มก.เอามั้ง!! วิจัยพืชกัญชาหาสารต้านเซลล์มะเร็มปากมดลูก-ตับ

  •  
  •  
  •  
  •  

มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ เตรียมสตาร์ทเครื่องเดินหน้างานวิจัยพืชกัญชา เน้นแยก cannabinoids อื่น ๆ  ออกจาก tetrahydrocannabinol เพื่อทดสอบการออกฤทธิ์การต้านเชลล์มะเร็งทั้งในปากมดลูกและเซลล์มะเร็งตับ หลังจาก 2 บริษัทเอกชน “อาร์แอนด์บี ฟู้ด ซัพพลายฯ-บีเจ ฟู้ด กรุ๊ป” ลงขัน 1 ล้านบาท มอบให้มหาวิทยาลัยเกษตรเกษตรศาสตร์ ใช้สำหรับงานวิจัยด้านการสกัดสารจากพืชสมุนไพร เพื่อประโยชน์ในอุตสาหกรรมอาหารและการแพทย์

       วันที่ 15 พฤษภาคม 2562 ณ ห้องประชุม 9 อาคารสารนิเทศ 50 ปี มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ บางเขน กรุงเทพฯ ดร.จงรัก วัชรินทร์รัตน์ รักษาการแทนอธิการบดีมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ รับมอบทุนวิจัยจำนวน 1 ล้านบาท จาก ดร.สมชาย รัตนภูมิภิญโญ ประธานกรรมการบริษัทอาร์แอนด์บี ฟู้ด ซัพพลาย จำกัด (มหาชน) และนายณัฏฐนันท์ พันธุวงศ์ ประธานกรรมการบริษัท บีเจ ฟู้ด กรุ๊ป จำกัด เพื่อสนับสนุนการวิจัยด้านการสกัดสารสำคัญจากพืชสมุนไพรที่เป็นประโยชน์ในอุตสาหกรรมอาหารและการแพทย์ เพื่อทดสอบการออกฤทธิ์ทางชีวิภาพ เช่น การต้านอนุมูลอิสระหรือสมบัติการต้านมะเร็งในห้องปฏิบัติการ โดยมี รศ.ดร.วีรชัย พุทธวงศ์ คณะศิลปศาสตร์และวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ วิทยาเขตกำแพงแสน เป็นหัวหน้าโครงการวิจัย ร่วมรับมอบทุนวิจัยดังกล่าว พร้อมด้วยคณะผู้บริหารของทั้งสองหน่วยงาน

       สำหรับงานวิจัยดังกล่าว มีระยะเวลาดำเนินการ 9 เดือน โดยมุ่งเน้นการสกัดน้ำมันจากพืชสมุนไพรหลายชนิดเพื่อนำไปใช้ประโยชน์ในอุตสาหกรรมอาหารและการแพทย์ เช่น ผักชีฝรั่ง, เล็บครุฑ, ข่อย, ชะพลู, ผักแพว, คาวตอง, หางปลาช่อน, ผักชีลาว, ผักคราด, สาบเสือ, อบเชย, ต้นเลือดควาย รวมถึงพืชกัญชาด้วย

       ด้าน รศ.ดร.วีรชัย พุทธวงศ์ หัวหน้าโครงการวิจัย กล่าวงานวิจัยพืชกัญชาด้วยว่า  จะดำเนินการแยก cannabinoids อื่น ๆ ได้แก่ delta-8-tetrahydrocannabinol, cannabidiol (CBD), cannabinol (CBN), cannabicyclol (CBL), cannabichromene (CBC) และ cannabigerol (CBG)  ออกจาก tetrahydrocannabinol (หรือ delta-9-tetrahydrocannabinol หรือที่รู้จักกันทั่วไปว่าเป็น THC) เพื่อศึกษาเป็นการเฉพาะเพื่อทดสอบการออกฤทธิ์การต้านมะเร็งในหลอดทดลอง โดยใช้เทคนิคการสกัดทางเคมีแบบต่างๆเปรียบเทียบกันในห้องปฏิบัติการ เพื่อใช้เป็นข้อมูลอ้างอิงในการใช้ประโยชน์ทางการแพทย์ในอนาคต โดยการทดสอบสมบัติการต้านเซลล์มะเร็ง

       คาดว่าจะทดสอบได้คือ Mouse Lymphocytic Leukemia (P388), Human Carcinoma of the Floor of Mouth (KB) และ Human Mammary Carcinoma (MCF-7) และทดสอบเพิ่มเติมกับ เซลล์มะเร็งปากมดลูก (HeLa, cervix carcinoma cell) และเซลล์มะเร็งตับ (HepG-2, humanliver carcinoma) โดยวิธี MTT [3-(3,5-dimethylthiazol-2,5-diphenyltetra-zoliumbromide)] assay

        อย่างไรก็ตามการดำเนินการวิจัยดังกล่าวจะต้องเป็นไปตามระเบียบขั้นตอนต่างๆของมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์อย่างเคร่งครัด ขณะเดียวกันผู้วิจัยจะทำหนังสือขออนุญาตใช้พืชกัญชาของกลางจากกองกำกับการตำรวจปราบปรามยาเสพติด (ป.ป.ส.) และหนังสือขออนุญาตวิจัยในระดับห้องปฏิบัติการเคมีทางยาจาก สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อ.ย.) ตามลำดับเช่นกัน