“โครงการถ่ายทอดเทคโนโลยีเพื่อพัฒนาการเกษตรในเขตนวัตกรรมระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออกฯ เป็นการถ่ายทอดความรู้และให้คำปรึกษาเกี่ยวกับเทคโนโลยีเกษตร 4.0 หรือ สมาร์ทฟาร์มมิ่ง เพื่อยกระดับความรู้ความสามารถด้านเทคโนโลยีของเกษตรกรอย่างครบวงจรตั้งแต่การผลิต ไปจนถึงการทำตลาด”
SMART FARM หรือ เกษตรอัจฉริยะ คือการทำเกษตรยุคใหม่ ยุคดิจิทัลไทยแลนด์ 4.0 ด้วยการนำเทคโนโลยี เครื่องจักรและนวัตกรรมต่าง ๆ ที่มีความแม่นยำสูงเข้ามาใช้ในการทำงาน ที่สำคัญต้องปลอดภัยทั้งต่อเกษตรกร สิ่งแวดล้อมและผู้บริโภค โดยมีเป้าหมายเพื่อช่วยในการเพิ่มผลผลิตได้อย่างมีประสิทธิภาพ ซึ่งสถาบันการจัดการเทคโนโลยีและนวัตกรรมเกษตร (อะกรีเทค) ภายใต้ สวทช. ได้ริเริ่มโครงการ “การถ่ายทอดเทคโนโลยีเพื่อพัฒนาการเกษตรในเขตนวัตกรรมระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (EECi) ด้วยวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรม” โดยนำร่องกับเกษตรกรชาวสวนทุเรียน กลุ่มปรับปรุงคุณภาพทุเรียนวังจันทร์ อำเภอวังจันทร์ จังหวัดระยอง
นางสาววิราภรณ์ มงคลไชยสิทธิ์ รองผู้อำนวยการสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) กล่าวว่า สถาบันการจัดการเทคโนโลยีและนวัตกรรมเกษตร (อะกรีเทค) มีบทบาทหน้าที่หลักในการนำผลงานวิจัยจาก สวทช. และพันธมิตรมาต่อยอดสู่การใช้งานจริงในพื้นที่ และถ่ายทอดเทคโนโลยีสู่ชุมชนอย่างทั่วถึง โดยใช้กลไกความร่วมมือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งภาครัฐและภาคเอกชน เพื่อให้เกิดการปฏิรูปภาคเกษตรด้วยเทคโนโลยีและพัฒนาความเข้มแข็งของชุมชน ลดความเหลื่อมล้ำ เชื่อมโยงสู่เศรษฐกิจชีวภาพ สำหรับโครงการถ่ายทอดเทคโนโลยีเพื่อพัฒนาการเกษตรในเขตนวัตกรรมระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออกฯ เป็นการถ่ายทอดความรู้และให้คำปรึกษาเกี่ยวกับเทคโนโลยีเกษตร 4.0 หรือ สมาร์ทฟาร์มมิ่ง (Smart Farming) เพื่อยกระดับความรู้ความสามารถด้านเทคโนโลยีของเกษตรกรอย่างครบวงจรตั้งแต่การผลิต ไปจนถึงการทำตลาด
เกษตร 4.0 หรือ การทำเกษตรแบบสมาร์ทฟาร์มมิ่ง (Smart farming) หรือ เทคโนโลยีเกษตรอัจฉริยะเน้นการบริหารจัดการ ใช้เทคโนโลยี ความคิดสร้างสรรค์ ความได้เปรียบของความหลากหลายทางชีวภาพและสังคมวัฒนธรรมในการขับเคลื่อน เพื่อเข้ามาพัฒนาและยกระดับประสิทธิภาพการผลิต การสร้างมูลค่าเพิ่ม การแปรรูป รวมถึงการทำตลาด โดยมีการบ่มเพาะเกษตรกรรุ่นใหม่ที่เรียกว่ากลุ่ม Young Smart Farmer ซึ่งเป็นเกษตรกรอายุไม่เกิน 45 ปีที่สามารถนำเทคโนโลยีใหม่ๆ มาเพิ่มประสิทธิภาพการผลิต ไม่ว่าจะเป็นการวิเคราะห์สภาพของดินที่จะใช้ในการปลูกพืช การจัดการสภาวะของดิน น้ำ ปุ๋ย รวมไปถึงการใช้แอปพลิเคชั่นต่างๆ ในการบริหารจัดการฟาร์มที่เน้นการทำเกษตรแบบแม่นยำ เน้นการนำเทคโนโลยีมาช่วยบริหารจัดการที่ใช้ทรัพยากรน้อยแต่ทำได้มาก หรือทำได้อย่างมีประสิทธิภาพสูง และเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม เป็นการใช้ทรัพยากรอย่างคุ้มค่า แต่เกิดประโยชน์อย่างสูงสุด คำนึงถึงความปลอดภัยของผู้ผลิตและผู้บริโภค และผลผลิตมีคุณภาพได้มาตรฐาน
สวนทุเรียนตัวอย่างที่นำเทคโนโลยี Smart IOT กับการทำเกษตรแบบสมาร์ทฟาร์มมิ่ง (Smart farming) เพื่อเพิ่มผลผลิต
นายเฉลิมชัย เอี่ยมสะอาด นักวิชาการอาวุโส ฝ่ายถ่ายทอดเทคโนโลยีเพื่อเกษตรและชุมชน สท. ซึ่งทำหน้าที่เป็นวิทยากรพี่เลี้ยงในโครงการดังกล่าว อธิบายว่าได้มีการนำเทคโนโลยี Smart IOT คือระบบติดตามและควบคุมการให้น้ำสำหรับพืชไร่-พืชสวนอัตโนมัติ มาแนะนำให้เกษตรกรชาวสวนทุเรียนทดลองใช้ในพื้นที่ของตน ระบบนี้ควบคุมได้ง่ายผ่านระบบอินเทอร์เน็ต ใช้เซ็นเซอร์ช่วยในการตรวจสอบการเปลี่ยนแปลงของสภาพอากาศและความชื้น แล้วปรับการให้น้ำต้นทุเรียนอย่างเหมาะสม เพื่อช่วยในการเพิ่มผลผลิตให้มีประสิทธิภาพมากกว่าสวนทุเรียนที่ใช้วิธีการปลูกแบบเดิม
นายสมบูรณ์ งามเสงี่ยม เกษตรกรเจ้าของสวนบัวแก้ว หนึ่งในกลุ่มปรับปรุงคุณภาพทุเรียนวังจันทร์ อำเภอวังจันทร์ จังหวัดระยอง เล่าว่า การให้น้ำเป็นหัวใจสำคัญของการปลูกไม้ผลต่างๆ รวมถึงทุเรียน ทำให้ทุเรียนออกดอก ติดผล ผลมีลักษณะสมบูรณ์ไม่ร่วง สมัยก่อนที่ยังไม่มีการนำระบบติดตามและควบคุมการให้น้ำสำหรับพืชไร่-พืชสวนอัตโนมัติมาใช้นั้นต้องอาศัยการสังเกตดูสภาพดินด้วยตาตัวเองซึ่งบางครั้งอาจไม่แม่นยำเพียงพอ
ปัจจุบันสามารถดูตัวเลขความชื้นจากระบบเซ็นเซอร์ ถ้าค่าความชื้นของดินต่ำไป ระบบจะเปิดให้น้ำโดยอัตโนมัติ นอกจากนี้ยังสามารถดูค่าต่างๆ ผ่านอินเทอร์เน็ตด้วยสมาร์ทโฟน จึงสามารถควบคุมดูแลได้ไม่ว่าจะอยู่ที่ไหนก็ตาม ค่าตัวเลขที่ระบบบันทึกไว้ยังช่วยในการเฝ้าระวังโรคและแมลงที่อาจมารบกวนต้นทุเรียนในสวน จึงช่วยในการป้องกันความเสี่ยง ลดความเสียหาย และทำให้ได้ผลผลิตมีคุณภาพ
สวทช. ยังคงมุ่งมั่นในการพัฒนาความรู้ด้านเทคโนโลยีเกษตร 4.0 และสมาร์ทฟาร์มมิ่งให้กับเกษตรกร ด้วยการส่งเสริมการเข้าถึงและความเข้าใจเทคโนโลยีการเกษตรสมัยใหม่ พร้อมทั้งร่วมมือกับสถาบันการศึกษาที่มีวิทยาเขตหรือเครือข่ายทั่วประเทศ รวมถึงหน่วยงานอื่นๆ อาทิ กรมส่งเสริมการเกษตร ในการถ่ายทอดความรู้และเป็นพี่เลี้ยงให้เกษตรกร เพื่อช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการผลิต ลดต้นทุน เพิ่มผลผลิต ยกระดับรายได้เกษตรกร ซึ่งจะส่งผลดีต่อเศรษฐกิจในภาพรวมของประเทศ