กรมฝนหลวงฯจัดประชุม ASEAN Workshop on Weather Modification 2018 เพื่อแลกเปลี่ยนเทคโนโลยีด้านการแปรสภาพอากาศ ระดับภูมิภาคอาเซียน พร้อมเชิญผู้เชี่ยวชาญด้านการดัดแปรสภาพอากาศ อุตุนิยมวิทยาจากต่างประเทศ ศึกษาดูงานด้านการปฏิบัติการฝนหลวง ณ ศูนย์ปฏิบัติการฝนหลวงภาคเหนือ ตั้งเป้าไทยเป็นศูนย์กลางของอาเซียนภายในปี 69 และเป็นองค์กรชั้นนำระดับโลกด้านการดัดแปรสภาพอากาศตามศาสตร์ของพระราชา ภายในปี 79
[adrotate banner=”3″]
นายกฤษฎา บุญราช รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยภายหลังเป็นประธานพิธีเปิดการประชุม “ASEAN Workshop on Weather Modification 2018” ระหว่างวันที่ 6 – 9 สิงหาคม 2561
ณ โรงแรมมิราเคิล แกรนด์ คอนเวนชั่น กรุงเทพฯ ว่า ในปีนี้ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์โดยกรมฝนหลวงและการบินเกษตร เป็นเจ้าภาพจัดการประชุม และการศึกษาดูงานด้านการปฏิบัติการฝนหลวง ณ ศูนย์ปฏิบัติการฝนหลวงภาคเหนือ และศูนย์ศึกษาการพัฒนาห้วยฮ่องไคร้อันเนื่องมาจากพระราชดำริ จังหวัดเชียงใหม่ โดยได้เชิญผู้เชี่ยวชาญด้านการดัดแปรสภาพอากาศ อุตุนิยมวิทยาจากต่างประเทศ ประกอบด้วย สาธารณรัฐประชาชนจีน เกาหลีใต้ สิงคโปร์ บรูไน อินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์ เวียดนาม เมียนมา และองค์การอุตุนิยมวิทยาโลก (World Meteoralogical Organization : WMO) รวมถึงผู้แทนจากหน่วยงานของไทยที่มีความร่วมมือเกี่ยวกับการดัดแปรสภาพอากาศ
วัตถุประสงค์เพื่อแลกเปลี่ยนประสบการณ์และเทคโนโลยีด้านการดัดแปรสภาพอากาศระดับภูมิภาคอาเซียน อันจะเป็นการเพิ่มขีดความสามารถด้านการเตือนภัยพิบัติทางธรรมชาติ เพื่อบรรเทาความสูญเสียที่อาจเกิดขึ้น และนำไปสู่การแลกเปลี่ยนข้อมูลของประเทศสมาชิก รวมถึงความร่วมมือด้านงานวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีในหัวข้อที่เกี่ยวข้องกับด้านอุตุนิยมวิทยา ธรณีฟิสิกส์ การผันแปรของสภาพอากาศ มลพิษทางอากาศ และการบรรเทาภัยพิบัติทางธรรมชาติ ในระดับภูมิภาคอาเซียนและเอเชีย ซึ่งจะก่อให้เกิดการพัฒนาองค์ความรู้ในการดัดแปรสภาพอากาศ การเพิ่มปริมาณน้ำฝนในพื้นที่แห้งแล้ง การสร้างความชุ่มชื้นในพื้นที่ที่มีมลภาวะจากสถานการณ์ไฟไหม้ป่า หรือการเผาไหม้ที่เกิดจากกิจกรรมของมนุษย์ ซึ่งจะช่วยแก้ไขปัญหาภัยแล้งและหมอกควันได้อย่างมีประสิทธิภาพและเป็นรูปธรรมมากยิ่งขึ้น
ด้านนายสุรสีห์ กิตติมณฑล อธิบดีกรมฝนหลวงและการบินเกษตร กล่าวเพิ่มเติมว่า การจัดประชุมดังกล่าว เป็นหนึ่งในแผนปฏิบัติการภายใต้กรอบ SCMG ระยะ 10 ปี (ระหว่าง พ.ศ. 2559 – 2568) ซึ่งจะมีการนำเสนอผลงานการวิจัยด้านการดัดแปรสภาพอากาศ โดยนักวิจัยของกรมฝนหลวงฯ ผู้แทนจากหน่วยงานของไทยที่มีความร่วมมือเกี่ยวกับการดัดแปรสภาพอากาศ ผู้แทนประเทศในภูมิภาคอาเซียน และองค์การอุตุนิยมวิทยาโลก (WMO)
โดยผู้เข้าร่วมประชุมจะได้แลกเปลี่ยนประสบการณ์ด้านการทำฝน การเสริมสร้างความร่วมมือด้านการดัดแปรสภาพอากาศ การวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีการดัดแปรสภาพอากาศในภูมิภาคอาเซียนและเอเชียให้เกิดประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น และเป็นโอกาสอันดีที่กระทรวงเกษตรฯ จะได้เผยแพร่พระเกียรติคุณของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร ในพระราชกรณียกิจที่เกี่ยวกับแนวพระราชดำริฝนหลวง
พร้อมกับการได้สานต่องานตามศาสตร์พระราชาในต่างแดนอย่างต่อเนื่อง ด้วยการนำเสนอศักยภาพการปฏิบัติงานด้านการดัดแปรสภาพอากาศตามยุทธศาสตร์ 20 ปี ในการพัฒนาความเป็นศูนย์กลางการถ่ายทอดเทคโนโลยีด้านการดัดแปรสภาพอากาศในอาเซียน ภายในปี พ.ศ. 2569 และการเป็นองค์กรชั้นนำระดับโลกด้านการดัดแปรสภาพอากาศตามศาสตร์ของพระราชา ภายในปี พ.ศ. 2579
ทั้งนี้เพื่อบรรเทาปัญหาการขาดแคลนน้ำของราษฎร ซึ่งจะเป็นการน้อมนำและขับเคลื่อนพระบรมราโชบายของที่ทรงคิดค้นเทคนิคกรรมวิธีในการประยุกต์เทคโนโลยีฝนหลวงให้เหมาะสมกับสภาพภูมิประเทศ ภูมิอากาศ และฤดูกาลของแต่ละท้องถิ่นสู่การปฏิบัติให้เกิดผลสัมฤทธิ์ ซึ่งจะช่วยเพิ่มปริมาณฝนลงสู่พื้นที่เป้าหมายได้อย่างแม่นยำยิ่งขึ้น และเป็นองค์ประกอบสำคัญในการเติมเต็มวงจรการบริหารจัดการน้ำของประเทศให้เกิดการบูรณาการอย่างสมบูรณ์และก่อเกิดประโยชน์สุขแก่ประชาชนให้มากที่สุด