“เฉลิมชัย”จับมือสถาบันการศึกษาตั้งศูนย์ AIC 77 จังหวัด หวังดันไทยเป็นผู้ส่งออกอาหารอันดับท็อปเทนของโลก

  •  
  •  
  •  
  •  

กระทรวงเกษตรณ เดินหน้าปฏิรูปภาคเกษตรครั้งใหญ่ จับมือมหาวิทยาลัยและสถบันการศึกษาทั่วประเทศ ลงนามเอ็มโอยู ตั้งศูนย์เทคโนโลยีเกษตรและนวัตกรรม 77 จังหวัด หวังพลักดันให้ไทยสู่ประเทศผู้ส่งออกอาหารอันดับท็อปเทนของโลก “เฉลิมชัย” เผยผลิตภัณฑ์มวลรวมภาคเกษตรในปี 2563 คาดว่าจะขยายตัว 2- 3%

     วันที่ 5 มีนาคม 2563 ได้พิธีการลงนามบันทึกความร่วมมือการจัดตั้งศูนย์เทคโนโลยีเกษตรและนวัตกรรม หรือ เอไอซี(Agritech and Innovation Center : AIC)ระหว่างนายเฉลิมชัย ศรีอ่อน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์  นายอลงกรณ์ พลบุตร ที่ปรึกษาประธานคณะกรรมการขับเคลื่อนนโยบายเทคโนโลยีเกษตร 4.0  นายอนันต์ สุวรรณรัตน์ ปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กับผู้แทนจากมหาวิทยาลัย/สถาบันการศึกษา 77 จังหวัดจากทั่วประเทศ  ณ โรงแรมปรินซ์พาเลส มหานาค กรุงเทพมหานคร พร้อมได้จัดให้มีการประชุมร่วมเพื่อกำหนดแนวทางการขับเคลื่อนศูนย์เทคโนโลยีและนวัตกรรม (AIC) ต่อไป

เฉลิมชัย ศรีอ่อน

       นายเฉลิมชัย กล่าวว่า การจัดตั้งศูนย์ AIC เกิดขึ้น เนื่องจากตามยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี ได้กำหนดให้ภาคเกษตรเป็นภาคการผลิตที่มีความสำคัญต่อเศรษฐกิจของประเทศ โดยปัจจุบันไทยเป็นประเทศผู้ส่งออกอาหารอันดับที่ 12 ของโลก โดยได้ตั้งเป้าหมายผลักดันให้ประเทศไทยก้าวสู่อันดับท็อปเทนของโลก ขณะที่ผลิตภัณฑ์มวลรวมภาคเกษตร หรือ GDP ในปี 2563 คาดว่าจะขยายตัว 2 – 3%ทั้งนี้ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ให้ความสำคัญกับการผลักดันการส่งออกสินค้าเกษตรเป้าหมายที่สำคัญ  

      นายเฉลิมชัย กล่าวอีกว่า ตัวเลขการส่งออกสินค้าเกษตรและผลิตภัณฑ์ของไทยไปยังตลาดโลกในช่วง 10 เดือนแรกของปี 2562 มีมูลค่าถึง 1,091,510 ล้านบาท แบ่งออกเป็น กลุ่มอาเซียน 9 ประเทศ 266,758.87 ล้าน จีน 227,486.22 ล้านบาท ญี่ปุ่น 129,883.14 ล้านบาท สหรัฐอเมริกา 105,150.19 ล้านบาท สหภาพยุโรป 27 ประเทศ 91,377.70 ล้านบาท และอื่น ๆ 270,853.96 ล้านบาท โดยสินค้าที่มีการส่งออกเพิ่มได้แก่ ผลไม้และผลิตภัณฑ์ ยางพารา ข้าวและผลิตภัณฑ์ ปลาและผลิตภัณฑ์ เนื้อไก่และผลิตภัณฑ์ น้ำตาลและผลิตภัณฑ์ มันสำปะหลังและผลิตภัณฑ์ และที่สำคัญอีกประการคือประเทศไทยยังได้เปรียบดุลการค้ากับประเทศต่าง ๆ จากความตกลงเขตการค้าเสรีของไทยภายใต้กรอบเจรจาต่าง ๆ อีกด้วย เช่น กลุ่มอาเซียนไทยได้เปรียบดุลการค้ามูลค่า 144,838 ล้านบาท จีนไทยได้เปรียบดุลการค้ามูลค่า 112,843 ล้านบาท และออสเตรเลีย ไทยได้เปรียบดุลการค้ามูลค่า 5,207 ล้านบาท เป็นต้น

      อย่างไรก็ตาม จากผลการดำเนินงานของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์พบว่า   การพัฒนาภาคเกษตรมีความท้าทายหลายด้าน ไม่ว่าจะเป็นการพัฒนาศักยภาพการผลิต การรักษาเสถียรภาพราคาสินค้า และการพัฒนาคุณภาพมาตรฐาน ตลอดจนการยกระดับคุณภาพชีวิตของเกษตรกร ทางกระทรวงเกษตรและสหกรณ์จึงจัดตั้งศูนย์เทคโนโลยีเกษตรและนวัตกรรมนี้ ได้ดำเนินการภายใต้การขับเคลื่อนนโยบายเทคโนโลยีเกษตร 4.0 มีที่ นายอลงกรณ์ พลบุตร ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์  เป็นประธาน

       การจัดตั้งศูนย์ AIC นั้น มีวัตถุประสงค์เพื่อพัฒนาขีดความสามารถในการแข่งขันภาคการเกษตรด้วยเทคโนโลยี และนวัตกรรม สนับสนุนและส่งเสริมเทคโนโลยีเกษตร การประดิษฐ์นวัตกรรม รวมทั้งเครื่องจักรกลเกษตร อีกทั้งยังเป็นศูนย์อบรมบ่มเพาะเกษตรกร สนับสนุน Smart Farmer รวมถึง Young Smart Farmer ในแต่ละจังหวัด และผลักดันงานเทคโนโลยีและนวัตกรรมผ่านการวิจัย การพัฒนา การลงทุน การแปรรูป และการบริหารจัดการเชิงพาณิชย์

       ทั้งนี้ จากรายงานของประธานคณะกรรมการขับเคลื่อนนโยบายเทคโนโลยีเกษตร 4.0 นับว่าบรรลุเป้าหมายเร็วกว่ากำหนดถึง 9 เดือนเพราะถึงวันนี้ที่มีการลงนามความร่วมมือเป็นครั้งที่ 2 ครอบคลุมถึง 70 จังหวัดและจะครบ 77จังหวัดภายในกลางเดือนมีนาคมนี้ จากที่วางเป้าหมายให้แล้วเสร็จภายในปี 2563

      สำหรับพิธีลงนามในวันนี้ ถือเป็นความสำเร็จที่เกิดจากการบูรณาการร่วมกันใน 4 พันธมิตรหลัก ประกอบด้วย ภาครัฐ ภาคเกษตรกร ภาควิชาการและภาคเอกชนในการจัดตั้งศูนย์ AIC ภายในมหาวิทยาลัย และจะนำไปสู่การจัดตั้งศูนย์เครือข่าย AIC ภายในจังหวัดต่อไป ซึ่งประกอบด้วย 1) ศูนย์ความเป็นเลิศทางด้านเทคโนโลยีและนวัตกรรมทางการเกษตร และ 2) ศูนย์วิจัย ทดลอง ทดสอบด้านเทคโนโลยีและนวัตกรรมทางการเกษตรอีกด้วย

     อย่างไรก็ตาม แนวทางการขับเคลื่อนของศูนย์ AIC มุ่งเน้นการส่งเสริมเทคโนโลยีเกษตร สิ่งประดิษฐ์ นวัตกรรมในรูปแบบต่าง ๆ โดยใช้ฐานข้อมูลเดิมที่มีอยู่ ผสมผสานระหว่างภูมิปัญญาท้องถิ่นและเทคโนโลยีเข้าด้วยกัน โดยรวบรวมช่างเกษตร ปราชญ์เกษตร ที่เป็นเกษตรกรต้นแบบใช้เทคโนโลยีที่เป็นภูมิปัญญาท้องถิ่นและเทคโนโลยีสมัยใหม่ เน้นการจัดการในพื้นที่แปลงใหญ่ ดึงกลุ่ม Young Smart Farmer เข้าร่วมเสริมสร้างองค์ความรู้ทั้งด้าน e-commerce การสร้าง Story และ Packaging รวมถึงมาตรการ กฎระเบียบต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้อง เพื่อให้เกษตรกรไทยมีองค์ความรู้และมีเครือข่ายที่ดี เพื่อพร้อมก้าวเข้าสู่ยุคเกษตร 4.0 อย่างครบวงจร