เยี่ยมมาก!! งานวิจัย มก.“สแนคจากข้าวไรซ์เบอร์รี่”สู่การค้าแล้ว

  •  
  •  
  •  
  •  

โดย…ดลมนัส กาเจ

          ในที่สุดผลงานวิจัยสแนคจากข้าวไรซ์เบอร์รี่โดยใช้เทคโนโลยีเอกซ์ทรูชัน” ภายใต้โครงการ Innovation Hubs – Agriculture & Food  เพื่อสร้างเศรษฐกิจฐานนวัตกรรมของประเทศตามนโยบายประเทศไทย4.0 ประเภท Pre-Seed ผลงานของทีมนักวิจัยจากสถาบันค้นคว้าและพัฒนาผลิตภัณฑ์อาหาร มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ที่มี นายวรพล เพ็งพินิจ เป็นหัวหน้าทีมนั้น ได้รับความสนใจจากผู้ประกอบการ “บริษัท โฟร์เอฟอะโกร จำกัด” ที่จะนำเทคโนโลยีนี้ไปต่อยอดเพื่อผลิตเป็นผลิตภัณฑ์อาหารในรูปแบบของพาณิชย์ หรือการค้าเป็นที่เรียบร้อยแล้ว

         ทั้งนี้เมื่อวันที่ 21 พฤศจิกายน 2561 ที่ผ่านมา ดร.สันติ  แสงเลิศไสว รักษาการแทนผู้ช่วยอธิการบดีฝ่ายบริการวิชาการมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ และ คุณสุภา สกุลศิริรัตน์ ตัวแทนบริษัท โฟร์เอฟอะโกร จำกัด ร่วมกันลงนามในบันทึกข้อตกลง(เอ็มโอยู)ว่าด้วยการอนุญาตให้ใช้สิทธิในผลงานวิจัยสแนคจากข้าวไรซ์เบอร์รี่โดยใช้เทคโนโลยีเอกซ์ทรูชันที่พัฒนาขึ้นภายใต้ผลงานวิจัยของมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ซึ่งการลงนามในครั้งนี้มีขึ้น ณ ห้องประชุม 8 ชั้น 2 อาคารสารนิเทศ 50 ปี มหาวิทยาลัย เกษตรศาสตร์

           เนื้อหาสาระในการลางนามเอ็มโอยู ในครั้งนี้ บริษัท โฟร์เอฟอะโกร จำกัดสามารถนำเทคโนโลยีที่ได้จากงานวิจัยดังกล่าวไปพัฒนาเป็นผลิตภัณฑ์ใหม่ออกสู่ตลาดเชิงพาณิชย์ ในระยะเวลา 3 ปีนับเป็นการส่งต่อเทคโนโลยีสร้างสรรค์จากสถาบันอุดมศึกษาในการพัฒนาผู้ประกอบการให้มีความเข็มแข็งและสร้างผลิตภัณฑ์ใหม่ออกสู่ตลาดอย่างมั่นใจ

ทีมนักวิจัย

         ผลงานวิจัยสแนคจากข้าวไรซ์เบอร์รี่ฯ ริเริ่มขึ้นภายใต้โครงการ Innovation Hubs – Agriculture & Food เพื่อสร้างเศรษฐกิจฐานนวัตกรรมของประเทศตามนโยบายประเทศไทย4.0 ประเภท Pre-Seed โดย นายวรพล เพ็งพินิจ และทีมนักวิจัยสถาบันค้นคว้าและพัฒนาผลิตภัณฑ์อาหาร มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ได้คิดค้นสูตรอาหารที่เหมาะสำหรับผลิตภัณฑ์ต้นแบบที่มีการใช้ข้าวไรซ์เบอร์รี่ ข้าวกล้องหอมมะลิแดง ข้าวกล้องหอมมะลิและถั่วแดงเป็นวัตถุดิบหลัก 

         สำหรับสแนคจากข้าวไรซ์เบอร์รี่ ฯใช้วัตถุดิบหลักจากกลุ่มสตรีอาสาพัฒนาเกษตรกรทุ่งสมอ ตำบลทุ่งสมอ อำเภอพนมทวน จังหวัดกาญจนบุรี มาผ่านกระบวนการแปรรูปโดยใช้เครื่องเอกซ์ทรูชันชนิด สกรูคู่ซึ่งประกอบด้วยขั้นตอน การผสม ( mixing ) การทำให้สุก ( cooking )การนวด ( kneading ) การเฉือน และการขึ้นรูปจนได้ผลิตภัณฑ์ต้นแบบที่มีคุณค่าทางโภชนาการดีต่อสุขภาพไม่มีคอเลสเตอรอล และมีปริมาณเส้นใยอาหารสูง

         นับเป็นการส่งต่อคุณค่าของผลงานวิจัยไทยให้ปรากฏเป็นรูปธรรมสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับวงการอุตสาหกรรมข้าวและสอดคล้องกับนโยบายของประเทศไทย 4.0 ที่มุ่งสร้างเศรษฐกิจฐานนวัตกรรมอีกด้วย