โดย…ดร.นิพนธ์ เอี่ยมสุภาษิต
การเกษตรกำลังเผชิญกับความท้าทายที่ยากลำบากในอีกหลายปีข้างหน้า รวมถึงประชากรโลกที่เพิ่มขึ้นและที่ดินซึ่งเหมาะแก่การเพาะปลูกและน้ำกลายเป็นสิ่งหายาก วิธีทำการเกษตรแบบดั้งเดิมเพื่อพัฒนาผลผลิตที่ใช้เป็นอาหารให้ตรงกับความต้องการ คือ การใช้ปุ๋ยเคมีและสารเคมีกำจัดแมลงศัตรูนั้นไม่ยั่งยืน เนื่องจากมลพิษและผลกระทบเชิงลบที่มีต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ
ทางเลือกหนึ่งในการช่วยแก้ไขปัญหานี้คือการทดแทนที่สารเคมีแบบดั้งเดิมด้วยจุลินทรีย์เพื่อเพิ่มการเจริญเติบโตของพืช เป็นที่รู้จักกันในนาม ปุ๋ยชีวภาพ (biofertilizers) ผลิตภัณฑ์เหล่านี้เปลี่ยน microbiome (จีโนมของจุลินทรีย์ทั้งหมดที่อาศัยในร่างกายของสิ่งมีชีวิตอีกชนิดหนึ่ง เช่น ในร่างกายของคนปกติ มีจุลินทรีย์อยู่มากมาย โดยส่วนใหญ่มากกว่า 90 เปอร์เซ็นต์อยู่ที่ลำไส้ใหญ่ส่วนท้ายที่เรียกว่าโคลอน) ของดินเพื่อให้ธาตุอาหารพืชและมีมลพิษน้อยกว่าปุ๋ยเคมี
ปุ๋ยชีวภาพมีประสิทธิภาพเมื่อใช้ในสภาพโรงเรือน ที่สามารถควบคุมสภาพแวดล้อมได้ อย่างไรก็ตามในสภาพแปลงปลูกจะมีแรงกดดันด้านสิ่งแวดล้อมทำให้จุลินทรีย์มีประสิทธิภาพน้อยลง Kapsera (บริษัทที่ลงทุนทางด้านเทคโนโลยีชีวภาพ)ตั้งเป้าที่จะเอาชนะข้อจำกัด นี้โดยการพัฒนาจุลินทรีย์ให้อยู่ในแคปซูลที่ทำจาก alginate (อัลจิเนต) ซึ่งเป็นกัมชนิดหนึ่งที่ได้จากกรดแอลจินิก (alginic acid) จัดเป็นคาร์โบไฮเดรตเชิงซ้อนที่สกัดได้จากสาหร่ายทะเลสีน้ำตาล
แคปซูลดังกล่าวมีขนาดเล็กกว่าเม็ดทราย ภายในแคปซูลประกอบด้วยแกนกลางซึ่งเป็นส่วนของเหลวที่เป็นที่อยู่ของจุลินทรีย์ที่มีประโยชน์ ล้อมรอบด้วยเปลือกที่ช่วยให้สารอาหารและก๊าซผ่านได้ เพื่อให้จุลินทรีย์สามารถอยู่รอดได้ภายในแคปซูล
ครับ น่าหามาลองใช้ ไม่ทราบว่าจะมีราคาแพงไหม?
อ่านเพิ่มเติมได้ที่ https://labiotech.eu/biotech-of-the-week/kapsera-fertilizers-microbiome-crop