วันที่14 มกราคมของทุกปี ” วันอนุรักษ์ทรัพยากรป่าไม้ของชาติ” เป็นการกระตุ้นเตือนทุกภาคส่วนตระหนักถึงความจำเป็นและความสำคัญของป่าไม้ ทรัพยากรธรรมชาติที่มีความสำคัญต่อเศรษฐกิจและสังคม มีผลต่อการดำรงอยู่ของสิ่งมีชีวิตและมนุษย์ รวมทั้งเพื่อตระหนักถึงผลกระทบและอันตรายจากการตัดไม้ทำลายป่า ซึ่งแผนยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี หรือภายในปี พ.ศ. 2580 กำหนดเป้าหมายเพิ่มพื้นที่ป่าไม้ให้ได้ร้อยละ 55 ของพื้นที่ประเทศ จากปัจจุบันพื้นที่ป่าของประเทศอยู่ที่ร้อยละ 31
นโยบายของภาครัฐที่เอาจริงเอาจังกับปัญหาการตัดไม้ทำลายป่า การมีส่วนร่วมของชุมชน การเข้ามามีบทบาทของภาคเอกชนในการขับเคลื่อนการอนุรักษ์และฟื้นฟูป่าไม้ของชาติ ช่วยรักษาสัดส่วนพื้นที่ป่าไม่ให้ลดลง ตลอดจนการนำนวัตกรรมและกระบวนการปลูกป่าเพื่อฟื้นฟูป่าไม้ให้กลับสู่ธรรมชาติได้เร็วขึ้นมาใช้
พื้นที่ “เขาพระยาเดินธง” อำเภอพัฒนานิคม จังหวัดลพบุรี เป็นพื้นที่ต้นแบบในการอนุรักษ์และฟื้นฟูป่าต้นน้ำที่สำคัญ จากป่าเสื่อมโทรม เต็มไปด้วยหนามสนิมและวัชพืชขึ้นปกคลุม ทำให้ยากแก่การฟื้นตัวได้เองตามธรรมชาติ จำเป็นต้องได้รับการฟื้นฟูที่ดี เพื่อให้ป่ากลับมาอุดมสมบูรณ์
กรมป่าไม้ องค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก(องค์การมหาชน) สำนักงานพัฒนาเศรษฐกิจจากฐานชีวภาพ(องค์การมหาชน) และ บริษัท เจริญโภคภัณฑ์อาหาร จำกัด (มหาชน) หรือซีพีเอฟ ร่วมมือกันอนุรักษ์และฟื้นฟูป่าต้นน้ำในลุ่มน้ำป่าสัก 5,971 ไร่ ภายใต้โครงการ”ซีพีเอฟรักษ์นิเวศลุ่มน้ำป่าสักเขาพระยาเดินธง” ซึ่งถือเป็นป่าผืนแรกของประเทศไทยที่ใช้นวัตกรรมฟื้นฟูป่า 4 รูปแบบผสมผสานกันตามความเหมาะสมของพื้นที่
“นวัตกรรมฟื้นฟูป่าเสื่อมโทรม” เป็นกระบวนการที่ช่วยย่นระยะเวลาให้ป่ากลับมาสมบูรณ์ได้เร็วกว่าการปล่อยให้ฟื้นตัวตามธรรมชาติ โดยมีกระบวนการสำรวจโครงสร้างป่า นำมาวิเคราะห์พัฒนาและวางแผน ทำให้เกิดรูปแบบการฟื้นฟูป่า 4 รูปแบบ คือ 1. การปลูกป่าแบบพิถีพิถัน (จัดทำระบบให้น้ำแบบหยดทั่วทั้งแปลง) พื้นที่มีสภาพเสื่อมโทรมมาก จำเป็นต้องดำเนินการทุกขั้นตอนด้วยความพิถีพิถัน ตั้งแต่การคัดเมล็ดพันธุ์ การรดน้ำ การใส่ปุ๋ย และการกำจัดวัชพืช
2. การปลูกป่าเชิงนิเวศ การปลูกป่าเลียนแบบธรรมชาติ เพิ่มความชุ่มชื้นด้วยการปลูกต้นกล้วยให้เป็นพี่เลี้ยง และใช้กล้าไม้ที่โตได้ดีในท้องถิ่น คลุมฟางที่โคนต้นโดยใช้น้ำหมักชีวภาพเป็นตัวเสริมธาตุอาหารในดิน 3.การปลูกป่าแบบเสริมป่า พื้นที่มีแม่ไม้และลูกไม้เกิดขึ้นตามธรรมชาติ แต่ไม่กระจายทั่วพื้นที่ จึงต้องปลูกต้นไม้เสริมและกำจัดเถาวัลย์ที่ปกคลุมเรือนยอด เปิดให้แสงส่องถึงลูกไม้ที่อยู่พื้นดิน และ4 . การส่งเสริมการสืบพันธุ์ตามธรรมชาติ พื้นที่มีแม่ไม้และลูกไม้อยู่แล้ว แต่ไม่สามารถสืบพันธุ์หรือเติบโตเป็นไม้ใหญ่ได้ เนื่องจากเถาวัลย์กดทับเรือนยอดและบังแสง ต้องกำจัดเถาวัลย์ที่ปกคลุม เปิดให้แสงส่องถึงลูกไม้ที่อยู่พื้นดิน
ถนอมพงษ์ สังข์ธูป หัวหน้าโครงการฟื้นฟูสภาพป่าไม้ เขาพระยาเดินธง กล่าวว่า ลักษณะพื้นที่ในโครงการเขาพระยาเดินธง เป็นพื้นที่่ป่าส่วนหนึ่งที่เหลือในเขตของอำเภอพัฒนานิคม นอกจากนั้นก็เป็นพื้นที่ทำกิน พื้นที่ต้นน้ำตรงนี้เป็นแหล่งสุดท้ายของอำเภอก่อนที่จะลงแม่น้ำป่าสัก การรักษาพื้นที่ตรงนี้ไว้ก็ช่วยแหล่งต้นน้ำแม่น้ำป่าสัก และชาวอำเภอพัฒนานิคมได้ใช้ประโยชน์ต่อไปในอนาคต พันธุ์ไม้หลากหลายชนิดที่นำมาปลูกไว้ในพื้นที่ เพื่อสร้างสภาพป่าตรงนี้ให้เป็นป่าธรรมชาติจริงๆ ไม่เหมือนกับสวนป่าปลูกทั่วไป
ผู้ใหญ่ “รอบ ชัยวัติ” ผู้ใหญ่บ้านหมู่ 3 ตำบลพัฒนา ซึ่งอยู่ในบริเวณพื้นที่เขาพระยาเดินธง กล่าวว่า นับตั้งแต่โครงการฯ เริ่มเข้ามาพัฒนาพื้นที่ในมิติต่างๆ ทั้งการปลูกป่า สร้างฝาย รวมถึงให้การสนับสนุนสิ่งปลูกสร้างอื่นๆ ความสมบูรณ์ในพื้นที่เขาพระยาเดินธงเพิ่มขึ้นตามลำดับ ฝนฟ้าที่เคยขาดแคลนก็ตกต้องตามฤดูกาล พันธุ์ไม้ต่างๆ ที่กรมป่าไม้คัดสรร เพื่อปลูกเลียนแบบธรรมชาติ อาทิ ต้นโพธิ์ สะเดา คูน ปีป อินทนิล มะค่า มะค่าโมง รวมถึงต้นพยูง นอกจากเจริญเติบโตได้ดีในพื้นที่แล้ว ยังเอื้อต่อการแพร่ขยายพันธุ์ของนกชนิดต่างๆ รวมถึงการเป็นแหล่งพักพิงที่ดีของสัตว์ป่าในอนาคตต่อไป
“โครงการซีพีเอฟรักษ์นิเวศลุ่มน้ำป่าสักเขาพระยาเดินธง” เป็นโครงการที่ได้รับรางวัลจากหน่วยงานภายนอกและภายในองค์กร โดยเมื่อปี 2561 กรมป่าไม้มอบโล่ให้ซีพีเอฟ ในฐานะผู้ช่วยเหลือราชการกรมป่าไม้ ประจำปี 2561 สาขาการฟื้นฟูและพัฒนาทรัพยากรป่าไม้
จากการดำเนินโครงการ “ซีพีเอฟ รักษ์นิเวศ ลุ่มน้ำป่าสัก เขาพระยาเดินธง”และล่าสุดได้รับรางวัล Chairman Awards ในงานมหกรรมนวัตกรรมบัวบาน เครือเจริญโภคภัณฑ์ 2019
ป่าเขาพระยาเดินธง เป็นแหล่งต้นน้ำลำธารสำคัญของลุ่มน้ำป่าสักตอนล่าง ด้วยความร่วมมือของหน่วยงานภาครัฐ ภาคเอกชน และชุมชนในพื้นที่ เพื่ออนุรักษ์ป่าไม้ของชาติ นอกจากพื้นที่ป่าไม้ที่ได้รับการฟื้นฟูให้กลับมาอุดมสมบูรณ์แล้ว
ระโยชน์ที่ได้รับจากโครงการ ช่วยเพิ่มพื้นที่ต้นน้ำและลดปริมาณตะกอนที่ไหลลงแม่น้ำป่าสัก ช่วยลดปริมาณก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์จากชั้นบรรยากาศ โดยการกักเก็บไว้ในต้นไม้ อินทรียวัตถุและในดิน เป็นแหล่งพืชอาหาร สมุนไพร และไม้ใช้สอยให้กับชุมชน เป็นแหล่งศึกษาและเรียนรู้เกี่ยวกับการฟื้นฟูสภาพป่าไม้ให้กับเยาวชนและประชาชนแล้ว มูลค่าเพิ่มที่ได้จากโครงการ คือ เป็นแหล่งเรียนรู้ระบบนิเวศ และพื้นที่ต้นแบบในการอนุรักษ์และฟื้นฟูป่าต้นน้ำต่อไป