรรคต่อการรับประทานและเป็นการอำนวยความสะดวกและมีความสุขสำหรับผู้ที่ชอบรับประทานผลสละสดมากกว่าการแปรรูปเป็นแช่อิ่มและลอยแก้ว

 เครื่องขัดหนามผลสละต้นแบบ

  

    ดร.พุทธธินันทร์  อธิบายว่า หลักการประดิษฐ์เครื่องขัดหนามผลสละต้นแบบ สร้างให้มีขนาด กว้าง1.6 เมตร ยาว 2เมตรสูง 0.6 เมตรเป็นรูปแบบมีมุมเอียงเพื่อให้ผลสละเกิดการขัดสีกับพื้นผิวตะแกรงและขัดสีระหว่างผลสละด้วยกันเองทำให้หนามสละหลุดออกและลอดผ่านพื้นตะแกรงโยกสู่ด้านล่างของเครื่อง และเครื่องจะมีการเคลื่อนที่ไปข้างหน้าจนกระทั่งผลสละออกจากเครื่อง  และติดตั้งชุดแปรงขัดหนามสละ ซึ่งทำจากวัสดุไนล่อนทั้งหมด 2 ชุด เพื่อช่วยขัดหนามผลสละให้หมด

       ดร.พุทธธินันทร์ อธิบายต่อว่า เครื่องขัดหนามผลสละยังมีชุดดูดหนามเข้าสู่ถังเก็บหลังการขัดหนามผลสละแล้วเพื่อให้พื้นที่บริเวณการทำงานสะอาด สำหรับหนามสละที่ขัดออกจากผลแล้วยังนำไปใช้ประโยชน์ต่อไปได้อีก

 การทำงานของเครื่องขัดหนามสละ

        เครื่องจะทำงานแบบอัตโนมัติผ่านการควบคุมด้วยอุปกรณ์ Programmable Logic Controller ซึ่งสามารถเขียนโปรแกรมสำหรับควมคุมลำดับและระยะเวลาการทำงานของชุดอุปกรณ์ต่างๆทั้งหมดได้

        เครื่องขัดหนามผลสละ ประกอบด้วยชุดโครงเครื่องซึ่งทำจากวัสดุเหล็กขนาดกว้าง1.6 เมตร ยาว 2 เมตร สูง 0.6 เมตร ชุดตะแกรงโยกของหนามผลสละทำจากวัสดุตะแกรงอลูมิเนียมและชุดแปรงขัดประกอบด้วยแปรงขัด 2 ชิ้น ทำจากวัสดุไนล่อน  ชุดตะแกรงโยกและชุดแปรงขัดจะใช้ต้นกำลังร่วมกัน ได้แก่ มอเตอร์ไฟฟ้า ขนาด 1 แรงม้า 220โวลท์ ขั้นตอนการทำงานของชุดตะแกรงโยกจะเป็นการเคลื่อนไหวในแนวราบ สามารถยกขึ้นเพื่อให้สละมีการเคลื่อนที่ผ่านชุดแปรงขัดและลงสู่ภาชนะเก็บหลังการขัดหนามแล้ว

        ชุดตะแกรงโยกใช้ต้นกำลังมอเตอร์ไฟฟ้า ขนาด 0.5 แรงม้า 220 โวลท์ และเมื่อตะแกรงโยกขึ้นถึงจุดสูงสุดชุดดูดหนามสละใต้ตะแกรงโยกจะดูดหนามสละเข้าสู่ถังเก็บ เครื่องขัดหนามผลสละมีความสามารถในการทำงาน900 กิโลกรัม/ชั่วโมง ใช้พลังงานไฟฟ้ารวม 1.47 กิโลวัตต์  สภาวะในการทำงานที่เหมาะสมคือ ความเร็วรอบตะแกรงโยก 110 รอบ/นาทีมุมเอียง14 องศา สามารถขัดหนามผลสละได้หมด และผลสละสามารถเก็บรักษาได้เกิน 3วัน ที่อุณหภูมิแวดล้อมปกติโดยไม่ช้ำและไม่แตกต่างจากการใช้แรงงานคนขูดผลสละ ซึ่งมีความสามารถในการขัดหนาม 5 กิโลกรัม/ชั่วโมง/คน

       ดร.พุทธธินันทร์ บอกว่า ผลการวิเคราะห์ด้านเศรษฐศาสตร์วิศวกรรม จากการลงทุนใช้เครื่องต้นแบบในการขัดหนามผลสละพบว่ามีต้นทุนค่าใช้จ่าย 82.92 บาท/กิโลกรัม ในขณะที่ใช้แรงงานคนมีต้นทุนค่าใช้จ่ายสูงกว่า คือ90.61 บาท/กิโลกรัม  เมื่อทำการขัดหนามผลสละในปริมาณที่เท่ากันและคุณภาพที่ได้ไม่แตกต่างจากการใช้แรงงานคน

        สนใจติดต่อสอบถาม และขอดูเครื่องต้นแบบได้ที่ ศูนย์วิจัยเกษตรวิศวกรรมจันทบุรี  ทุกวันในเวลาราชการ โทร. 039-609652