กรมชลฯลุยต่อถนนยางพาราปี 62 เป้า 2,000 กม.ใช้ยางกว่า 3 หมื่นตัน

  •  
  •  
  •  
  •  

กรมชลประทานเตรียมงบฯปี 62 ทำแผนการนำยางพารามาใช้ในการดำเนินงาน  569 รายการ สร้างถนนระยะทางกว่า 2,000 กม. ใช้ยางพาราถึง 30,521.42 ตัน ตามโครงการส่งเสริมการใช้ยางในหน่วยงานภาครัฐ หลังจากปีงบประมาณ 2561 ดำเนินการไปแล้ว 317 รายการ สร้างถนนยาว 999.656 กม.ใช้ยางพารา 3,509.50 ตัน ล่าสุด“ลักษณ์” นำทีมตรวจเยี่ยมโครงการมาแล้วที่นครพนม

เมื่อวันที่ 15 พฤศจิกายน 2561 นายลักษณ์ วจนานวัช รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ พร้อมด้วยนายเลอศักดิ์ ริ้วตระกูลไพบูลย์ ที่ปรึกษารัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรฯ และนายสุพัฒน์ เอี้ยวฉาย ผู้ช่วยเลขานุการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรฯ เดินทางไปตรวจเยี่ยมโครงการไทยนิยม ยั่งยืน ตามแผนงานยุทธศาสตร์ปฏิรูปโครงสร้างการผลิตภาคเกษตร โครงการส่งเสริมการใช้ยางพาราในหน่วยงานภาครัฐ ณ จังหวัดนครพนม โดยตรวจเยี่ยมการปรับปรุงถนนราดยางคลองส่งน้ำสายใหญ่ฝั่งขวา โดยใช้พาราซอยซีเมนต์ วิธีการทำงานแบบ Recycling ณ อ่างเก็บน้ำห้วยแคน ต.หนองฮี อ.ปลาปาก จ.นครพนม

จากนั้นไปตรวจเยี่ยมการปรับปรุงถนนลาดยางทำนบดิน อ่างเก็บน้ำห้วยกกคูณ ณ อ่างเก็บน้ำห้วยกกคูณ ต.ก้านเหลือง อ.นาแก จ.นครพนม ซึ่งกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ โดยสำนักงานชลประทานที่ 7 ได้รับจัดสรรงบประมาณเพื่อนำมาใช้ในโครงการส่งเสริมการใช้ยางพาราในหน่วยงานภาครัฐ จำนวน 51 รายการ เช่น การปรับปรุงถนนราดยางบนคันคลองส่งน้ำของโครงการชลประทาน และการปรับปรุงถนนราดยางทำนบดินอ่างเก็บน้ำ เป็นต้น

ทั้งนี้โครงการส่งเสริมการใช้ยางในหน่วยงานภาครัฐของกรมชลประทานนั้น ในปีงบประมาณ 2561 มีจำนวน 317 รายการ เป็นการสร้างถนนระยะทาง 999.656 กิโลเมตร มีการใช้ยางพารา 3,509.50 ตัน และพระราชบัญญัติงบประมาณประจำปี พ.ศ. 2562 มีแผนการนำยางพารามาใช้ในการดำเนินงาน จำนวน 569 รายการ ระยะทาง 2,094.494 กม. โดยใช้ยางพารา จำนวน 30,521.42 ตัน

ในส่วนของการดำเนินงานของสำนักงานชลประทานที่ 7 ในปีงบประมาณ 2561  สามารถนำยางพารามาใช้ในโครงการฯ ได้ จำนวน 702 ตัน ระยะทาง 148,979 เมตร แบ่งเป็น นครพนม จำนวน 13 รายการ ปริมาณยาง 288.92 ตัน อุบลราชธานี จำนวน 25 รายการ ปริมาณยาง 321.05 ตัน ยโสธร จำนวน 11 รายการ ปริมาณยาง 28.03 ตัน อำนาจเจริญ จำนวน 1 รายการ ปริมาณยาง 50 ตัน และสกลนคร จำนวน 1 รายการ ปริมาณยาง 14 ตัน และในปีงบประมาณ 2562 มีแผนการนำยางพารามาใช้ในการดำเนินงานอีก 2,769.90 ตัน

อย่างไรก็ตาม กระทรวงเกษตรฯ โดยกรมชลประทาน ได้มีการนำยางพารามาใช้ได้อย่างเหมาะสมกับการใช้ยางในประเทศ รวมถึงการดำเนินงานต่าง ๆ ตรงตามมาตรฐานและระเบียบของกรมทางหลวง ซึ่งคาดว่าจะมีการขยายผลการใช้งานถนนพาราซอยซีเมนต์ และส่งเสริมการใช้ยางพาราภายในประเทศต่อไปในอนาคต นอกจากนี้ จากการพูดคุยกับชาวบ้านในพื้นที่ พบว่าชาวบ้านรู้สึกพอใจที่ภาครัฐได้มีการนำยางพารามาใช้เป็นส่วนผสมในการทำถนน และเห็นว่าพื้นถนนมีความแข็งแรง คงทน อีกทั้งยังช่วยลดปริมาณฝุ่นละอองในอากาศเมื่อเทียบกับถนนลูกรังธรรมดา จึงอยากให้ภาครัฐเข้ามาช่วยสนับสนุนให้มีการนำยางพารามาใช้ทำถนนของหมู่บ้าน ซึ่งนอกจากจะช่วยในเรื่องคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นแล้ว ยังเป็นเป็นการช่วยสนับสนุนการใช้ยางพาราในประเทศอีกด้วย

ที่มาภาพ:สำนักกรมชลประทาน